ไม่มีเงินให้ไปโรงเรียน แถมยังโดนเมียทิ้งอีก
สลดเผาแล้ว ศพพ่อวัย 31 ปีกับลูกสาววัย 10 ขวบหลังผูกคอฆ่าตัวตายหนีความยากจน ไม่มีเงินไปโรงเรียน เมียทิ้งหนีไปแต่งงานใหม่ เผยเด็กมีประกันชีวิตไว้ที่โรงเรียน ให้แม่เป็นผู้รับผลประโยชน์ 1 แสน ขณะที่แม่เด็กไม่ได้มาร่วมงาน ปิดโทรศัพท์ บล็อกเฟซบุ๊กติดต่อไม่ได้ ด้านผอ.โรงเรียนระบุที่ผ่านมาพยายามช่วยเหลือครอบครัวนี้ ‘ครูจุ๊ย’ แกนนำคณะก้าวหน้าชี้รัฐทำหน้าที่ไม่ดีพอ แนะรื้อทั้งระบบ อย่าแก้ปัญหาแบบลูบหน้าปะจมูก
จากกรณีนายไพบูลย์ หรือแอ๊ด โจมรัมย์ อายุ 31 ปี และน้องข้าว ลูกสาววัยอายุ 10 ขวบ นักเรียนชั้น ป.4 ของโรงเรียน แห่งหนึ่ง ผูกคอติดกับตัวบ้านลักษณะศพหันหน้าเข้าหากัน ที่บ้านเลขที่ 201/2 หมู่ 2 ต.หินเหล็กไฟ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ สภาพศพเริ่มเน่าเปื่อย คาดเสียชีวิตมาแล้ว 3 วัน โดยชาวบ้านไปพบศพเมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา สร้างความสลดใจให้กับชาวบ้านและผู้ที่ทราบข่าวอย่างมาก หลังจากรู้สาเหตุว่าเกิดจากความยากจน ไม่มีเงินจะให้ลูกไปโรงเรียน ไม่มีเพื่อนคู่ใจเพราะภรรยาหนีไปแต่งงานใหม่ ต้องรื้อสังกะสีหลังคาบ้านไปขายเอาเงินให้ลูกไปโรงเรียน ไม่มีไฟฟ้า น้ำประปาใช้ เพราะ ถูกตัด ใช้ชีวิตอยู่ในความมืดนานกว่า 3 ปีนั้น
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 5 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่กู้ภัยสว่างจรรยาธรรมจุด อ.คูเมือง นำร่างสองพ่อลูกซึ่ง ส่งไปตรวจชันสูตรที่ร.พ.บุรีรัมย์ กลับมาที่วัดบ้านสาวเอ้ อ.คูเมือง เพื่อประกอบพิธีฌาปนกิจ โดยช่วงเช้าทำพิธีฌาปนกิจลูกสาวก่อน จากนั้นช่วงบ่ายฌาปนกิจพ่อ โดยนายโสภณ ซารัมย์ สส.บุรีรัมย์ เป็นประธานพิธี โดยมีผู้นำชุมชน ผู้บริหารโรงเรียน ครู ชาวบ้าน และนักเรียนมา ร่วมพิธี ด้วยบรรยากาศโศกเศร้า โดยเฉพาะนางสำเนียง แสงตะวัน อายุ 60 ปี แม่ของนายไพบูลย์ที่ยังทำใจไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สาเหตุที่ทางครอบครัวและญาติทำพิธีฌาปนกิจในวันนี้เลย เนื่องจากสภาพศพทั้งคู่เน่าเปื่อยแล้ว
นางสำเนียง เปิดเผยว่า เท่าที่ทราบจากครูของน้องข้าวได้เขียนผู้รับผลประโยชน์ประกันอุบัติหตุในโรงเรียน ระบุชื่อ นางวนาลี หรือเป้ อิ่มสุข แม่ของน้องข้าว ซึ่งจะได้รับเงินค่าประกันการเสียชีวิตจำนวน 100,000 บาท แต่ถึงเวลานี้ยังไม่เห็นหน้าแม่น้องข้าวเลย อีกทั้งยังปิดโทรศัพท์ บล็อกเฟซบุ๊ก ไม่สามารถติดต่อได้ จึงอยากจะฝากถึงลูกสะใภ้ ถ้าทราบข่าว ให้กลับมา เดินเอกสารเพื่อรับผลประโยชน์ประกันชีวิต เพราะเงินดังกล่าวสามารถเอามาทำบุญให้ลูกได้ ทุกอย่างให้อภัย
ด้านนายบุญเรือง ปุยะติ เพื่อนบ้าน กล่าวว่า หลังจากมาเจอศพสองพ่อลูกผูกคอตายในบ้าน ซึ่งคาดว่าตายในวันพระใหญ่ด้วยก็เป็นภาพติดตา ก็นอนไม่หลับ และการตายดังกล่าวความเชื่อว่าเป็นการตายโหง ชาวบ้านในพื้นที่ก็จะกลัว จึงหารือกับทางญาติว่าจะรื้อทิ้ง ส่วนตัวไม่คาดคิดว่านายแอ๊ดจะคิดสั้นแบบนี้ ขอให้ดวงวิญญาณทั้งคู่ไปอยู่ในภพภูมิที่ดี หากชาติหน้ามีจริง ขอให้เกิดมาฐานะร่ำรวยอยู่สุขสบายไม่ลำบากเหมือนชาตินี้
นางภาคินี ตั้งตรงเวชกิจ นายกเทศมนตรีตำบลหินเหล็กไฟ กล่าวว่า ที่ผ่านมาครอบครัวนี้ไม่เคยมาขอความช่วยเหลือจากผู้นำชุมชน เทศบาล หรือหน่วยงานรัฐเลย อาจจะคิดว่าตัวเองยังพอทำงานได้ จึงไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดเหตุสลดขึ้น ทุกคนตกใจและเสียใจ ซึ่งหากทราบปัญหาคงไม่มีใครนิ่งนอนใจ โดยเฉพาะเทศบาลพร้อมช่วยเหลือประชาชนที่ยากลำบากอยู่แล้ว แต่เท่าที่สอบถามญาติของผู้ตายก็บอกว่าปัจจัยหลักเกิดจากความเครียดส่วนตัวของเขาเองด้วย ส่วนเรื่องงานศพก็พร้อมดูแลให้ทั้งหมด
นายสมศักดิ์ บุญมี ผอ.โรงเรียน กล่าวว่า สาเหตุที่พ่อลูกตัดสินใจผูกคอเสียชีวิตตายนั้น น่าจะเกิดจากความเครียดส่วนตัวและโรคประจำตัว ส่วนเรื่องสภาพความเป็นอยู่และค่าใช้จ่ายในบ้านก็เป็นอีกปัจจัยประกอบด้วย ส่วนตัวลูกสาวอยู่ที่โรงเรียนก็ดูเป็นเด็กร่าเริง ไม่เคยแสดงออกว่ามีอาการซึมเศร้า การเรียนก็ปานกลาง ทำกิจกรรมที่โรงเรียนตามปกติ ส่วนเรื่องทุนการศึกษาสำหรับเด็กยากจน น้องได้รับอยู่แล้ว แต่อาจจะไม่เพียงพอ ที่ผ่านมาครูก็ไปเยี่ยมบ้านติดตามความเป็นอยู่ทุกปี ก็ทราบปัญหาและหารือกับทางครอบครัว ซึ่งญาติพยายามจะช่วยแบ่งเบาโดยย่าจะให้ทั้งสองคนไปอยู่ด้วย หรือจะเอาหลานไปช่วยเลี้ยง แต่ผู้เป็นพ่อไม่ยอม เมื่อเกิดปัญหารุมเร้ามากก็เกิดความเครียด ยืนยันว่าทางโรงเรียนและชุมชนไม่ได้ละเลย แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับเจ้าตัวด้วย เพราะที่ผ่านมาผู้เป็นพ่อไม่เคยไปขอความช่วยเหลือหรือปรึกษากับใคร แต่กลับตัดสินใจก่อเหตุสลดขึ้น ทางโรงเรียนก็เสียใจและไม่อยากให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น
ด้านนางสมปอง สุขทวี ครูสอนวิชาภาษาไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาระหว่างการเรียน เด็กมักจะขาดเรียนบ่อยครั้ง คาดว่าน่าจะมีปัญหาเรื่องการเงิน น้องข้าวจะเดินมาโรงเรียนตั้งแต่ตอนเช้า แทบทุกครั้งจะมีภารโรง หรือครูในโรงเรียนถามว่า เอาเงินมาโรงเรียนกี่บาท ถ้าน้องบอกว่าเอามา 5 บาท ครูหรือภารโรงจะเอาเงินเพิ่มให้เป็น 10 บาท หรือ 20 บาทเป็นประจำ โชคดีที่โรงเรียนมีอาหารกลางวัน ทำให้น้องข้าวอิ่มท้องไปได้ แต่ปัญหาลึกๆ ยอมรับว่าไม่รู้จะมีมากแค่ไหน
วันเดียวกัน น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ หรือ ครูจุ๊ย กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ซึ่งเป็นผู้ที่เคลื่อนไหวผลักดันเรื่องการปฏิรูปการศึกษา ให้สัมภาษณ์ว่า ตนคิดว่าเรื่องนี้เกี่ยวพันกับหลายหน่วยงาน จากที่ทราบครอบครัวนี้ไม่มีไฟฟ้าใช้มา 3 ปีแล้ว และอยู่ในสภาวะยากจนมาเป็นระยะเวลานาน นั่นหมายถึงว่า หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเข้าไม่ถึงครอบครัวนี้เลย นี่คือ 1 ปัญหาที่เราพบจากข่าวนี้ นอกจากนี้พบอีกปัญหาหนึ่ง คือน้องกำลังเขียนจดหมายขอทุนเรียนดีของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งแปลว่าครอบครัวนี้สามารถเข้าถึงโอกาสได้รับการช่วยเหลือบ้าง แต่สุดท้ายกลับไม่ทัน และมาจบชีวิตเสียก่อน

เผาพ่อลูก – ชาวบ้านร่วมพิธีฌาปนกิจนายไพบูลย์ โจมรัมย์ อายุ 31 ปี และด.ญ.ลูกสาววัย 10 ขวบ ผูกคอเสียชีวิตคู่กันในบ้าน สาเหตุความยากจน ไม่มีเงินไปโรงเรียน ท่ามกลางความเศร้าสลดที่วัดสาวเอ้ ต.หินเหล็กไฟ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 5 ส.ค.
น.ส.กุลธิดากล่าวต่อว่า สัญญาณเหล่านี้เป็นการส่งสัญญาณที่น่ากังวล น่าเป็นห่วง และเป็นสัญญาณที่รุนแรงส่งถึงสังคมแล้วว่า กลไกภาครัฐยังไม่ฟังก์ชันได้ดีเพียงพอ และกลไกชุมชนในสังคมก็ไม่สามารถช่วยกันได้ ส่วนหนึ่งคนในสังคมรอบตัวอาจจะเจอความยากลำบากเช่นกัน จึงไม่รู้ว่าจะช่วยเหลือครอบครัวนี้อย่างไร และอาจจะเข้าไม่ถึงองค์ความรู้ว่า ถ้าช่วยไม่ได้แล้ว จะสามารถไปติดต่อทางไหน หน่วยงานไหน เพื่อช่วยเหลือครอบครัวนี้บ้าง ซึ่งก็วนกลับมาเรื่องเดิมว่ารัฐยังทำหน้าที่ไม่ดีพอ เรื่องนี้เป็นหน้าที่โดยตรงของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ตนเข้าใจว่าทางโรงเรียนพยายามช่วยเหลือน้องเต็มที่แล้ว ไม่อย่างนั้น น้องจะไม่มีใบสมัครทุนกสศ. แต่สิ่งที่อยากให้ทบทวนมากๆ คือ ไม่ว่าจะเป็นกลไกช่วยเหลือจากพม. และกลไกการขอทุนของนักเรียนยากจนที่อาจจะทบทวนกระบวนการว่า จะทำยังไงให้กระบวนการช่วยเหลือเกิดขึ้นเร็วที่สุด เพราะบางชีวิตเขารอไม่ได้ และครอบครัวนี้เขาก็รอมาแล้ว 3 ปี
“คิดว่าสังคมต้องตื่น แล้วถ้ารัฐยังทำไม่ได้ดีพอ พวกเราในฐานะประชาชนต้องเรียกร้องให้รัฐจัดการเรื่องนี้ให้ได้ประสิทธิภาพที่ดีกว่านี้ ให้เร็วกว่านี้ ให้เข้าถึงตัวเด็กไวกว่านี้ ไม่ควรมีเด็กหรือใครที่ต้องตายเพราะความจน เราอยู่ในสังคมที่ต้องดูคนตายต่อหน้าต่อตา เพราะเขาไม่มีเงินจะใช้ชีวิต และถ้าเรามองภาพใหญ่ จะพบว่าในประเทศเราจะมีเด็กที่ยากจนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นสวัสดิการต่างๆ เช่นการไปโรงเรียนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายทางตรงหรือแอบแฝง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องจำเป็นมาก ถ้าเด็กทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสได้มากขึ้น เรื่องนี้จะไม่เกิดขึ้น” น.ส.กุลธิดากล่าว
น.ส.กุลธิดากล่าวต่อว่า เราไม่สามารถคาดหวังว่าภาครัฐ โดยเฉพาะส่วนกลางทำทั้งหมดได้ แต่ส่วนกลางสามารถกระจายอำนาจ และสนับสนุนกลไกของพื้นที่ที่เป็นกลไกใยแมงมุมที่ทราบปัญหาของพื้นที่ดี ให้มาทำงานร่วมกับชุมชน หน่วยงานในท้องที่ เพื่อที่จะสามารถจำแนก แยกแยะ และช่วยเหลือคนที่ยากลำบากให้เร็วกว่านี้ ทั้งนี้ตนมองว่าไม่ใช่เรื่องของระเบียบเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการลงทำงานกับชุมชน เพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างรวดเร็ว ที่จะป้องกันปัญหา เคสนี้น่าโกรธ เพราะปัญหานี้เราป้องกันได้ แต่เราทำไม่ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่ายังมีอีกหลายครอบครัวทั่วประเทศที่ประสบกับสถานการณ์เช่นนี้หรือไม่ น.ส.กุลธิดากล่าวว่า ตนเห็น 2 ปรากฏการณ์ 2 แบบ คือ 1.เราจะเห็นเคสเหล่านี้มากขึ้น ด้วยโซเชี่ยลมีเดียที่มีมากขึ้น เช่นเคสของน้องเตยที่อยู่กับคุณย่าตาบอด เป็นต้น และ2.เราเริ่มเห็นความรุนแรงในครอบครัวที่แสดงออกมาในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ การใช้ความรุนแรงกับเด็กที่มีเพิ่มมากขึ้น ทั้ง 2 ปรากฏการณ์นี้ สะท้อนให้เห็นว่าสถาบันครอบครัวในประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันครอบครัวที่มีสถานะทางสังคมที่แย่กว่ามาตรฐาน บ้านไหนที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน นอกจากไม่สามารถดูแลครอบครัวของตนได้แล้ว ยังจะสร้างปัญหาอื่นตามมา เนื่องจากสภาพความเป็นอยู่บีบบังคับให้ครอบครัวนั้นมีคุณภาพที่แย่ลงเรื่อยๆ ตนคิดว่าถ้าเราไม่แก้ด้วยการมองแบบทั้งระบบ ไปแก้ปะผุทีละจุด ปัญหาไม่มีทางหายไป ยังไงต้องรื้อทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็น ระบบงบประมาณ ระบบราชการ ระบบการศึกษาที่จะต้องเป็นพื้นที่ให้กับเด็กๆ ระบบสาธารณสุขที่จะมารองรับเมื่องเขาพบเจอปัญหา และระบบของพม.ที่จะเข้าไปช่วยเหลือพวกเขา ซึ่งระบบต่างๆ จะต้องทำงานด้วยกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ
“ถึงเวลาที่รัฐต้องเห็นว่าปัญหาเหล่านี้ไม่มีวันที่จะแย่ลงน้อยกว่านี้ มีแต่จะหนักกว่านี้ เพราะสิ่งที่เราเจออยู่ คือวิกฤตหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ครอบครัวจำนวนมากต้องยากจนด้วยสภาวะทางเศรษฐกิจ และถ้าเรามองผ่านแว่นของเศรษฐศาสตร์ ต้นทุนของการดูแลคนให้สามารถใช้ชีวิตเหนือเส้นความยากจน มันถูกกว่าต้นทุนที่จะไปรักษาเขาเมื่อเขาเป็นโรค ไปแก้ปัญหาเมื่อเด็กและครอบครัวแตกสลายไปแล้ว อยากส่งสัญญาณให้หน่วยงานรัฐเร่งทำงานให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ อย่างๆ น้อย อยากให้เคสนี้ ทำให้เห็นว่ารัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาแบบลูบหน้าปะจมูกได้อีกแล้ว” น.ส.กุลธิดากล่าว