สอบถามทุกแนวคิดการเมือง ‘สุรนันทน์-2อจ.ดัง’ร่วมเวทีถก เจาะลึกคำตอบ-แลนด์สไลด์

‘เครือมติชน’ จับมือ ‘เดลินิวส์’ ทำโพลเลือกตั้งผ่าน 5 แพลตฟอร์มออนไลน์ 2 ช่วง ต้นเดือนเม.ย. และกลางเม.ย. ครอบคลุมทุกแนวคิดทางการเมือง มั่นใจสะท้อนความจริงมากที่สุด พร้อมจัดเวทีสเปเชียลฟอรั่ม ขณะที่มติชนเปิดเวทีวิชาการเลือกตั้ง ‘สุรนันทน์-2 อาจารย์ดัง’ร่วมวิเคราะห์ จากฐานคะแนน รวมทั้งการแบ่งเขตเลือกตั้ง ยัน ‘เพื่อไทย’ ไม่แลนด์สไลด์

ผนึกกำลัง – น.ส.ปานบัว บุนปาน กก.ผจก.เครือมติชน และนายปราปต์ บุนปาน รองกก.ผจก.เครือมติชน ลงนามเอ็มโอยูกับนางประพิณ รุจิรวงศ์, นายปารเมศ เหตระกูล และนางสิริวรรณ พันธุ์ปรีชากิจ กก.บริหารน.ส.พ.เดลินิวส์ และเดลินิวส์ออนไลน์ รวมทั้งวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ จับมือทำโพลเลือกตั้ง 2566 ร่วมกัน เมื่อวันที่ 20 มี.ค.

‘มติชน-เดลินิวส์’ทำโพลเลือกตั้ง
เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 20 มี.ค. ที่ สํานักงานเดลินิวส์ กรุงเทพฯ คณะผู้บริหารเครือมติชน นําโดยน.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จํากัด (มหาชน) นายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายเทคโนโลยี และดิจิทัลมีเดีย บริษัท มติชน จํากัด (มหาชน) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่องสํารวจความคิดเห็นของประชาชนกับการเลือกตั้งปี 2566 ระหว่างเครือเดลินิวส์ กับเครือมติชน โดยมีนางประพิณ รุจิรวงศ์ นายปารเมศ เหตระกูล และนางสิริวรรณ พันธุ์ปรีชากิจ กรรมการบริหาร หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และเดลินิวส์ออนไลน์ ให้การต้อนรับ มีนายอัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และนายศุภกร รวยวาสนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิกเดฟ จํากัด เป็นพยานในการลงนามครั้งนี้

ภายในงานมีตัวแทนจาก 5 กองบรรณาธิการ ประกอบด้วย กองบรรณาธิการเดลินิวส์ กองบรรณาธิการมติชน กองบรรณาธิการข่าวสด กองบรรณาธิการประชาชาติธุรกิจ และกองบรรณาธิการมติชนสุดสัปดาห์ เข้าร่วมงานด้วย

สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ เกิดจากแนวความคิดร่วมกันของผู้บริหารในเครือมติชนและเดลินิวส์ สื่อชั้นนำของประเทศที่มีกลุ่มคนอ่านและผู้ติดตาม ทั้งในสื่อหนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ และสื่อโซเชี่ยลมีเดียจำนวนหลายสิบล้านคน โดยต้องการสำรวจความเห็นของประชาชน ผู้อ่าน ผู้ติดตามสื่อออนไลน์ และสื่อโซเชี่ยลมีเดีย เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ในปี 2566 ในประเด็นสำคัญ เช่นความตั้งใจในการออกมาใช้สิทธิใช้เสียง การเลือกพรรค การเมือง และผู้ที่เหมาะสมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ผ่าน 5 แพลตฟอร์มออนไลน์
โดยเชื่อมั่นว่าการทำโพลครั้งนี้จะสะท้อนความคิดเห็นของผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ชัดเจนมากที่สุด เพราะสำรวจผ่าน 5 ช่องทางหลักที่ครอบคลุมคนอ่านทั่วประเทศ คือเดลินิวส์ออนไลน์ มติชนออนไลน์ ข่าวสดออนไลน์ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ และมติชนสุดสัปดาห์ออนไลน์

ทั้งนี้ เครือเดลินิวส์กับเครือมติชนจะ ร่วมมือกันในการทำโพล 2 รอบ ในหัวข้อ “เลือกพรรคใด-เลือกใครเป็นนายกฯ” โดยรอบที่ 1 เปิดโหวตบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ช่วงต้นเดือนเม.ย. 66 ส่วนรอบที่ 2 เปิดโหวตบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ช่วงกลางเดือนเม.ย. 66 โดยจะนำผลโพลมาให้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์

นอกจากการทำโพลแล้ว เครือมติชนและเครือเดลินิวส์จะให้ความร่วมมือในการจัดเวทีสเปเชี่ยลฟอรั่ม โดยร่วมกันวิเคราะห์เจาะลึกปรากฏการณ์ “ผลโพลเลือกตั้ง 66 เครือ มติชน x เดลินิวส์” ในช่วงต้นเดือนพ.ค. 66 ที่อาคารสำนักงานมติชนอีกด้วย

โดยนายอัครพงษ์กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญ เป็นสัญญาณมงคลฤกษ์ เริ่มจากสื่อมวลชนจับมือเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกัน เป็นปรากฏการณ์ที่น่าชื่นชม ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลง สังคมเราเมื่อมีการ เลือกตั้งจะมี 2 คำถาม คือเลือกใครและ พรรคไหน ซึ่งการเลือกตั้งเป็นเรื่องของ ความรู้สึก และเป็นสามัญสำนึกของมนุษย์ ที่อยากมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการทำโพลเป็นการแตะเบื้องลึกความรู้สึก และต้องซื่อตรงกับผลสำรวจ โดยผลสำรวจจะวิเคราะห์ว่าสังคมจะเดินไปทางไหน

ด้านนายปารเมศกล่าวว่า การร่วมมือ ครั้งนี้เพื่อทำโพลให้ออกมาใกล้เคียงมากที่สุด เชื่อว่าจะเป็นแรงผลักดันให้เห็นแนวทาง ในอนาคตได้ สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ รวมถึงการก้าวข้ามความขัดแย้ง และอีกไม่นานเราจะทำกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกันอีกครั้งแน่นอน

นายศุภกรกล่าวว่า ตนเชื่อว่าข้อมูลที่ได้จะมีประโยชน์ว่า พื้นที่ไหนประชาชนให้ความสนใจกับการเลือกตั้ง และจะทำให้ประชาชนตื่นตัว ตนหวังว่าระบบที่พัฒนาในการทำโพลครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและนักวิเคราะห์

สำรวจทุกอุดมการณ์การเมือง
ขณะที่นายปราปต์กล่าวว่า ในภาพรวมโพลที่เราจะทำร่วมกัน จะเป็นโพลที่มีชุดคำถามเรียบง่าย คือใครเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และพรรคการเมืองอะไรที่ได้รับความนิยมสูงสุด ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นกระแสรวมของสังคม ทำให้สามารถคาดคะเนผล การเลือกตั้งปี 2566 ได้ รวมถึงน่าจะสะท้อนผลการเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อได้ อย่างไรก็ตาม จุดเด่นของการทำโพลครั้งนี้ คือความกว้างขวางทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ที่ผ่านมาเครือมติชนเคยทำโพลสำรวจการเมืองมาแล้ว แต่ก็มีข้อจำกัด ซึ่งเมื่อเดลินิวส์มาร่วมมือด้วย ก็จะทำให้ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างทุกอุดมการณ์ทางการเมือง ซึ่งจะเป็นจุดแข็ง

ด้านนางประพิณกล่าวว่า การส่งเสียงของประชาชนจากการทำโพลมีความสำคัญ เพราะทำให้พรรคการเมืองทราบถึงนโยบาย เพื่อปรับปรุงก่อนเข้าสู่การเลือกตั้งในเดือนพ.ค. ดังนั้นการร่วมมือกับเครือมติชน สถาบันปรีดีฯ และบริษัทยูนิกเดฟ จํากัด จะเป็น อีกหนึ่งหมุดหมายที่สะท้อนความจริง จากประชาชนหลาย 10 ล้านคน ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของสื่อ และจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในการนำเสนอข่าวสาร

น.ส.ปานบัวกล่าวว่า การทำโพลครั้งนี้ มีความสำคัญ เพราะการเลือกตั้งมีการเปลี่ยนแปลงเยอะ ทั้งวิถีการเลือกตั้ง เขตการเลือกตั้ง ผู้สมัคร และนิวโหวตเตอร์ จึงเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะซับซ้อนมากกว่าเดิม

น.ส.ปานบัวกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม กองบรรณาธิการของทั้ง 5 โต๊ะล้วนมีศักยภาพที่จะนำผลไปวิเคราะห์เสนอต่อ และจะสามารถสะท้อนผลหรือภาพรวมได้อย่างชัดเจน เนื่องจากมีคนอ่านหลายสิบล้านคนของทั้งสองเครือ และเชื่อว่าหลังจากนี้ จะได้รับความร่วมมือจากอีกหลายสถาบัน เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งล่วงหน้า ตนเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะนำไปสู่อนาคตที่ดีกว่าของทุกคน

เป็นโพลสะท้อนความจริงมากสุด
ทั้งนี้ ภายหลังคณะผู้บริหารเครือมติชนและเดลินิวส์ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรียบร้อยแล้ว ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม โดยนายปราปต์กล่าวว่า การร่วมมือกันของ ทั้ง 2 เครือนั้น เนื่องจากเราเล็งเห็นว่าการ เลือกตั้งเป็นหมุดหมายสำคัญทางการเมือง อีกทั้งเห็นว่าสื่อในเครือเดลินิวส์และมติชน น่าจะทำอะไรร่วมกัน และสร้างประโยชน์ ให้กับสังคมได้

“จุดเด่นของเราคือฐานคนทำโพลที่มากเพียงพอ และความหลากหลายของกลุ่มคนทำโพล ซึ่งน่าจะสะท้อนภาพรวมทางการเมืองได้ดี โดยในแง่ปริมาณ เมื่อ 2 สื่อรวมกัน ปริมาณของกลุ่มตัวอย่างผู้ทำโพลน่าจะไม่เป็นรองใคร ส่วนในแง่คุณภาพ ภูมิหลังของผู้ทำโพล รวมถึงอุดมการณ์ทางการเมือง หรือแนวคิดเศรษฐกิจและนโยบายต่างๆ น่าจะครอบคลุมกว้างขวาง และคิดว่าผลลัพธ์ที่ ออกมาจะสะท้อนแนวคิดที่หลากหลายในสังคมได้ว่า มีฉันทามติหรือความคิดอย่างไรกับการเลือกตั้ง ต้องการใครมาเป็นผู้นำประเทศ และต้องการพรรคการเมืองใดมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล” นายปราปต์กล่าว

นายปราปต์กล่าวต่อว่า การทำโพลครั้งนี้ จะได้รับความร่วมมือจากนักวิชาการและสถาบันอื่นๆ ร่วมด้วย เบื้องต้นคือวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอีกภาคส่วน คือสื่อมวลชนจากทั้ง 2 เครือ ซึ่งมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางการเมือง มาร่วมกันวิเคราะห์ผลโพล รวมถึงเครือข่ายนักวิชาการ

ด้านนายปารเมศกล่าวว่า ตนถือว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในวงการสื่อ ที่ทั้ง 2 สื่อใหญ่มาร่วมกันได้ และเป็นนิมิตหมายที่ดีในการทำโพลร่วมกัน ซึ่งกลุ่มผู้ชมผู้อ่านของเครือมติชนกับเดลินิวส์แตกต่างกันค่อนข้างชัดเจน โดยจะครอบคลุมคนทุกระดับชั้นและกว้างขวางทั่วประเทศ ดังนั้น ผลโพลที่ออกมา น่าจะใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด

“ผมอยากชวนผู้ชมและผู้อ่านทั่วประเทศทำแบบสำรวจผลโพลของเครือเดลินิวส์และเครือมติชนในครั้งนี้ เพื่อให้เป็นเสียงสะท้อนถึงพรรคการเมืองและนักการเมืองให้รับทราบว่า ท่านมาถูกทางแล้วหรือไม่ ประชาชนอยากได้แบบไหน อย่างไร เพื่อท่านจะได้ปรับตัวด้วย” นายปารเมศกล่าว

3 กูรูวิเคราะห์เลือกตั้ง66
เมื่อเวลา 10.00 น. วันเดียวกัน ที่อาคารบริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) เครือมติชน ร่วมกับ 5 พันธมิตร ได้แก่สถาบันวิจัยเพื่อ การพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) สถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย, วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์, บริษัท เอ็มเอฟอีซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFEC และศูนย์ข้อมูลมติชน (MIC) ร่วมเปิดเวที “มติชน : เลือกตั้ง 66 บทใหม่ประเทศไทย” ซึ่งเป็นเวทีที่ 2 “วิเคราะห์เลือกตั้ง 66 จากฐานคะแนน และการแบ่งเขตเลือกตั้ง” โดยมีรศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ผอ.สถาบันวิเคราะห์การเมือง และนโยบาย ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผอ. สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า และนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และอดีตรมต.ประจำสำนักนายกฯ ร่วมวิเคราะห์เจาะลึกภาพรวมการเลือกตั้ง ทุกภาค ทุกเขตทั่วประเทศไทย

รศ.ดร.ธนพรกล่าวว่า เครื่องมือการวิเคราะห์การเลือกตั้งปี 2566 ใช้ข้อมูลผล การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 โดยลึกไปถึงระดับตำบล ปรับตามรูปแบบการแบ่งเขตใหม่ จาก 350 เขต เป็น 400 เขต หากดูผลคะแนนปี 62 ฝ่ายรัฐบาลมี 254 เสียง ฝ่ายค้าน 246 เสียง และเมื่อวิเคราะห์ปี 66 ฝ่ายรัฐบาลเป็น 264 เสียง และฝ่ายค้าน 236 เสียง

เมื่อวิเคราะห์รายภาค ภาคเหนือปี 62 คาดการณ์ปี 66 พบว่า พรรคเพื่อไทย จาก 29 คน เป็น 31 คน พลังประชารัฐ จาก 25 คน เป็น 30 คน ก้าวไกล จาก 5 คน เหลือ 4 คน ภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ เท่าทุน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่าเพื่อไทย จาก 84 คนเป็น 90 คน ภูมิใจไทย 16 คนเป็น 22 คน พลังประชารัฐ 11 คนเป็น 19 คน ประชาธิปัตย์ จาก 2 เหลือ 1 คน ก้าวไกล 1 คนเท่าเดิม ส่วนที่สูญพันธุ์แน่ คือพรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนา ยกตัวอย่างจ.นครราชสีมา จาก 14 เขต เป็น 16 เขต แม้เป็นจังหวัดที่ไม่มีพรรคไหนครองพื้นที่แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่วันนี้มีพรรคสูญพันธุ์แน่นอน ด้วยเหตุที่บางเขตถูกผ่ามาโปะคะแนนให้เป็นกำไรของพลังประชารัฐได้เพิ่มอีก 1 เขต ดังนั้นใครที่คิดว่าพลังของลุงตู่ ลุงป้อมไม่มีจริง วันนี้ต้องไปทบทวนให้ละเอียดอีกที

ภาคใต้ พบว่า ประชาธิปัตย์ 22 คน เป็น 28 คน พลังประชารัฐ 12 คนเป็น 15 คน ภูมิใจไทย 9 คนเท่าเดิม ประชาชาติจาก 6 เป็น 7 คน รวมพลังประชาชาติไทย 1 คนเท่าเดิม และไม่มีที่ว่างให้พรรคเพื่อไทย

ธนพร ศรียากูล

ชี้‘เพื่อไทย’ไม่แลนด์สไลด์
ภาคกลาง พบว่า พลังประชารัฐ 48 คน เป็น 54 คน เพื่อไทย 24 คนเป็น 31 คน ก้าวไกล 24 คนเป็น 25 คน ภูมิใจไทย 13 คนเป็น 15 คน ประชาธิปัตย์ 8 คนเหลือ 7 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 5 คน เป็น 7 คน หากดูแบบนี้เหมือนทุกพรรคได้ยิ้มกันหมดไม่ค่อยเสียฐานที่มั่น

ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ จาก 30 เขตเป็น 33 เขต หากดูการวิเคราะห์กว้างๆ ไม่ค่อยเปลี่ยน แต่ให้สังเกตเขตกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกเป็นพื้นที่หลักของเพื่อไทย ฝั่งธนบุรีเป็นก้าวไกล ส่วนกรุงเทพฯ ชั้นในเป็นของพลังประชารัฐ แต่ให้สังเกตเขต 5 ดินแดงกับห้วยขวาง มีการแข่งกัน 2 พรรค พลังประชารัฐกับเพื่อไทย มีการตัดเขตที่พลังประชารัฐไม่ชนะ และดึงเขตวังทองหลางมารวม ส่งผลให้พลังประชารัฐอาจเอาพื้นที่ไปครองดังนั้นการกำหนดเขตเลือกตั้ง มีผลต่อการแพ้ชนะจริงๆ ไม่ตรงไปตรงมา หากหลังมีการรับสมัครเลือกตั้งมีการย้ายพรรค จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพิ่ม แต่ ณ เวลานี้ หากนำข้อมูลปี 62 คาดการณ์ปี 66 คงเป็นลูงตู่ หรือไม่ก็ลุงป้อมเท่านั้น ยืนยันผลการวิเคราะห์จากข้อมูลที่มีหรือหากมีตัวแปรเพิ่มเติม ก็ยังมีความเชื่อมั่นไม่ต่ำกว่า 95% วาทกรรมของพรรคเพื่อไทยที่จะแลนด์สไลด์จึงถูกโต้แย้งด้วยข้อมูลที่มี

ขณะที่ดร.สติธรกล่าวว่า ผลการวิเคราะห์ของอ.ธนพร จากปี 62 เทียบปี 66 คิดว่า พรรคไหนชนะก็อาจชนะในพรรคเดิมต่อ แต่สิ่งที่ต้องติดตามต่อ คือการย้ายพรรค อย่างพรรคเพื่อไทย ฝันถึงการแลนด์สไลด์เหมือนปี 54 แต่ต้องไปดูในหลายๆ ปัจจัยที่อาจเป็นผลบวกให้กับบางพรรค เพราะมีอนาคตใหม่ที่มาจากฝั่งเสรีนิยมที่แย่งคะแนนไป เมื่อดูคะแนนที่เหลือจากการเลือก 5 พรรคใหญ่ จะมีอีก 14% ที่เลือกพรรคเล็ก ต้องเจาะดูว่าแต่ละขั้วของฝ่ายเสรีนิยมและอนุรักษนิยม เป็นอย่างไร การที่พรรคเพื่อไทยประกาศ 310 คะแนนไม่น่าเป็นไปได้ แต่มีความหวังลึกๆ ถ้าสามารถรุกฆาตดึงคะแนนจากอนาคตใหม่กลับมาให้ได้ครึ่งหนึ่ง

สติธร ธนานิธิโชติ

‘เพื่อไทย’กระแทก‘ก้าวไกล’
ดร.สติธรกล่าวอีกว่า ครั้งนี้พรรคก้าวไกลจะปวดหัวมากขึ้น แม้จะกระแทกด้วยนโยบายที่ดีแค่ไหน แต่เพื่อไทยก็จับมาทำหมดเช่นกัน และเป็นแผนระดมเรียกคะแนนเสียงคืน หรืออาจดึงมาอีกแค่ 1 พรรคมาเข้าร่วมก็พอ ในมุมของประชาชน แม้ก้าวไกลจะเสนอนโยบายดีแค่ไหน แต่ไม่เคยทำ ประชาชนอาจเลือกพรรคที่เคยทำแล้ว หรืออาจจะเลือกพรรคที่จะไปต่อได้เพราะมีโอกาสทำนโยบายนั้นๆ ต่อ อย่างไรก็ตามฝากถึง กกต. ในการทำบัตรกาคะแนนแบบแบ่งเขต ควรมีชื่อระบุให้ชัดเจน เพราะจะช่วยประชาชนได้เยอะ ที่ผ่านมามีตัวเลขบัตรเสียประมาณ 5% หรือ 2 ล้านเสียง ไม่อยากให้กกต.อ้างเรื่อง งบประมาณ แต่ควรทำให้ประชาชนลดบัตรเสียก็จะเป็นเครดิตที่ดีของกกต.ด้วย

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ

ชี้พท.ได้ 200 บวกลบ 20
ด้านนายสุรนันทน์กล่าวว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 62 เรารู้ว่ากระแสของประยุทธ์มาแรงมาก กลุ่มอนุรักษนิยมจึงมา แต่ในปี 66 เห็นได้ชัดว่า ประยุทธ์และประวิตรไม่ใช่แม่เหล็กดึงดูดเหมือนเดิม ซึ่งพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐ อาจดึงคะแนนกันเอง ไม่เข้าวิน เชื่อว่ากรุงเทพฯ ออกฝ่ายประชาธิปไตย พรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกลที่จะเข้าวิน จากสถิติข้อมูลวิเคราะห์ปี 66 หากเอาผลโพลจากพรรคการเมืองมาวิเคราะห์ เพราะมีความแม่นยำ แต่คิดว่าโพลที่แม่นที่สุดน่าจะอยู่ที่ดูไบ ตนยังเชื่อว่าไม่มีแลนด์สไลด์เกิดขึ้น แต่หากเป็นอารมณ์ของประชาชนที่ไม่เอารัฐบาลชุดนี้ เพื่อไทยน่าจะชนะเลือกตั้ง น่าจะมาที่ 1 เชื่อว่าเพื่อไทยน่าจะได้คะแนน 200 บวกลบ 20

“ข้อมูลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ก็มีการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ ส.ก.ฝั่งรัฐบาล หายไปเยอะ ซึ่งในปี 2566 ยังมีอีกหลาย ปัจจัยที่ต้องนำไปวิเคราะห์ เช่นการย้ายพรรค การเสนอนโยบายที่โดนใจ หรือแม้กระทั่งพรรคราชการ ที่ข้าราชการไทยยังเป็น ส่วนหลักในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ หรือแม้กระทั่งการร่างกฎหมายต่างๆ” นายสุรนันทน์กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน