แต่พณ.ยังห้าม มาม่า-ปลาป๋อง

ขึ้นราคาไม่หยุด ‘ไข่ไก่’ แพงอีกฟองละ 10 สตางค์ ขยับพรวดเป็น 3.50 บาท ต่อฟอง เผยตั้งแต่ต้นเดือนก.ค.ทยอยขึ้นมาแล้ว 3 ครั้ง รวม 50 สตางค์ต่อฟอง ด้านกรมการค้าภายในชี้แจงอ้างราคาที่ขึ้นสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง แต่จะตรึงราคาสินค้าจำเป็นต่อการครองชีพให้นานที่สุด ยังไม่ให้ขึ้นราคาบะหมี่ซอง ปลากระป๋อง และนม

เมื่อวันที่ 2 ส.ค. นายดำรงค์ ธาราสมบัติ ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ชลบุรี จำกัด เปิดเผยว่าสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ 4 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว จำกัด, สหกรณ์ ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูน จำกัด, สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ลุ่มแม่น้ำน้อย จำกัด และสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ชลบุรี จำกัด ประกาศขึ้นราคาแนะนำไข่คละหน้าฟาร์ม อีกฟองละ 10 สตางค์ คือปรับจาก 3.40 บาทต่อฟอง เป็น 3.50 บาทต่อฟอง หรือปรับขึ้นแผงละ 3 บาท สำหรับแผงละ 30 ฟอง มีผลบังคับใช้ราคาใหม่ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ รวมทั้งเป็นการปรับเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุน และปริมาณผลผลิต เนื่องจากช่วงที่ผ่านมามีการปลดแม่ไก่ บางส่วน

“กลไกตลาดเริ่มดีขึ้น กำลังซื้อเริ่มกลับมา แต่ยังไม่มาก ครั้งนี้ฟาร์มจึงตัดสินใจปรับขึ้นราคาเพียงฟองละ 10 สตางค์ น้อยกว่าครั้งก่อนหน้า รวมทั้งยังเป็นการปรับขึ้นราคาเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนการเลี้ยงด้วย เพราะเมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่บริษัทจำหน่ายอาหารสัตว์แจ้งปรับขึ้นราคาอาหารไก่ไข่อีก 6 บาทต่อถุง ขนาด 30 กิโลกรัม ส่งผลให้ต้นทุนไข่ไก่ปรับขึ้นมาอยู่ที่ฟองละ 3.40 บาทแล้ว ส่วนแนวโน้มจะปรับขึ้นราคาไข่ไก่อีกหรือไม่ จะต้องดูกลไกลตลาด หากกลไกเดินได้ดีก็อาจจะต้องปรับราคาขึ้นอีก” นายดำรงค์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไข่ไก่ปรับราคาขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนก.ค. พบปรับขึ้นราคารวม 50 สตางค์ต่อฟอง รวม 3 ครั้ง คือวันที่ 6 ก.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 20 สตางค์ต่อฟอง เป็น 3.20 บาทต่อฟอง, วันที่ 20 ก.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 20 สตางค์ต่อฟอง เป็น 3.40 บาทต่อฟอง และล่าสุด วันที่ 2 ส.ค. ปรับขึ้น 10 สตางค์ต่อฟอง เป็น 3.50 บาทต่อฟอง

ด้านนายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงการปรับขึ้นราคาไข่ไก่ว่าเป็นการปรับขึ้นเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ หลังจากปริมาณผลผลิตในตลาดลดลง เนื่องจากการใช้มาตรการปลดแม่ไก่ในระบบราว 800,000 ตัว และเร่งผลักดันการส่งออกไข่ไก่ไปยังต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา เพื่อแก้ไขปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำอย่างหนัก

“ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม 3.50 บาทต่อฟอง ถือว่าเป็นราคาที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และเป็นการขึ้นราคาตามกลไกตลาด เนื่องจากปริมาณไข่ในระบบปรับลดลง ไข่ไก่เป็นสินค้าเกษตร ราคาจะปรับขึ้นปรับลงตามกลไกตลาดอยู่แล้ว หากปรับราคาขึ้นไปแล้วขายไม่ได้ ก็จะปรับราคาลงมาเอง แต่หากกำลังซื้อยังดี แต่ปริมาณไข่มีน้อย ก็อาจจะปรับราคาเพิ่มขึ้นตามกลไกของตลาด” รองอธิบดีกรมการค้าภายในกล่าว

ขณะที่ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่ากรมการค้าภายในยังคงขอความร่วมมือผู้ผลิต และผู้จำหน่ายสินค้าให้ตรึงราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพต่อไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และในส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคที่ต้องขออนุญาตก่อนปรับราคา เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง และนม ณ วันนี้ยังไม่มีการอนุญาตให้ปรับราคา โดยต้องพิจารณาอย่างรอบคอบทั้ง ด้านราคาและด้านปริมาณสินค้า และพิจารณาเป็นรายๆ ไป เนื่องจากผู้ประกอบการแต่ละราย แต่ละสินค้า มีต้นทุนที่แตกต่างกัน ที่สำคัญต้องให้ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ สินค้าไม่ขาดแคลน ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็จะต้องได้รับผล กระทบน้อยที่สุด

ร.ต.จักรากล่าวว่า การที่สินค้าบางรายการปรับราคาในช่วงนี้ อาจเป็นเพราะผู้ผลิตและผู้จำหน่ายมีต้นทุนสูงขึ้น รวมทั้งต้นทุนค่าขนส่งสินค้า เชื่อว่าผู้บริโภคมีความเข้าใจ ซึ่งการปรับราคาสินค้าส่วนหนึ่งอาจมาจากการปรับเปลี่ยนโปรโมชั่นสินค้า หรือส่วนลดทางการค้า เป็นเรื่องของการแข่งขันตามกลไกตลาด แต่กรมการค้าภายในจะดูแลอย่างเต็มที่ ไม่ให้ฉวยโอกาสจำหน่ายสินค้าราคาสูงเกินสมควร โดยส่งเจ้าหน้าที่ออกสำรวจติดตามสถานการณ์เป็นประจำทุกวัน ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งกำชับให้ผู้ประกอบการปิดป้ายแสดงราคาอย่างชัดเจนเพื่อให้ ผู้บริโภคมีข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้องในการ เลือกซื้อสินค้า

ขณะเดียวกัน นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่าแจ้ง 3 การไฟฟ้าถึงมติกกพ.เห็นชอบค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ ค่าเอฟที งวดใหม่ช่วงเดือนก.ย.-ธ.ค.2565 ที่ปรับขึ้นจากงวดก่อน 68.66 สตางค์ต่อหน่วย เป็นอัตรา 93.43 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวม ค่าไฟฐานเฉลี่ยจะอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย นับว่าเป็นอัตราสูงสุด หรือนิวไฮ เป็นประวัติการณ์ของค่าไฟฟ้าประเทศไทย ซึ่งเป็นการสะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิงเท่านั้น ยังไม่มีการชำระหนี้ค่าเชื้อเพลิงให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อีกประมาณ 83,010 ล้านบาท

เลขาฯ กกพ.กล่าวว่าทั้งนี้อัตราดังกล่าวเป็นไปตามที่สำนักงานกกพ.จัดรับฟังความเห็นให้ประชาชนเลือก 3 แนวทาง และแนวทางที่เลือกคือแนวทางที่ต่ำสุด โดยกฟผ.ให้ความเห็นในการเลือกแนวทางนี้ด้วย เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด โดยประเมินว่ากฟผ.จะรับภาระส่วนต่างระหว่างค่าเอฟทีที่เกิดขึ้นจริง กับค่าเอฟทีเรียกเก็บสะสมของงวดที่ผ่านมา แทนผู้ใช้ไฟฟ้าไปก่อนรวมทั้งหมดประมาณ 100,000 ล้านบาท และไม่สามารถรับภาระเพิ่มเติมสำหรับค่าเชื้อเพลิงในงวดใหม่ได้ ซึ่งประเมินแนวโน้มค่าไฟฟ้าในงวดเดือนม.ค.-เม.ย.2566 ยังเป็นขาขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน