ผลผลิตหด-เมย.ขยับแพงแน่ส.ผู้เลี้ยงไก่นัดถกใหญ่ทั่วปท.จี้‘ก.พาณิชย์’-ตรึงอาหารสัตว์วันนี้‘เบนซิน-โซฮอล์’ลดลง

เดือนเม.ย.ไข่ไก่ขยับราคาแน่ อากาศร้อนผลผลิตหดเป็นล้านฟองต่อวัน สมาคมผู้เลี้ยง นัด 30 มี.ค.ประชุมใหญ่ทั่วประเทศ ยื่นคำขาด กรมการค้าภายในคุมราคาอาหารสัตว์ ให้อยู่ หากไร้ผลไม่อาจตรึงราคาหน้าฟาร์มที่ 3.40 บาทต่อฟองตามที่ขอมาได้ น้ำมันพืชแตะราคา 70 บาทต่อขวดแล้ว จากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ธัญพืชวัตถุดิบหลักในการผลิตน้ำมันพืช และอาหารสัตว์ คนใช้รถได้เฮ ‘เบนซิน-แก๊ส โซฮอล์’ ลด 50 สตางค์ ส่วนดีเซลรอ ไปก่อน

เมื่อวันที่ 28 มี.ค. นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย มีความห่วงใยต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงาน สั่งการทุกหน่วยงานประเมินและออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ดังกล่าว ในส่วนของกระทรวงแรงงาน กำหนดมาตรการลดเงินสมทบทั้งในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันทุกมาตรา ม.33, ม.39 และ ม.40 เป็นระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนพ.ค.-ก.ค.นี้

ได้แก่ 1.ผู้ประกันตน ม.33 จำนวน 11.2 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 5 ของค่าจ้าง เหลือร้อยละ 1 ของค่าจ้าง ยกตัวอย่างหากคิดบนฐานค่าจ้าง 15,000 บาท จากเดิมต้องส่งเงินสบทบ 750 บาท เหลือ 150 บาท ทำให้สามารถลดภาระค่าครองชีพประมาณ 600 บาทต่อคนต่อเดือน

2.ผู้ประกันตน ม.39 จำนวน 1.9 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 9 เหลือร้อยละ 1.9 คือจากเดิมที่ต้องส่งเงินสมทบ 432 บาท เหลือ 91 บาท ลดภาระค่าครองชีพประมาณ 341 บาทต่อคนต่อเดือน 3.ผู้ประกันตน ม.40 จำนวน 10.7 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบในแต่ละทางเลือกลงร้อยละ 40 มี 3 ทางเลือก คือ 1) ลดการส่งเงินสมทบจากเดิม 70 บาท เหลือ 42 บาท, 2) ลดการส่งเงินสมทบ จากเดิม 100 บาท เหลือ 60 บาท, 3) ลดการ ส่งเงินสมทบจากเดิม 300 บาท เหลือ 180 บาท หรือลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 84-360 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน

นายธนกรกล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือแรงงานนี้ยังช่วยนายจ้างจำนวน 5 แสนราย จะได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 5 เหลือ ร้อยละ 1 เป็นการลดต้นทุนการผลิต ยกตัวอย่างเช่นหากนายจ้างจ่ายค่าจ้างบนฐานเงินเดือน 15,000 บาทต่อลูกจ้าง 1 คน หากนายจ้างมีลูกจ้าง 1,000 คน จะสามารถลดต้นทุนการผลิตของนายจ้างต่อเดือนลง 600,000 บาท รวมระยะเวลา 3 เดือน เป็นเงินทั้งสิ้น 1,800,000 บาท ในส่วนของมาตรการลดเงินสมทบผู้ประกันตนดังกล่าว จะเกิดประโยชน์แก่ประชาชนประมาณ 24.2 ล้านคน เป็นเม็ดเงินมูลค่าประมาณ 34,540 ล้านบาท

วันเดียวกัน นายมาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ เปิดเผยว่าในวันที่ 30 มี.ค. สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ และสมาคมผู้ผลิตผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ ประชุมสมาชิกทั่วประเทศ เพื่อทำความเข้าใจถึงมาตรการแก้ไขปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุน เบื้องต้นขอความร่วมมือให้สมาชิกตรึงราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มให้อยู่ที่ฟองละ 3.40 บาทตามที่กรมการค้าภายในขอความร่วมมือเมื่อวันที่ 25 มี.ค. ที่ผ่านมา

แต่การตรึงราคาจะอยู่บนพื้นฐานเงื่อนไขที่สมาคมยื่นเสนอไปยังกรมการค้าภายในแล้ว คือกรมต้องควบคุมดูแลไม่ให้อาหารสัตว์มีราคาแพง รวมทั้งให้แยกต้นทุนการเลี้ยงระหว่างรายใหญ่ รายกลาง และรายย่อย ให้ชัดเจน เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลใช้วิธีคิดต้นทุนค่าเฉลี่ยรวมไม่เป็นธรรมกับรายเล็กที่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า หากกรมคุมไม่ให้อาหารสัตว์แพงขึ้น สมาคมยินดีตรึงราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มที่ 3.40 บาทต่อฟอง

“คนเลี้ยงไม่อยากขึ้นราคาไข่ แต่โดนกดดันจากหลายฝ่าย ทั้งสมาชิกและการแจ้งขอขึ้นราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์จากผู้ผลิตอย่างต่อเนื่อง และพ่อค้าไข่เข้ามาแย่งซื้อไข่ทำให้ราคายิ่งแพง นอกจากนี้ แนวโน้มผลผลิตไข่ไก่จะปรับลดลง 5-10% โดยเฉพาะช่วงเดือนเม.ย. ที่อากาศร้อนไข่จะหายไปจากระบบราว 1 ล้านฟองต่อวัน จากผลผลิตรวม 40 ล้านฟองต่อวัน อาจกดดันราคาไข่ไก่ให้เพิ่มสูงขึ้นอีก แต่ยืนยันว่าจะไม่มีปัญหาขาดแคลนแน่นอน” นายมาโนชกล่าว

รายงานข่าวจากกรมการค้าภายใน เผยถึงภาวะราคาจำหน่ายปลีกไข่ไก่ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า เมื่อเปรียบเทียบราคาล่าสุด วันที่ 25 มี.ค. กับช่วงต้นเดือน 1 มี.ค. พบว่าไข่ไก่ทุกขนาดมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นรวม 30 สตางค์ต่อฟอง โดย ไข่เบอร์ 0 ปรับจากราคา 4.3-4.5 บาท เป็น 4.6-4.8 บาท, เบอร์ 1 จาก 4-4.2 บาท เป็น 4.3-4.5 บาท, เบอร์ 2 จาก 3.7-3.9 บาท/ เป็น 4-4.2 บาท,เบอร์ 3 จาก 3.4-3.6 บาท เป็น 3.7-3.9 บาท, เบอร์ 4 จาก 3.23.3 บาท เป็น 3.5-3.6บาท และ เบอร์ 5 จาก 3-3.1 บาท เป็น 3.3-3.4 บาท

ส่วนราคาขายปลีกน้ำมันพืชทุกชนิดยังคงปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมี.ค. ราคาล่าสุด วันที่ 25 มี.ค. น้ำมันปาล์มขวด บรรจุ 1 ลิตร ราคาปรับเพิ่มขึ้น 2-5 บาทต่อขวด จาก 58-63 บาท เป็น 60-68 บาท, น้ำมันถั่วเหลือง บรรจุขวด 1 ลิตร ราคาปรับเพิ่มขึ้น 5-10 บาทต่อขวด จาก 55-58 บาท เป็น 60-68 บาท และน้ำมันรำข้าว บรรจุขวด 1 ลิตร ราคาปรับเพิ่มขึ้น 5-10 บาทต่อขวด จาก 63-66 บาท เป็น 68-70 บาท

สาเหตุของการปรับขึ้นราคาของไข่ไก่และน้ำมันพืช เป็นผลมาจากต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าธัญพืชผลิตน้ำมันเพื่อการบริโภค และใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ในการเลี้ยงไก่ ปรับราคาสูงขึ้นจากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่

วันเดียวกัน ปตท.และบางจาก ประกาศปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ทุกชนิดลง 50 สตางค์ต่อลิตร ส่งผลให้ราคาขายปลีกเบนซินจะอยู่ที่ 47.46 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 40.05 บาทต่อลิตร E20 อยู่ที่ 38.94 บาทต่อลิตร แก๊ส โซฮอล์ 91 อยู่ที่ 39.78 บาทต่อลิตร E85 อยู่ที่ 32.24 บาทต่อลิตร มีผล 29 มี.ค. เวลา 05.00 น. เป็นต้นไป

ขณะที่กลุ่มดีเซลคงเดิม โดยดีเซล B7 อยู่ที่ 29.94 บาทต่อลิตร ดีเซล B10 อยู่ที่ 29.94 บาทต่อลิตร ดีเซล B20 อยู่ที่ 29.94 บาทต่อลิตร และดีเซลพรีเมียม B7 อยู่ที่ 35.96 บาทต่อลิตร โดยราคาขายปลีกข้างต้นยังไม่รวมภาษีบำรุงท้องถิ่น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน