โอดต้นทุนวัตถุดิบพรวดพณ.ถกด่วนคุม18สินค้าเบรก‘ซอส-ผงซักฟอก’ขยับ

สินค้าพาเหรดแพง เนื้อหมูขึ้นอีกก.ก.ละ 10 บาท ไก่ขยับ 3 บาทต่อก.ก. สมาคมผู้เลี้ยงสุกร โอดต้นทุน พุ่งจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทั้งเทศกาลสงกรานต์มีการบริโภคเพิ่มขึ้น ส่งผลทุกภาคหมูแตะก.ก.ละ 200 บาทแล้ว กรมการค้าภายในเรียกถก 4 ฝ่ายแก้วัตถุดิบอาหารสัตว์พุ่ง กระทรวงพลังงานปรับขึ้นราคาแก๊สหุงต้มแบบขั้นบันได 3 เดือน เดือนละ 1 บาทต่อก.ก. ส่งผลเดือนนี้แอลพีจีถัง 15 ก.ก.จาก 333 บาท เป็น 348 บาท พาณิชย์อนุมัติไก่สดขึ้นก.ก. 3 บาท กาแฟขวดขยับ 10% แต่ไม่อนุมัติให้ซอสปรุงรสกับผงซักฟอกขึ้นราคา สัปดาห์หน้าเรียกผู้ประกอบการถก

เมื่อวันที่ 1 เม.ย. รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน แจ้งว่า ตลอดเดือนเม.ย.-มิ.ย.นี้ กระทรวงพลังงานได้ปรับขึ้นราคาแก๊สหุงต้ม (แอลพีจี) ขึ้นเดือนละ 1 บาทต่อกิโลกรัม (ก.ก.) ส่งผลให้เดือนเม.ย.ขยับจากราคา 318 บาทต่อถัง 15 ก.ก. อยู่ที่ราคา 333 บาท เดือนพ.ค. อยู่ที่ 348 บาท และเดือนมิ.ย. อยู่ที่ 363 บาท อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นตามขั้นบันไดดังกล่าวยังไม่สะท้อนต้นทุนแท้จริง ซึ่งสูงกว่า 450 บาทต่อถัง 15 ก.ก. ดังนั้นกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะยังคงรับภาระดูแลส่วนต่างต่อไป จากปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ บัญชี แอลพีจี ติดลบแล้ว 29,368 ล้านบาท

รายงานข่าวระบุว่า ส่วนผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กระทรวงพลังงาน ยังคงดูแล โดยประสานของบกลางเพิ่มวงเงินช่วยเหลือในบัตรอีก 55 บาทต่อ 3 เดือน เป็น 100 บาทต่อ 3 เดือน จาก 45 บาทต่อ 3 เดือน โดยช่วยเหลือ 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.) ใช้งบกลางรวม 200 ล้านบาท ขณะที่ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประมาณ 5,500 คน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยังเข้าช่วยเหลือมอบส่วนลดซื้อแก๊สหุงต้ม เดือนละ 100 บาท เป็นเวลา 3 เดือนดังกล่าว โดยใช้วงเงินช่วยเหลือ 1.65 ล้านบาท

รายงานข่าวจากกรมการค้าภายใน (คน.) แจ้งถึงสถิติราคาจำหน่ายปลีก ไก่เนื้อ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ล่าสุดวันที่ 31 มี.ค.2565 เมื่อเทียบกับช่วง เดือนม.ค. พบว่า ราคาไก่สดทั้งตัว รวมเครื่องใน ปรับราคาเพิ่มขึ้น 5 บาทต่อก.ก. เป็น 65-70 บาทต่อก.ก., ไก่สดชำแหละเนื้ออกล้วน และสันใน ปรับเพิ่มขึ้น 10 บาทต่อก.ก. เป็น 85-90 บาทต่อก.ก. และไก่สดชำแหละน่องสะโพก ปรับเพิ่มขึ้น 5-10 บาทต่อก.ก. เป็น 70-80 บาทต่อก.ก.

นายสมบูรณ์ วัชรพงษ์พันธ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา คน.ได้อนุมัติให้ปรับขึ้นราคาไก่เนื้อเป็นหน้าฟาร์มแล้ว 3 บาทต่อก.ก. หลังจากทางสมาคมทำเรื่องขอปรับขึ้นไป คือปรับจาก 40 บาทต่อก.ก. เป็น 43 บาทต่อก.ก. เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะต้นทุน ซึ่งจะทำให้ราคาจำหน่ายปลีกไก่สดทั้งตัวปรับราคาขึ้นเป็น 70 บาทต่อก.ก. หลังปรับราคาครั้งนี้น่าจะอีกนานกว่าจะขึ้นราคาอีกรอบ

นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่งค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ผู้ผลิตกาแฟแบรนด์นำตลาดได้แจ้งขอปรับขึ้นราคาจำหน่ายปลีกกาแฟผง บรรจุขวด คาดว่าจะปรับขึ้นไม่เกิน 10% มีผลวันที่ 1 เม.ย.ส่วนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปคาดว่าผู้ผลิตจะขอปรับขึ้นราคาจำหน่ายปลีกแน่นอนเร็วๆ นี้ จากที่ก่อนหน้านี้ปรับขึ้นราคาขายส่งไปแล้ว 25 สตางค์ต่อซอง เนื่องจากต้นทุนข้าวสาลีซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำเส้นบะหมี่ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมทั้งผู้ผลิตไม่ได้มีการปรับขึ้นราคามาเป็นระยะเวลานานมากแล้ว

รายงานข่าวจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ แจ้งสภาวะตลาดสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม วันที่ 1 เม.ย.ว่า สมาคมได้ปรับขึ้นราคาลูกสุกรขุนหน้าฟาร์มทุกภาค โดยภาคตะวันตกปรับขึ้น 4 บาทต่อก.ก. เป็น 92 บาทต่อก.ก. ทำให้ราคาขายส่งห้างสรรพสินค้า ปรับเพิ่มขึ้น 7 บาทต่อก.ก. เป็น 147 บาทต่อก.ก. ส่วนราคาขายปลีกทั่วไป ปรับเพิ่มขึ้น 8 บาทต่อก.ก. เป็น 182-184 บาทต่อก.ก.

ภาคตะวันออก ปรับขึ้น 4 บาทต่อก.ก. เป็น 94 บาท ขายส่งห้างสรรพสินค้า ปรับเพิ่มขึ้น 6 บาทต่อก.ก. เป็น 150 บาท ส่วนราคาขายปลีกทั่วไป ปรับเพิ่มขึ้น 8 บาทต่อก.ก. เช่นกัน เป็น 186-188 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับขึ้น 2 บาทต่อก.ก. เป็น 92 บาท ราคาขายส่งห้างสรรพสินค้า ปรับเพิ่มขึ้น 3 บาท เป็น 147 บาท/ก.ก. ส่วนราคาขายปลีกทั่วไป ปรับเพิ่มขึ้น 4 บาท/ก.ก. เป็น 182-184 บาท ภาคเหนือ ปรับขึ้น 5 บาท ต่อก.ก. ปรับเป็น 96 บาท ราคาขายส่ง ห้างสรรพสินค้า ปรับเพิ่มขึ้น 8 บาท ต่อก.ก. เป็น153 บาท ส่วนราคาขายปลีกทั่วไป ปรับเพิ่มขึ้น 10 บาทต่อก.ก. เป็น 190-192 บาท

และภาคใต้ ปรับขึ้น 2 บาทต่อก.ก. เป็น 92 บาท ราคาขายส่งห้างสรรพสินค้า ปรับเพิ่มขึ้น 3 บาทต่อก.ก. เป็น 147 บาท และราคาขายปลีกทั่วไป ปรับเพิ่มขึ้น 4 บาท/ก.ก. เป็น 182-184 บาท

รายงานข่าวจากสมาคมแจ้งว่า ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องทยอยขยับราคาสุกรขุนหน้าฟาร์มตามต้นทุนการเลี้ยงที่ยังสูงกว่าราคาจำหน่าย โดยช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปีใหม่ไทยที่เป็นเทศกาลท่องเที่ยวจะสร้างปัจจัยบวกให้ความต้องการบริโภคมากขึ้น ขณะที่ด้านต้นทุนอาหารสัตว์ที่รอการตัดสินใจของภาครัฐ ที่แทบไม่มีทางเลือก เหลือเพียงการลดข้อจำกัดในการนำเข้าข้าวโพดตามกรอบขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่ควรนำเข้าจากประเทศผู้ผลิตใหญ่อย่าง สหรัฐอเมริกา บราซิล หรืออาร์เจนตินา ได้อย่างเสรี หรือกำหนดปริมาณก็ตามจะทำให้มีทางเลือกเพิ่ม ในการจัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ

วันเดียวกัน ภายหลังการหารือเพื่อแก้ไขปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ราคาแพงร่วมกัน 4 ฝ่ายคือ ภาครัฐ อาทิ กรมการค้าภายใน ภาคเกษตรกร ภาคปศุสัตว์ และผู้ประกอบการวัตถุดิบอาหารสัตว์ นายรังษี ไผ่สอาด นายกสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติให้ยกเว้นมาตรการ 3 : 1 ชั่วคราว เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ 1 เม.ย.-30 ก.ค. โดยจะเปิดให้มีการนำเข้าข้าวสาลี บาร์เลย์ และข้าวโพด จากต่างประเทศได้ในปริมาณรวมไม่เกิน 1.5 ล้านตัน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ โดยขณะนี้ภาคปศุสัตว์มีสต๊อกอาหารสัตว์เหลือ 1.4 ล้านตัน พอใช้ในช่วง 2 เดือนต่อจากนี้ โดยกรมการค้าภายในมีเงื่อนไขว่าหลังจากเปิดให้มีการนำเข้าแล้วต้องไม่ส่งผลกระทบทำให้ราคาข้าวโพดภายในตกต่ำ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ เนื้อไก่ เนื้อหมู และไข่ไก่ห้ามปรับขึ้นราคา ทั้งนี้ เพื่อดูแล ผู้บริโภค ซึ่งหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฝ่าฝืนปรับขึ้นราคา ทางกรมการค้าภายในจะยกเลิกการนำเข้าทันที นอกจากนี้ยังตั้งคณะทำงานร่วม 4 ฝ่าย ขึ้นมาทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบการนำเข้าเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรภายในประเทศด้วย โดยจะมีการประชุมติดตามปัญหาทุก 2 สัปดาห์

ด้านร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีคน. เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าวว่าสินค้าอุปโภคบริโภคบางชนิด เช่น ซอสปรุงรส และ ผงซักฟอก (ผลิตภัณฑ์ซักล้าง) ปรับขึ้นราคา คน.ได้ติดตามสถานการณ์ราคาและต้นทุนของสินค้าอุปโภคบริโภคมาโดยตลอด โดยเฉพาะสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ 18 หมวด ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หมวดอาหารสด (ไข่ไก่ เนื้อสัตว์) อาหารกระป๋อง ข้าวสารถุง ซอสปรุงรส น้ำมันพืช น้ำอัดลม นมและผลิตภัณฑ์จากนม เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ซักล้าง ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง อาหารสัตว์ เหล็ก ปูนซีเมนต์ กระดาษ ยาเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ และบริการผ่านห้างค้าปลีก-ส่ง โดยยังไม่ได้อนุญาตให้ปรับขึ้นราคา

“ต้นสัปดาห์หน้า กรมการค้าภายในจะเรียกผู้ผลิตสินค้ากลุ่มซอสปรุงรสและผงซักฟอก เพื่อกำชับในเรื่องราคา รวมทั้งจะประชุมร่วมกับห้างค้าส่งค้าปลีก เพื่อติดตามสถานการณ์ราคาและปริมาณสินค้า และให้มีการเตรียมสต๊อกสินค้าให้เพียงพอต่อการจำหน่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ด้วย” ร้อยตรีจักรากล่าว

สำหรับการปรับขึ้นราคาแก๊สหุงต้ม (แอลพีจี) ขนาด 15 ก.ก. ในเดือนเม.ย. โดยจะปรับขึ้นเป็น 333 บาท เชื่อว่าจะมีผลต่อต้นทุนในการประกอบอาหารเพียงเล็กน้อย เนื่องจากแก๊สหุงต้ม 1 ถัง ใช้ทำอาหารได้ 200-300 จาน ดังนั้น การปรับขึ้นราคาแก๊สหุงต้มจึงไม่ควรเป็นเหตุผลให้ผู้ประกอบการร้านอาหารปรับขึ้นราคา

อย่างไรก็ตาม กรมจะติดตามสถานการณ์ราคาอาหารอย่างใกล้ชิด และเน้นย้ำให้ ผู้ประกอบการปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน และห้ามฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาโดยเด็ดขาด หากตรวจพบจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีไม่ติดป้ายแสดงราคาจะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท กรณีที่มีการฉวยโอกาสจำหน่ายสินค้าเกินแพงเกินสมควร กักตุนสินค้าหรือปฏิเสธการจำหน่าย มีโทษ จำคุก 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากประชาชนพบเห็นการจำหน่ายสินค้าหรือบริการที่ไม่เป็นธรรม แจ้งได้ที่สายด่วน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์ จังหวัดทุกจังหวัด

ขณะที่นายอาวุธ วงศ์สวัสดิ์ รองอธิบดีคน. กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินโครงการ “Mobile พาณิชย์…ลดราคา! ช่วยประชาชน ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-30 เม.ย. โดยมีสินค้ากว่า 47 รายการ เช่น ซอสปรุงรส ครีมอาบน้ำ สบู่ แชมพู น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม ยาสีฟัน และหน้ากากอนามัย โดยลดราคาสูงสุด 60% ซึ่งมีสินค้าไฮไลต์ 3 รายการ ได้แก่ ไข่ไก่ เบอร์ M ราคาแผงละ 105 บาท น้ำตาล ราคากิโลกรัมละ 20 บาท และข้าวหอมมะลิ (ถุงละ 5 ก.ก.) ราคาถุงละ 120 บาท

โครงการดังกล่าวจะดำเนินการผ่านช่องทางรถโมบาย 25 คัน และจุดจำหน่าย 50 จุด ในแหล่งชุมชน การเคหะฯ และสำนักงานเขตทั่วกรุงเทพมหานคร โดยประชาชน ที่สนใจซื้อสินค้า ติดตามสถานที่จำหน่ายสินค้าแบบ เรียลไทม์ได้ที่ LINE @mobilepanich รวมถึงเว็บไซต์ https://mobilepanich.com/

ด้านพีทีที สเตชั่น และบางจาก ปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ทุกชนิดลง 50 สตางค์ต่อลิตร ส่งผลให้เบนซินอยู่ที่ 46.36 บาท แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 38.95 บาท อี20 อยู่ที่ 37.84 บาท แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 38.68 บาท อี85 อยู่ที่ 31.14 บาท มีผลวันที่ 2 เม.ย. เวลา 05.00 น. ส่วนกลุ่มดีเซลทุกชนิดยังราคาต่อลิตรคงเดิม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน