แป้งมันขยับถุงละบาทไข่ไก่พุ่ง-แห่กินไข่เป็ดเลิกอุ้มดีเซลรถหรูด้วยพณ.จัดคาราวานขายถูก

ปุ๋ย-ปลากระป๋อง-บะหมี่ซอง แห่ขอขึ้นราคา ขณะที่ แป้งมันขยับแล้วถุงละ 1 บาท ปธ.หอการค้าชี้หลังรัฐเลิกอุ้มน้ำมันดีเซลพ.ค.นี้ สินค้า ดาหน้าปรับขึ้นราคาแน่ แนะรัฐคลอดเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรับมือทั้งระยะสั้นและยาว กรมการขนส่งฯ ยันไม่ปรับขึ้นค่าโดยสารสาธารณะ ขู่ฟันหากขึ้นค่าตั๋วเอง กรมการค้าภายใน เตรียมส่งรถโมบายตระเวน-ตั้งจุดขายของถูกทั่วไทย ลดค่าครองชีพช่วยประชาชน 1 พ.ค.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดีเดย์แยกอุดหนุนดีเซลพรีเมียมออกจากกลุ่มน้ำมันดีเซลพื้นฐานที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ขนส่ง และการเกษตร ประธานสภาอุตฯ คนใหม่ เล็งถกเงินเฟ้อ หวั่นทะยาน 8.7% ห่วงหนี้ครัวเรือน แนะรัฐต่อเวลาลดภาษีดีเซล 3 บาทต่อลิตร อีก 3 เดือน หลังสิ้นสุด 20 พ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 22 เม.ย. นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย เปิดเผยว่า สัปดาห์ก่อน ผู้ผลิตและจำหน่ายแป้งมันสำปะหลัง สำหรับทำอาหาร ได้แจ้งขอปรับขึ้นราคา 20-30 บาท/มัด ส่งผลให้แป้งมันสำปะหลัง ขนาดบรรจุถุงละ 0.5 ก.ก. ราคาปรับเพิ่มขึ้น 50 สตางค์/ถุง ส่วนแป้งมันสำปะหลัง ขนาดบรรจุถุงละ 1 ก.ก. ราคาปรับเพิ่มขึ้น 1 บาท โดยมีผลทันที ทั้งนี้บริษัทผู้ผลิตไม่ได้ระบุเหตุผล ในการขอปรับขึ้นราคา ซึ่งก็ไม่ทราบว่าจะเกี่ยวข้องกับกรณีวัตถุดิบอาหารสัตว์แพง หรือไม่ ส่วนสินค้าอื่นๆ ยังไม่มีการแจ้งปรับขึ้นราคา

ด้านร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ปุ๋ยเคมี บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และอาหารกระป๋อง (ปลากระป๋อง) ได้ยื่นขอปรับขึ้นราคามา แต่ คน. ยังไม่ได้อนุมัติให้สินค้ารายการใดปรับขึ้นราคา โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาต้นทุนซึ่งในส่วนของปุ๋ยเคมีในที่สุดต้องอนุมัติให้มีการปรับราคา เพื่อให้ผู้ประกอบการมีการเร่งนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศให้เพียงพอกับความต้องการของภาคเกษตร แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าจะให้ปรับขึ้นราคาช่วงเดือนไหน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้ประสานไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ช่วยอำนวยความสะดวกและรวดเร็วในการขอขึ้นทะเบียนปุ๋ยนำเข้าจากต่างประเทศให้กับผู้ประกอบการด้วย

นายอาวุธ วงศ์สวัสดิ์ รองอธิบดีคน. เปิดเผยมาตรการลดค่าครองชีพเพื่อช่วยประชาชนว่า คน.มีแผนขยาย โครงการรถโมบายพาณิชย์ ลดราคาช่วยประชาชน และเปิดจุดจำหน่ายสินค้าราคาถูก ไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดให้ครอบคลุมมากขึ้น จากปัจจุบันที่เน้นในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยใช้เงินงบกลาง 1,400 ล้านบาท ที่ได้รับจัดสรรจากรัฐบาลเมื่อช่วงเดือนม.ค.2565 ที่ผ่านมาดำเนินการ เบื้องต้นมอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศไปสำรวจความจำเป็นในการจัดโครงการ หากจำเป็นให้ทำเรื่องเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณเข้ามา ล่าสุดพาณิชย์จังหวัดสงขลา และนราธิวาส ได้เสนอขอรับจัดสรรงบเข้ามาเพิ่มเติม คาดว่าจะเริ่มโครงการในเร็วๆ นี้ สำหรับสินค้า ที่นำมาจำหน่ายเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นต่อการครองชีพในราคาต่ำกว่าท้องตลาด สูงสุดถึง 60% มี สินค้าไฮไลต์ เช่น น้ำตาลทราย, ไข่ไก่, น้ำมันพืช และข้าวสาร

นายกองเอก เปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทยเปิดเผยว่า ขอให้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เร่งตัดสินใจอนุมัติให้ปุ๋ยเคมีปรับขึ้นราคาโดยเร็วที่สุด เพราะจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย หากกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ไม่อนุมัติให้ขึ้นราคาตามต้นทุน สมาคมคงยังไม่นำเข้าปุ๋ย เพราะมีความเสี่ยง หากนำเข้าปุ๋ยราคาแพงมาแล้ว พณ.ไม่ให้ปรับราคาจะยิ่งซ้ำเติมธุรกิจปุ๋ยให้ขาดทุนมากขึ้น แต่หากให้ปรับราคา สมาคมจะเร่งรัดนำเข้า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลน โดยหันไปนำเข้าจากตลาด ซาอุดีอาระเบีย การ์ตาร์ และประเทศแถบยุโรป เช่น อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส หรือแคนาคา แทนการนำเข้าจากรัสเซียและยูเครน ซึ่งยอมรับว่าจะมีราคานำเข้าที่แพงขึ้นกว่าเดิม

ส่วนบรรยากาศการซื้อขายสินค้าในพื้นที่ต่างๆ ภายหลังจากที่สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ รายใหญ่ 3 แห่งคือ สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว จำกัด สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่สุพรรณบุรี จำกัด และสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี จำกัด รวมถึงชมรมผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่ ลำพูน ปรับขึ้นราคาไข่ไก่อีกฟองละ 10 สตางค์ ส่งผลให้ ราคาจำหน่ายปลีก ไข่เบอร์ 0 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ ฟองละ 4.30 บาท, เบอร์ 1 ฟองละ 4.10 บาท, เบอร์ 2 ฟองละ 3.90 บาท, เบอร์ 3 ฟองละ 3.60 บาท, เบอร์ 4 ฟองละ 3.50 บาท, เบอร์ 5 ฟองละ 3.20 บาท และเบอร์ 6 ฟองละ 3 บาท

ที่ตลาดศูนย์การค้าจังหวัดกำแพงเพชร ต.ในเมือง อ.เมือง จ.กำแพงเพชร พบว่า ราคาไข่ไก่หน้าแผงได้ปรับขึ้นราคาแล้ว โดยสอบถาม นายณัฐพล นุ่มเกลี้ยง อายุ 23 ปี เจ้าของแผงไข่ไก่ณัฐพล เปิดเผยว่า ได้ปรับราคาขึ้นแผงละ 10 บาททุกขนาด โดยราคาไข่ไก่ต่อผล เบอร์ 0 ราคาแผงละ 130 บาท, เบอร์ 1 ราคา 125 บาท เบอร์ 2 ราคา 120 บาท และเบอร์ 3 ราคา 115 บาท ซึ่งทราบว่าเกษตรกร ผู้เลี้ยงไก่ไข่หลายรายได้เปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่นแทน เนื่องจากแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นไม่ได้ จึงส่งผลให้มีเกษตรกรเลี้ยงไก่น้อยลง ปริมาณไข่ไก่ลดลง จึงปรับราคาสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้วัตถุดิบอาหารไก่ปรับขึ้นราคา ซึ่งลูกค้าบางส่วนก็ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อ โดยหันมาซื้อไข่เป็ดไปบริโภคแทน โดยไข่เป็ดฟาร์มขายอยู่ในราคาแผงละ 120 บาท ส่วนไข่เป็ดไล่ทุ่ง ราคา แผงละ 110 บาท

ด้านตลาดสดบางลำภู เขตเทศบาลนครขอนแก่น ได้ประกาศปรับราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มอีกฟองละ 10 สตางค์ หรือแผงละ 3 บาท จาก 3.40 บาทต่อฟอง เป็น 3.50 บาทต่อฟอง ขณะที่มีประชาชนมาเลือกซื้อไข่ไก่อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวัน

ขณะที่ นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยถึงกรณีที่ภาครัฐเตรียมปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลโดยจะปล่อยให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ภายในวันที่ 1 พ.ค.ว่า ยืนยันว่าหลังจากรัฐบาลลอยตัวราคาน้ำมันดีเซล ค่าขนส่งสาธารณะจะยังไม่ปรับราคาขึ้นอย่างแน่นอน เพราะอาจใช้วิธีลดต้นทุนในส่วนอื่นแทน แต่คงต้องทบทวนเรื่องต้นทุนค่าโดยสารรถสาธารณะที่ใช้น้ำมันดีเซลอีกครั้ง เพื่อให้ผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะยังเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้

นายจิรุตม์กล่าวว่า สำหรับรถส่วนใหญ่ที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล มองว่าเป็นรถสายยาว อาทิ รถบขส. และรถร่วมบขส. แต่บขส.ก็ให้ความร่วมมือลดต้นทุนด้านอื่นที่ทดแทนการปรับขึ้นราคาน้ำมัน ทั้งนี้ ปัจจุบันยืนยันว่ายังไม่มีผู้ประกอบการเข้ามาหารือเรื่องผลกระทบ และค่าโดยสาร แต่หากต้องการขอปรับขึ้นค่าโดยสาร ต้องขอไปที่คณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลาง และต้องรอให้ต้นทุนราคาน้ำมันคงที่ก่อน หรือหารือมาตรการอื่นๆ มาช่วยชดเชย โดยต้นทุนขนส่งที่ปรับลดได้ อาทิ บุคลากร การเดินรถ และสัญญาการเข้าร่วมเดินรถระหว่างรถร่วมเอกชนกับบริษัทขนส่งจำกัด แต่ยืนยันว่ารถโดยสารประจำทาง ปรับขึ้นราคาค่าโดยสารเองไม่ได้ หากฝ่าฝืนมีความผิดตามกฎหมาย เพราะต้องปรับขึ้นตามอัตราที่คณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลาง กำหนดเท่านั้น แต่รถโดยสารไม่ประจำทาง หรือรถนำเที่ยว สามารถปรับขึ้นค่าโดยสารตามราคากลไกตลาดได้ และเป็นไปตามความพึงพอใจของคนเช่า

ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในเดือนพ.ค. มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 3 บาท/ลิตร จะสิ้นสุดลง ดังนั้นหากราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศสูงขึ้นมาเป็น 35-36 บาท ต่อลิตร จากการวิเคราะห์ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า หากน้ำมันดีเซลขยับ ราคาขึ้น 10% ธุรกิจจะยังประคองธุรกิจ ตรึงราคาต่อไปได้อีกประมาณ 3 เดือน และเมื่อราคาขยับเข้าใกล้ 35 บาท อาจเริ่มเตรียมตัวปรับขึ้นราคาสินค้า ดังนั้นภาครัฐต้องเร่งออกมาตรการ ทั้งระยะสั้นและระยะยาวการรับมือในสถานการณ์เพื่อชะลอและลดผลกระทบต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ และต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมด้วย

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คนใหม่ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ครั้งถัดไปช่วงต้นเดือนพ.ค. จะหารือถึงความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นกำลังสร้างปัญหาให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงไทย เนื่องจากราคาพลังงานและราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้น เห็นได้จากล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตือนว่าภาวะสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จะผลักดันให้เงินเฟ้อทั่วโลกสูงขึ้น โดยมองว่าตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาปีนี้จะพุ่งแตะระดับ 8.7%

“ส.อ.ท.มองว่าเงินเฟ้อของไทยยังมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวสูงขึ้น ทำให้กังวลเรื่องปัญหาหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ที่สูงถึง 90% สะท้อนว่ารายรับไม่พอรายจ่าย กดดันกำลังซื้อในประเทศหดตัว ขณะที่มาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงิน 6-12 เดือนจะทยอยสิ้นสุดลงในเดือนมิ.ย.นี้ จึงเห็นว่ารัฐควรหามาตรการในการดูแลระยะสั้นก่อนที่จะกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในระบบเพิ่มขึ้น หนี้บุคคลธรรมดา และผู้ประกอบการโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) เริ่มเป็นหนี้เสียมากขึ้นเพราะผลกระทบจากโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ยังระบาดอยู่เป็นอะไรที่น่ากังวลว่าจะเป็นระเบิดลูกใหม่ทางเศรษฐกิจไทย ดังนั้นรัฐต้องเร่งหามาตรการระยะสั้นดูแลเร่งด่วนในเรื่องของหนี้ครัวเรือน หนี้ธุรกิจต่างๆ ให้ประคองอยู่ได้ก่อน” นายเกรียงไกรกล่าว

นายเกรียงไกรกล่าวเพิ่มเติมว่า หากรัฐขยับราคาดีเซลขึ้น 5 บาทต่อลิตร คาดว่าจะกระทบค่าขนส่งปรับขึ้นราว 15-20% และจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าภาพรวมสูงขึ้นเฉลี่ย 3-4% ซึ่งผู้ผลิตสินค้าน่าจะทยอยปรับราคาสินค้าขึ้นตามกลไกตลาดตั้งแต่ช่วงเดือนพ.ค.นี้เป็นต้นไป เนื่องจากหลายส่วนยังได้รับผลกระทบจากวัตถุดิบ เป็นการซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.เห็นว่ามีความจำเป็นที่รัฐควรขยายมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 3 บาทต่อลิตรต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 3 เดือน จากเดิมที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ลดภาษีเป็นเวลา 3 เดือน จะสิ้นสุดในวันที่ 20 พ.ค.นี้ โดยรัฐสูญเสียรายได้รวม 1.7 หมื่นล้านบาท เพื่อไม่ให้ราคาดีเซลปรับตัวสูงขึ้นจนเกินไป เพราะจะเป็นการซ้ำเติมประชาชนที่ถูกส่งผ่านมาในราคาสินค้าจากค่าขนส่งที่สูงขึ้น

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผอ.สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล เพื่อให้การอุดหนุนราคาพลังงานมีความเป็นธรรมมากขึ้น โดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ร่วมกับกรมธุรกิจพลังงาน กรมสรรพสามิต ได้วางแนวทางแยกการอุดหนุนน้ำมันดีเซลเกรดพรีเมียม ออกจากการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง และภาคการเกษตร โดยจะลดการอุดหนุนดีเซลในกลุ่มพรีเมียมลงตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2565 ซึ่งผู้ผลิตน้ำมันดีเซลเกรดพรีเมียมแต่ละบริษัทเป็นผู้กำหนดราคาเพื่อการแข่งขันกันเอง ปัจจุบันมีการใช้น้ำมันดีเซลเกรดพรีเมียมประมาณ 1.41 ล้านลิตร/วัน

รายงานข่าวแจ้งว่า พีทีที สเตชั่น และบางจาก ประกาศปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ทุกชนิด 60 สตางค์ต่อลิตร ส่งผลให้ราคาขายปลีกเบนซินอยู่ที่ 47.06 บาท แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 39.65 บาท แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 39.38 บาท อี20 อยู่ที่ 38.54 บาท อี85 อยู่ที่ 31.84 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย. เวลา 05.00 น. เป็นต้นไป

ขณะที่กลุ่มดีเซลคงเดิม โดยดีเซล บี7 ดีเซล บี10 และดีเซล บี20 อยู่ที่ 29.94 บาทต่อลิตร และดีเซลพรีเมียม บี7 อยู่ที่ 35.96 บาทต่อลิตร

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน