ขยับทั้งปท.-ค้าภายในเร่งคุมเรือตลาดน้ำขอปรับราคาด้วยตู่โวแก้ปัญหาดีกว่าหลายชาติยํ้างบจำกัด-โบ้ยโควิดต้นเหตุ

‘นายกฯ ตู่’ โวไทยแก้ของแพงได้มากกว่าหลายประเทศ แต่ติดปัญหางบฯ จำกัด ร่อยหรอ ‘โควิด’ เป็นต้นเหตุ ขอผู้ประกอบการขึ้นราคาให้เหมาะสมขณะที่กระทรวงพาณิชย์สำรวจทั่วประเทศ ราคา ‘ไก่ ไข่ หมู’ แห่ขึ้นราคา เนื้อไก่แพงสุดที่หนองบัวลำภู ไข่ไก่ระยองราคาสูงสุด ส่วนลำปาง-หมูแพง อธิบดีกรมการค้าภายในเรียกถกด่วนผู้ผลิตบะหมี่ซอง ขอให้ช่วยตรึงราคาไปก่อน เตรียมถกโรงกลั่นน้ำมันปาล์มขอให้คงราคาขาย ช่วยลดต้นทุนบะหมี่ ด้านเรือนำเที่ยวตลาดน้ำดำเนินฯ ขอขยับราคาตามน้ำมันดีเซล

เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงราคาสินค้าหลายชนิดแพงขึ้น โดยเฉพาะไข่ไก่และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปว่า ที่ผ่านมาทุกคนทราบดีว่ารัฐบาลช่วยเหลืออะไรไปแล้วบ้าง แต่จะต้องหามาตรการที่เหมาะสม ในการช่วยเหลือว่า ทำอย่างไรราคาต้นทุนจะไม่สูงเกินไป ซึ่งจะส่งผลให้ราคาขายไม่สูงขึ้นมาก แต่เข้าใจว่าปัจจุบันต้นทุนการผลิตสูงขึ้น อีกทั้งมาตรการการช่วยเหลือ รัฐบาลจำเป็นต้องดูงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหนเพียงไร

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้ หยุดนิ่ง ทุกเรื่องที่มีปัญหาไม่ว่าด้านแรงงาน ค่าแรง ราคาพลังงานต่างๆ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกกระทรวงหามาตรการที่เหมาะสม ก่อนเสนอมายังตนพิจารณา ได้ให้แนวทางไปแล้วว่าจะทำอย่างไรให้บรรเทาความเดือดร้อนให้ได้มากที่สุด แต่จะให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์แบบเดิมคงไม่ได้ ซึ่งหลายคนพูดผ่านสื่อว่ารัฐบาลแก้ปัญหาไม่ได้ ก็อยากให้ไปดูประเทศอื่นด้วยว่าเขาแก้ได้น้อยกว่าเรา ประเทศไทยแก้ได้มากกว่าเขา แต่ยังไม่น่าพอใจ ตนก็ยังไม่พอใจ แต่ปัญหาติดอยู่ที่งบประมาณมีอยู่จำกัด ทำอะไรต้องมีหลักการ ไม่สร้างภาระไว้ในวันข้างหน้า

“สิ่งที่นายกฯ กำลังคิดต่อไปคือนโยบายของรัฐบาลในวันข้างหน้า จะต้องเปลี่ยนแปลงอีกหลายอย่าง จากสถานการณ์วันนี้ถือเป็น บทเรียนได้ทราบว่าโลกเปลี่ยนไปแล้วทุกอย่าง จึงเป็นแนวทางที่รัฐบาลและตัวนายกฯ ต้อง เตรียมการว่าจะดำเนินนโยบายของเราอย่างไรต่อไป ถ้ายังมีโอกาสได้อยู่และได้ทำ ก็เอาปัญหาทุกปัญหามาประมวล ซึ่งเป็นปัญหาของโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องความ เหลื่อมล้ำ รายได้ อาชีพ เมื่อโควิดเข้ามาทำให้แผนงานเดิมมีปัญหา จึงต้องแก้ทุกอย่าง ซึ่งการทำทุกอย่างในเวลาเดียวกันใช้งบประมาณสูงมาก” นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวอีกว่า ส่วนหนึ่งที่จะช่วยรัฐบาลได้มากที่สุด ขอผู้ประกอบการช่วยกันดูว่าการขึ้นราคาสินค้าบางอย่างเหมาะสมหรือไม่ แม้จะมีมาตรการของกระทรวงพาณิชย์บังคับอยู่ก็ตาม อย่าลืมว่าการขึ้นราคาสินค้าต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ของเงินเฟ้อ รวมทั้งต้นทุนการผลิต ไม่ใช่ยังจะคงกำไรจำนวนมากเหมือนเดิม มันคงไม่ได้ วันนี้ต้องช่วยชาติและประชาชน รวมทั้งรัฐบาลกันบ้าง อย่าลืมว่า รายได้ของรัฐบาลก็มาจากผู้ประกอบการ นักธุรกิจ หากรายได้ไม่ดี รายได้ของรัฐบาลก็ลดด้วย เพราะภาษีต้องลดลงทั้งหมด แล้วจะเอาเงินจากที่ไหน ทั้งที่เราเตรียมการไว้หมดแล้ว ถ้าไม่มีเรื่องของโควิดน่าจะดีกว่านี้

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาได้ให้แนวทางไปแล้วว่าให้ระวังเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ เนื่องจากร่อยหรอลงไปทุกที รัฐบาลพยายามดูแลให้ทั่วถึง ซึ่งต้องปรับในหลายๆ อย่างในวันข้างหน้า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้อีกในอนาคต โลกเปลี่ยนเราต้องปรับ นโยบายของรัฐบาลและนโยบายการเมืองก็ต้องปรับทั้งหมด เพราะถ้าเราอยู่แบบนี้มันไปไม่ได้ หลายอย่างที่กำลังจะโตก็ต้องล้มและพังลงมา บางครั้งก็เป็นเพราะความไม่เข้าใจกันและกัน

รายงานข่าวจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ แจ้งถึงความเคลื่อนไหวราคาไก่เนื้อ เปรียบเทียบกับสัปดาห์ที่ 3 และ 4 ของเดือนเม.ย.ว่า หลายจังหวัดปรับขึ้นราคาขายปลีกเนื้ออกไก่ เช่น กทม. ปรับเพิ่มขึ้น 2.50 บาทต่อก.ก. จาก 87.50 บาทต่อก.ก. เป็น 90 บาทต่อก.ก., จ.อ่างทอง เพิ่มขึ้น 2.50 บาทต่อก.ก. จาก 82.05 บาทต่อก.ก. เป็น 85 บาทต่อก.ก., จ.เพชรบุรี เพิ่มขึ้น 9 บาทต่อก.ก. จาก 74 บาทต่อก.ก. เป็น 83 บาทต่อก.ก., จ.สมุทรปราการ เพิ่มขึ้น 5 บาทต่อก.ก. จาก 85 บาทต่อก.ก. เป็น 90 บาทต่อก.ก.

จ.อุทัยธานี เพิ่มขึ้น 0.25 บาทต่อก.ก. จาก 80.89 บาทต่อก.ก. เป็น 81.14 บาทต่อก.ก., จ.หนองบัวลำภู เพิ่มขึ้น 5 บาทต่อก.ก. จาก 97.50 บาทต่อก.ก. เป็น 102.50 บาทต่อก.ก., จ.ภูเก็ต เพิ่มขึ้น 7 บาทต่อก.ก. จาก 82.50 บาทต่อก.ก. เป็น 89.50 บาทต่อก.ก. เป็นต้น โดยจังหวัดที่เนื้อไก่มีราคาแพงที่สุดคือหนองบัวลำภู ราคาพุ่งไปอยู่ที่ 102.50 บาทต่อก.ก. รองลงมาคือกทม. และ จ.สมุทร ปราการ 90 บาทต่อก.ก.

ส่วนราคาไข่ไก่เบอร์ 3 เป็นขนาดที่ร้านอาหารตามสั่งนิยมนำไปใช้ในการประกอบอาหารจำหน่าย พบว่าปรับขึ้นราคาขายปลีกในหลายจังหวัดเช่นกัน เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดส่งผล กระทบต่ออัตราการให้ไข่ ประกอบกับภาระต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์และค่าขนส่งที่ เพิ่มขึ้น โดยกทม.ปรับเพิ่มขึ้น 10 สตางค์ ต่อฟอง จาก 3.80 บาทต่อฟอง เป็น 3.90 บาทต่อฟอง, จ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่มขึ้น 10 สตางค์ต่อฟอง จาก 3.55 บาทต่อฟอง เป็น 3.65 บาทต่อฟอง

จ.อ่างทอง เพิ่มขึ้น 20 สตางค์ต่อฟอง จาก 3.80 บาทต่อฟอง เป็น 4.00 บาทต่อฟอง, จ.ลพบุรี เพิ่มขึ้น 20 สตางค์ต่อฟอง จาก 3.75 บาทต่อฟอง เป็น 3.95 บาทต่อฟอง, จ.ระยอง เพิ่มขึ้น 10 สตางค์ต่อฟอง จาก 4.20 บาทต่อฟอง เป็น 4.30 บาทต่อฟอง, จ.ตราด เพิ่มขึ้น 26 สตางค์ จาก 3.77 บาทต่อฟอง เป็น 4.03 บาทต่อฟอง เป็นต้น โดยจังหวัดที่ไข่ไก่เบอร์ 3 มีราคาแพงที่สุด จ.ระยอง 4.30 บาทต่อฟอง รองลงมา จ.ตราด 4.03 บาทต่อฟอง

ขณะที่ราคาหมูเนื้อแดงปรับขึ้นราคาขายปลีกในหลายจังหวัดเช่นกัน เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของสุกร ขณะที่ความต้องการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายเปิดประเทศ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว รวมทั้งต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกทม. ปรับเพิ่มขึ้น 5 บาท จาก 185 บาทต่อก.ก. เป็น 190 บาทต่อก.ก., จ.ปทุมธานี เพิ่ม 5 บาท จาก 170 บาทต่อก.ก. เป็น 175 บาทต่อก.ก., จ.นครปฐม เพิ่ม 5 บาทต่อก.ก. จาก 175 บาทต่อก.ก. เป็น 180 บาทต่อก.ก.

จ.ราชบุรีเพิ่ม 5 บาท จาก 180 บาทต่อก.ก. เป็น 195 บาทต่อก.ก., จ.ฉะเชิงเทรา เพิ่ม 5 บาทต่อก.ก. จาก 187.50 บาทต่อก.ก. เป็น 192.50 บาทต่อก.ก., จ.ลำปาง เพิ่ม 5 บาท จาก 195 บาทต่อก.ก. เป็น 200 บาทต่อก.ก., จ.หนองบัวลำภู เพิ่ม 10 บาทต่อก.ก. จาก 180 บาทต่อก.ก. เป็น 190 บาทต่อก.ก., จ.มหาสารคามเพิ่ม 10 บาทต่อก.ก. จาก 175 บาทต่อก.ก. เป็น 185 บาทต่อก.ก. เป็นต้น โดยจังหวัดที่หมูเนื้อแดงราคาแพงที่สุด จ.ลำปาง 200 บาทต่อก.ก. รองลงมา จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญ 195 บาทต่อก.ก.

ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรามาม่าขึ้นราคาขายปลีกชนิดบิ๊กแพ็กอีกซองละ 2 บาท จาก 8 บาทเป็น 10 บาท ว่าไม่ใช่ปรับขึ้นราคาขายปลีกมาม่า บิ๊กแพ็กสูตรดังดั้ง แต่เป็นบิ๊กแพ็กชนิดใหม่ที่ปรับขนาดและสูตรใหม่ โดยกรมการค้าภายในอนุมัติให้ขายซองละ 9 บาท ส่วนสูตรดั้งเดิมยังขายซองละ 8 บาทเท่าเดิม

ขณะที่นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เชิญผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 5-6 ราย เข้าหารือ โดยนายวัฒนศักย์เปิดเผยว่าขอความร่วมมือให้ช่วยตรึงราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปออกไปก่อน ซึ่งผู้ผลิตรับปากให้ความร่วมมือ แต่ขอให้กรมเร่งพิจารณาปัญหาต้นทุนที่ปรับสูงขึ้นด้วย โดยผู้ผลิตแจ้งว่าขณะนี้ต้นทุนปรับเพิ่มขึ้นมาก ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งในส่วนวัตถุดิบและค่าขนส่งสินค้าที่จะปรับเพิ่มขึ้น

นายวัฒนศักย์กล่าวว่าดังนั้นระหว่างนี้กรมจะช่วยบรรเทาภาระต้นทุนปัจจัยการผลิตให้กับผู้ผลิตบะหมี่ โดยเตรียมหารือกับโรงกลั่น และโรงสกัดปาล์มน้ำมันขอให้คงราคาน้ำมันปาล์มไปก่อนสักระยะ และคาดว่าผลผลิตปาล์มจะทยอยออกในเดือนพ.ค. ซึ่งจะทำให้ราคาในตลาดอ่อนตัวลง ส่วนที่ประเทศอินโดนีเซียระงับส่งออกน้ำมันปาล์มนั้น คาดเป็นช่วงระยะเวลาสั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 1 พ.ค.นี้ รัฐบาลจะเลิกอุดหนุนตรึงราคาน้ำมันดีเซล ส่งผลให้ขยับราคาขึ้นจาก 30 บาทต่อลิตร เป็น 32 บาทต่อลิตร จะส่งผลให้ภาคขนส่งและสินค้าหลายรายการขยับราคาขึ้นตาม จากการสอบถามนางสุภารดี สุขเกษม ประธานชมรมคนรักษ์ตลาดน้ำดำเนินสะดวก เจ้าของท่าเรือตาหลวง ผู้ประกอบการเรือ นำเที่ยว อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี กล่าวว่าถ้าราคาน้ำมันดีเซลขึ้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องขึ้นค่าบริการเพิ่มอีกเที่ยวละ 200 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุน

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน