‘คาร์ม็อบ’ เคลื่อนขบวนเรียกร้องสิทธิ์ประกันตัว 11 ผู้ต้องหาคดีทางการเมือง ยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา และอธิบดีศาลอาญา ขณะที่ ‘พิธา’หัวหน้าพรรคก้าวไกล ใช้ตำแหน่งส.ส.ยื่นประกัน ‘ทานตะวัน’ อีกรอบ ศาลนัดไต่สวนวันที่ 26 พ.ค.นี้ โดยให้พิธาเสนอพฤติการณ์พิเศษ เพื่อเป็นผู้กำกับดูแลพฤติการณ์ของ ผู้ต้องหาอย่างใกล้ชิด และหากผิดเงื่อนไขอีก จะรับผิดชอบอย่างไร

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 20 พ.ค. ที่หน้าศาลฎีกา กลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมยื่นหนังสือถึง น.ส.ปิยกุล บุญเพิ่ม ประธานศาลฎีกา เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ปล่อยตัวชั่วคราว นักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง รวม 11 คน ในจำนวนนี้ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ อดอาหารอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลางเป็นเวลากว่า 30 วัน โดยมีนายธนากร พรวชิราภา หัวหน้าส่วนกฎหมายและระเบียบ สำนักงานประธานศาลฎีกา เป็นผู้รับหนังสือเรียกร้อง

ต่อมาเวลา 13.30 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มคณะราษฎรยกเลิก 112 หรือครย.112 รวมตัวจัดกิจกรรมคาร์ม็อบเรียกร้องสิทธิ์ประกันตัว และยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยเคลื่อนขบวนจากถนนราชดำเนินกลางมุ่งหน้าสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ถนนจรัญสนิทวงศ์ สะพานพระราม 7 ถนนรัชดาภิเษก และเมื่อขบวนถึงศาลอาญา กลุ่ม ผู้ชุมนุมส่งตัวแทนเข้าไปยื่นหนังสือถึงอธิบดีศาลอาญา ก่อนเคลื่อนขบวนต่อไปยังหน้าเรือนพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง ถนนงามวงศ์วาน

ขณะเดียวกัน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวน.ส.ทานตะวัน ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112, ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน, ฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยนายพิธาใช้ตำแหน่ง ส.ส.เป็นหลักประกัน โดยก่อนหน้านี้นายพิธายื่นคำร้อง แต่ศาลยกคำร้อง โดยระบุสาเหตุไม่ปรากฏหลักฐานเงินเดือน

จากนั้นศาลพิจารณาแล้วอ่านคำสั่งว่า พิเคราะห์พยานหลักฐานในชั้นไต่สวนคำร้อง และข้อคัดค้านของผู้ต้องหาแล้ว ได้ความจากพนักงานอัยการผู้ร้องว่า ผู้ร้องเพิ่งได้รับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2565 ผู้ร้องจึงไม่อาจสั่งฟ้องได้ทัน ประกอบกับคดีนี้เป็นคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งตามหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด เรื่องแนวทางปฏิบัติในการดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ผู้ร้องต้องส่งสำนวนให้คณะกรรมการของสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาก่อน และได้ส่งสํานวนให้คณะกรรมการพิจารณาแล้วในวันเดียวกัน หลังได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวน แต่ยังไม่ได้รับสำนวนกลับคืนมา

สิทธิ์ประกันตัว – กลุ่มครย. จัดคาร์ม็อบจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปเรียกร้องขอสิทธิ์ประกันตัวผู้ต้องหาคดีการเมือง ที่หน้าศาลอาญา ถ.รัชดาฯ เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ขณะที่ศาลนัดไต่สวนประกันตัว น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ วันที่ 26 พ.ค.นี้

ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงขอฝากขังผู้ต้องหา ต่อศาลในครั้งนี้อีก 7 วัน และผู้ร้องยืนยันว่า ผู้ร้องและคณะกรรมการสามารถพิจารณาสั่งคดีได้ แล้วเสร็จภายในกำหนดนี้ ด้านผู้ต้องหาคัดค้านว่าไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุภยันตรายประการอื่น หากไม่ฝากขังผู้ต้องหาต่อศาล ก็ไม่ได้เป็นเหตุที่จะทำให้ผู้ร้องไม่สามารถที่จะพิจารณาสั่งคดีได้ ขอให้ศาลยกคำร้องขอฝากขัง

ศาลเห็นว่าเมื่อผู้ร้องเพิ่งได้รับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวน ทำให้ผู้ร้องไม่อาจพิจารณาสั่งคดีได้ทัน และคดีนี้ก่อนฟ้องคดี ผู้ร้องต้องส่งสำนวนให้คณะกรรมการพิจารณาก่อน กรณีจึงเป็นเหตุจำเป็นเพื่อการฟ้องคดี ส่วนที่ผู้ต้องหาคัดค้านว่าไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุภยันตราย จึงไม่มีเหตุที่จะขัง ผู้ต้องหานั้น เห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 71 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าเมื่อได้ตัวผู้ต้องหา หรือจำเลยมาแล้วในระยะใดระหว่างสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณา ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหา หรือจำเลยไว้ตามมาตรา 87 หรือมาตรา 88 ก็ได้ และให้นำบทบัญญัติในมาตรา 66 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

คำสั่งศาลระบุว่า ซึ่งมาตรา 66 บัญญัติว่าเหตุที่จะออกหมายจับได้ มีดังต่อไปนี้ 1.เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญา ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี ดังนั้น ตามบทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจศาลที่จะขังผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวนหากมีเหตุตามมาตรา 66 เมื่อคดีนี้ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี จึงเป็นกรณีที่ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาได้ กรณีการฝากขังของผู้ร้องจึงไม่จำต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ว่า ผู้ต้องหาจะมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุภยันตรายอย่างอื่น

2.ตามที่ผู้ต้องหาคัดค้าน จึงเห็นควรอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาในครั้งที่ 8 เป็นเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ 23-29 พ.ค.2565 แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิ์ผู้ต้องหาในการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว

ส่วนคำสั่งประกันตัวนั้น ศาลมีคำสั่งว่าให้นัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในวันพฤหัสบดีที่ 26 พ.ค. เวลา 10.00 น. และให้ผู้ร้องเสนอพฤติการณ์พิเศษที่เป็นเหตุให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา เช่น ผู้ร้องจะเป็น ผู้กำกับดูแลพฤติการณ์ของผู้ต้องหาอย่างใกล้ชิด เพื่อมิให้ผู้ต้องหาทำผิดเงื่อนไขที่ศาลกำหนดไว้อีก และหากผู้ต้องหาผิดเงื่อนไข ผู้ร้องจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร ให้ ผู้ต้องหาและทนายผู้ต้องหาเสนอเงื่อนไขให้ศาลพิจารณาประกอบในการปล่อยชั่วคราวก่อน หรือในวันนัด แจ้งพนักงานสอบสวนหากจะคัดค้านให้ยื่นคำคัดค้านก่อน หรือในวันนัด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการฝากขังครั้งที่ 7 ศาลเคยอนุญาตเป็นเวลา 5 วัน ซึ่งวันที่ 20 พ.ค. ที่ศาลอนุญาตฝากขังอีก 7 วัน ก็จะครบอำนาจการคุมตัวตามกฎหมายที่ควบคุมได้ในชั้นฝากขัง 84 วัน หากอัยการยังยื่นฟ้องไม่ได้ จะต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาทันที

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน