ให้ที่ประชุมเคาะ ปชป.เลือดยังไหล

‘เศรษฐา’ ควง 2 รมช.คลัง แถลงใหญ่แก้หนี้ทั้งระบบ ทั้งหนี้ข้าราชการ-ชาวบ้าน ขณะที่ รมว.แรงงานชงขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเข้าครม.วันนี้ ก่อนนำมาหารือในไตรภาคี อีกครั้ง ปชป.เลือดไหลไม่หยุด ไขก๊อกตาม ‘มาร์ค’ อีกล็อต ‘อรอนงค์-สาทิตย์-อัญชลี- วิทเยนทร์’รุมจวกผู้นำไม่รักษาสัจจะ ซัดกก.บห.ชุดใหม่กินรวบเฉพาะกลุ่ม ‘ชัยธวัช’ จ่อนัดถกพรรคร่วมฝ่ายค้าน ลุยงานเปิดสภา กั๊กยื่นซักฟอกรัฐบาลหรือไม่ กมธ.ตำรวจเรียกตัวแทนราชทัณฑ์-ร.พ.ตำรวจ-ผู้ร้อง เข้าชี้แจงปม ‘ทักษิณ’ รักษาตัวนอกเรือนจำ 14 ธ.ค.นี้

‘นิด-2รมช.’แถลงแก้หนี้ทั้งระบบ
เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ประกาศให้การแก้ปัญหาหนี้สินเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีการแถลงแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ที่ทำเนียบรัฐบาล ไปแล้วเมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ล่าสุดในวันที่ 12 ธ.ค. เวลา 14.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา พร้อมด้วย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี, ปลัดกระทรวงการคลัง, ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.), เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.), ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.), ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน, ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เป็นต้น ร่วมกันแถลงข่าวการจัดการหนี้ทั้งระบบ

คาดว่าการแถลงข่าวการแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบ จะเป็นไปตามที่นายกฯ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า จะแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อยทั้งหนี้กองทุนเงินให้ กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) หนี้ครู หนี้นอกระบบ หนี้เกษตรกร และหนี้สิน ของ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เป็นต้น

‘พิพัฒน์’ชงขึ้นค่าแรงเข้าครม.
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายเศรษฐาสั่งให้ทบทวนมติการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 โดยไตรภาคีของกระทรวงแรงงาน ประชุมร่วมกันและมีมติเป็นเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา เห็นชอบปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2566 โดยเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำทั้ง 77 จังหวัด ในอัตรา 2-16 บาท โดยนายกฯ ให้เหตุผลว่าการปรับขึ้นเพียง 2 บาท ต่อวันนั้นต่ำเกินไปว่า ตนในฐานะรมว.แรงงาน มีหน้าที่ในการนำมติในที่ประชุม คณะกรรมการค่าจ้างที่ได้รับพิจารณาเห็นชอบร่วมกันของไตรภาคีทั้งสามฝ่าย คือ ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายข้าราชการประจำ เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งตนยืนยันว่า 12 ธ.ค. จะนำมติดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เพื่อรับทราบ ส่วนครม. จะมีความเห็นอย่างไรนั้น ต้องนำมาหารือกันภายในไตรภาคี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 78 ระบุว่า ให้มีคณะกรรมการค่าจ้าง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล 4 คน ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละ 5 คนซึ่งครม.แต่งตั้งเป็นกรรมการ และข้าราชการกระทรวงแรงงาน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นเลขานุการ โดยมีอำนาจกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

โดยมาตรา 87 ระบุว่า ในการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้คณะกรรมการค่าจ้างศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริง เกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่นโดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม และมาตรา 88 กำหนดว่าเมื่อได้ศึกษาข้อมูลและพิจารณาข้อเท็จจริงตามที่กำหนดไว้ใน มาตรา 87 แล้วให้ คณะกรรมการค่าจ้างประกาศกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหรืออัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือโดยเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ปชป.เลือดไหลไม่หยุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งก่อนผลการเลือกตั้งจะออกมา นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคได้เสนอชื่อ มาร์ค-นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคลงแข่งขัน แต่นายอภิสิทธิ์ขอปิดห้องคุยกับนายเฉลิมชัยเป็นเวลา 10 นาที จากนั้น นายอภิสิทธิ์ถอนตัวจากการลงชิงหัวหน้าพรรคและลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์

ขณะที่ มาดามเดียร์-น.ส.วทันยา บุนนาค ที่ประชุมไม่โหวตให้ลงสมัคร เนื่องจากเป็นสมาชิกพรรคได้ไม่ถึง 5 ปี และไม่ได้เป็น สส. ในที่สุดนายเฉลิมชัยได้เป็นหัวหน้าพรรค จากนั้นมีสมาชิกอีกหลายคนลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ตามนายอภิสิทธิ์ ได้แก่ นายสาธิต ปิตุเตชะ อดีตรองหัวหน้าพรรค และอดีตรมช.สาธารณสุข นายสุรันต์ จันทร์พิทักษ์ อดีต สก. และอดีตสส. นายธนวัช ภูเก้าล้วน อดีตผู้สมัคร สส. กระบี่ เขต 1 นางกาญจนี วัลยะเสวี หรือ “ไฮโซติ๊งต่าง” แม่ยกพรรคประชาธิปัตย์

ล่าสุดวันที่ 11 ธ.ค.มีสมาชิกทยอย ลาออกอีก ได้แก่ น.ส.อรอนงค์ กาญจน ชูศักดิ์ อดีตสส.กทม. โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า สจฺจํ เว อมตา วาจา ขอบพระคุณท่านหัวหน้าอภิสิทธิ์ ที่เป็นแบบอย่างนักการเมืองที่ดีมาโดยตลอด ยังคงรัก ศรัทธา และเป็นกำลังใจให้ท่านหัวหน้าตลอดไป

25 ปีกับชีวิตนักการเมืองที่ไม่เคยเปลี่ยนพรรค พูดได้เต็มปากว่า เลือดฟ้า มันข้น กรีดมายังงัยก็ฟ้าแน่นอน

ตุ๋ยยังคงรักพรรคไม่เสื่อมคลาย แม้ วันนี้ต้องตัดสินใจที่ฝืนความรู้สึก ด้วยการ ลาออกจากสมาชิกพรรคที่รักที่สุด แต่จะไม่ไปไหน ยังคงอยู่ตรงนี้ เฝ้ามองด้วยความหวังดีและห่วงใยตลอดไป

ต่อมา นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย เปิดเผยทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า คิดหนักมา 2 วัน แม้ยังยึดมั่นในอุดมการณ์ แต่ในวันที่จิตวิญญาณประชาธิปัตย์มิอาจเปล่งประกาย หลังหารือทีมงานที่สู้ร่วมกันมากว่า 28 ปี จึงตัดสินใจลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ด้วยรักและผูกพัน

‘สาทิตย์’ซัดกก.บห.ใหม่กินรวบ
นายสาทิตย์เปิดเผยเหตุผลถึงการ ตัดสินใจครั้งนี้ว่า สืบเนื่องจากกรณีที่ นายอภิสิทธิ์ ตัดสินใจลาออกจากสมาชิกพรรคระหว่างการประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อ วันที่ 9 ธ.ค. ซึ่งถือเป็นการเปิดมิติใหม่คือลาออก แต่ไม่ไปอยู่ที่ไหนหรือสังกัดพรรคการเมืองใด โดยให้เหตุผลว่าหากอยู่จะเป็นที่หวาดระแวงของคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดใหม่ ซึ่งตนมองเหตุผลคือต้องการเปิดพื้นที่หรือเปิดทาง ให้กก.บห.ชุดนี้ทำงานโดยไม่ต้องหวาดระแวงในตัวเอง ส่วนการตัดสินใจของตนเกิดขึ้นหลังจากที่เห็นกระบวนการตั้งกก.บห. และมองว่าไปอย่างนี้ไม่ได้เพราะการเลือกตั้งกก.บห.ครั้งนี้แตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา คือไม่ได้มีตัวแทนจากทุกกลุ่มที่เข้ามาจนกลายเป็นระบบพรรคพวก

“ไม่ใช่จิตวิญญาณของพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยเป็นหรือที่พวกเรารู้จักมาตลอด ผมจึงต้องลาออกมาก่อนเพื่อแสดงให้รู้ว่าเราต้องการจิตวิญญาณพรรคที่ แท้จริง และชี้ให้เห็นว่าจิตวิญญาณแบบนี้ไม่ได้ แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจไปไหนหรือทำอะไร เพียงแต่ออกมาเพื่อจะถอยมาตั้งหลัก และดูเหตุการณ์ว่าพรรคจะดำเนินการไปอย่างไรต่อไป” นายสาทิตย์กล่าว

โต้‘ชัยชนะ’-ไม่รักพรรคจริง
ผู้สื่อข่าวถามกรณีที่นายชัยชนะ เดชเดโช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ภาคใต้ ระบุว่าหากรักพรรคจริงต้องอยู่พรรคต่อเพื่อช่วยกันฟื้นฟูพรรค นาย สาทิตย์กล่าวว่า ขอย้อนกลับไปว่าหากรักพรรคจริงต้องไม่ทำแบบนี้มาตั้งแต่ต้น จะเห็นว่าคนที่ลาออกไปหลายคนใน 2-3 วันนี้ เป็นลูกหม้อของพรรคที่อยู่มายาว นานทั้งนั้น สำหรับตนเข้ามาอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่เป็นยุวประชาธิปัตย์ตอนเรียนมหาวิทยาลัย และเป็น กก.บห.พรรคสาขาตรัง ตั้งแต่อายุครบเกณฑ์ และมาลงสมัครสส.ตั้งแต่ปี 2538 ได้เป็นสส.ยาวนานตลอดมาถึงการเลือกตั้งครั้งที่แล้วทั้งหมด 7 สมัยร่วม 28 ปี หากนับรวมๆ แล้วตนอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์มาถึง 40 กว่าปี ซึ่งตนเชื่อว่าจะมีอีกหลายคนที่จะทยอยลาออกตามมาอีกจำนวนมาก

“ผมขอฝากถึงคนที่อยู่กับพรรคต่อไปว่า ต้องตั้งคำถามให้หนักว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เกิดจากอะไร ขออย่าไปโทษคนอื่นว่าเขาไม่รักพรรคหรือไม่ห่วงพรรค ไม่ยอมไม่เข้ามาช่วยกันฟื้นฟู ต้องมองให้พ้นตัวเองออกไปว่าทำไมคนที่เขาอยู่กับพรรคมายาวนาน จึงพร้อมใจกันคิดแบบนี้ อย่ามองในมุมของตัวเองเท่านั้น หรือมองไม่ผ่านจุดนี้ ยากที่จะฟื้นฟูพรรคขึ้นมาใหม่อีกครั้ง” นายสาทิตย์กล่าว

‘อัญชลี’ละอายใจผู้นำผิดสัจจะ
นางอัญชลี วานิช เทพบุตร อดีต สส.ภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) โพสต์เฟซบุ๊กว่า สจฺจํ เว อมตา วาจา คำสัตย์แลเป็นวาจาไม่ตาย .. ถือเป็นคติพจน์ที่ชาวประชาธิปัตย์ทุกคนยึดมั่นในการปฏิบัติตนทางการเมืองมาโดยตลอด ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งพรรคในปีพ.ศ.2489 ตั้งแต่หัวหน้าพรรคคนที่ 1 จนกระทั่งถึงคนที่ 8

ดิฉันเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่ปีพ.ศ.2535 จวบจนปัจจุบัน 2566 กว่า 31 ปี ด้วยความมั่นคงไม่หวั่นไหวและเป็นนักการเมือง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์มาตลอดชีวิตการเป็นนักการเมืองด้วยความภาคภูมิใจในหลักการ..ในอุดมการณ์ที่ซื่อตรงและคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลักเสมอมา ทุกครั้งจะบอกพี่น้องประชาชน มวลสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นของประชาชน..โดยประชาชน ..เพื่อประชาชน

จวบจน..9 ธ.ค.2566 มีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ ที่จะเป็นผู้นำของพรรคประชาธิปัตย์.. กลับเป็นผู้ “เสียสัตย์” ในสัจวาจาว่า จะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต

เมื่อผู้นำพรรคยุคนี้..ไม่อาจดำรงคติพจน์แห่งพรรค อุดมการณ์ของพรรค ไม่อาจรักษา สัจวาจาแห่งตนได้

ดิฉันจึงขอลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์นับแต่บัดนี้ เพราะละอายใจต่อมวลสมาชิกที่ซื่อตรงต่อพรรค เพื่อนผู้ร่วมอุดมการณ์ของพรรค พร้อมขอขอบคุณพรรคประชาธิปัตย์ มวลสมาชิกพรรค เพื่อนผู้ร่วมอุดมการณ์ทางการเมืองที่ร่วมกันมั่นคงต่อพรรคมาจนถึงวันนี้ จนกว่าเราจะพบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ

จวกเหมือนร่างไร้จิตวิญญาณ
นายวิทเยนทร์ มุตตามระ อดีตผู้สมัคร สส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ตนกลับจากต่างประเทศเมื่อวานเย็น (10 ธ.ค.) ตั้งใจว่า วันที่ 12 ธ.ค. จะส่งหนังสือลาออกไปที่นายทะเบียนพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งนี้ตนสมัครเป็นสมาชิกประชาธิปัตย์เมื่อปี 2549 แบบวอล์กอิน ไม่รู้จักใครไม่มีเส้นสาย ด้วยความเชื่อมั่นในอุดมการณ์และความเป็นสถาบันของพรรค

ผมเดินเข้าพรรคด้วยความตั้งใจจะทำงานเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ได้รับโอกาสจากพรรคให้ทำหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในปี 2552-2554 ทำหน้าที่รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยแห่งชาติในปี 2552-2553 และเป็นผู้อำนวยการศูนย์อาสาฯ คนไทยช่วยน้ำท่วมในปี 2554 ทั้งหมดเป็นประสบการณ์การเมืองที่มีค่า ภูมิใจ และขอบคุณพรรคประชาธิปัตย์ที่ให้โอกาส

“วันนี้ผมยังยึดมั่นในอุดมการณ์และจะมีชีวิตอยู่อย่างคนมีศักดิ์ศรีและอุดมการณ์ไปตลอดชีวิต และเชื่อเสมอว่าพรรค การเมืองต้องมีอุดมการณ์และจุดยืน หากไร้ซึ่งอุดมการณ์ก็เสมือนร่างที่ไร้จิตวิญญาณ” นายวิทเยนทร์ กล่าว

‘มาร์ค’ยันไม่มีพรรคอื่น
นอกจากนี้ มีสมาชิกจำนวนหนึ่งได้แสดงความจำนงขอลาออกจากสมาชิกพรรค เช่น นายวิบูลย์ ศรีโสภณ ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ตลอดชีพตั้งแต่ 22 ธ.ค.2541 โดยในหนังสือระบุถึงสาเหตุขอลาออก ว่า 1.อุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ เปลี่ยนไป เน้นใช้เงินสร้างพรรรคและสส.ในสมาชิกพรรค 2.หัวหน้าพรรคตระบัดสัตย์ ไม่รักษาคำพูดไม่สามารถให้การเคารพได้อีกต่อไป และ 3.หัวหน้าพรรคสร้างทัศนคติให้สส.ในพรรคขาดความเคารพ กระด้างกระเดื่องกับอดีตหัวหน้าพรรค สร้างความแตกแยกในพรรค ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนตลอด 77-78 ปี

ช่วงเย็นวันเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ภาพขณะกำลังไหว้พระแม่ธรณีบีบมวยผม พร้อมระบุข้อความว่า “ผมไม่มีพรรคอื่น เป็นลูกพระแม่ธรณี ที่จะเอาอุดมการณ์ประชาธิปัตย์ รับใช้บ้านเมืองต่อไป”

ลูกพระแม่ธรณี – นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค และสมาชิกปชป. โพสต์ภาพขณะกำลังไหว้พระแม่ธรณีบีบมวยผม พร้อมข้อความ“ผมไม่มีพรรคอื่น เป็นลูกพระแม่ธรณี ที่จะเอาอุดมการณ์ประชาธิปัตย์ รับใช้บ้านเมืองต่อไป” เมื่อ 11 ธ.ค.

ติ๊กต็อกชัยชนะโดนถล่มยับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ใน Tiktok ชื่อ C.D (ชัยชนะ เดชเดโช) รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็โดนถล่มยับเยิน เช่น จบแล้ว, ไม่เลือกแล้ว, แบบนี้เลือกตั้งครั้งหน้าเป็นผล, สมัยหน้าเหลือ 5 คน เป็นต้น

ด้านนายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ เฟซบุ๊กว่า “สจฺจํ เว อมตา วาจา. “คำสัตย์แล เป็นวาจาไม่ตาย” คำขวัญที่ ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

วันนี้ท่านอดีตหัวหน้าอภิสิทธิ์ ได้พิสูจน์ให้ชาวประชาธิปัตย์เห็นแล้วว่าคำว่าสัจจะมีความหมายเพียงใด ท่านไม่เพียงแค่พูด แต่ท่านได้แสดงให้เห็น วันนี้คงเป็น อีกหนึ่งวันที่ชาวประชาธิปัตย์หลายๆ คนรวมถึงตัวผมเองต้องคิดทบทวนบทบาทของตัวเองอีกครั้งหนึ่งครับ และขอให้พี่น้องมั่นใจผมจะยังคงทุ่มเททำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนต่อไป

รทสช.จัดแถวรับเปิดสภา
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ว่า พรรครวมไทยสร้างชาติได้เรียกประชุมสส.ในวันที่ 12 ธ.ค. เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดการประชุมสภา เพื่อรับฟังความเห็นจากสส.ประมวลมาเป็นความเห็นของพรรค เพื่อนำมติพรรคไปหารือกับคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เกี่ยวกับการนำร่าง พ.ร.บ.ต่างๆ ที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมนี้ ซึ่งจะเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค.เป็นต้นไป เพื่อลำดับความสำคัญของร่างกฎหมายที่จะนำเข้าพิจารณา

สำหรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ถือเป็นกฎหมายเร่งด่วนที่ต้องเร่งนำมาพิจารณา ซึ่งครม.แจ้งว่าจะส่งเข้าพิจารณาในสภาวันที่ 4 ม.ค.2567 สภาจะต้องเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จ จากนั้นมีร่างพ.ร.บ.ที่สำคัญอีกหลายฉบับในสมัยประชุมสภานี้ ทั้ง พ.ร.บ.การกู้เงินเพื่อใช้ในโครงการแจกเงินดิจิทัล พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือร่างพ.ร.บ.อื่นๆ ที่ครม.เห็นชอบแล้ว รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อยู่ในช่วงที่คณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้นกำลังพิจารณารายละเอียดในขั้นตอนการดำเนินการ

“พรรครวมไทยสร้างชาติมีความพร้อมในการพิจารณากฎหมายต่างๆ ที่จะเข้าสภาในการประชุมพรรควันที่ 12 ธ.ค.นี้จะเป็นการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อม เพื่อนำมติพรรคไปหารือกับทางวิปรัฐบาล บอกถึงการลำดับความสำคัญของการนำร่างกฎหมายเข้าพิจารณาในสภา อย่างพ.ร.บ.งบประมาณ ถือว่าสำคัญมากควรเร่งพิจารณา เพื่ออัดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เป็นกลไกหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ถือว่าสำคัญน้อยกว่า ยังไม่ควรนำมาพิจารณาก่อน เป็นต้น ควรพิจารณาเรียงลำดับความสำคัญจากมากไปหาน้อย” นายอัครเดชกล่าว

ติวเข้ม – พรรคก้าวไกลจัดประชุมเตรียมความพร้อม การทำงานก่อนเปิดประชุมสภา นำโดยนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค เพื่อวางแนวทางการทำงาน กำหนดวาระก้าวหน้าที่จะขับเคลื่อนในสมัยประชุมสภานี้ ที่พรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.

ก้าวไกลติวสส.-ดันกม.ก้าวหน้า
ที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) จัดประชุมเตรียมความพร้อมการทำงานก่อนเปิดประชุมสภา ในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ นำโดย นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โดยมี สส.พรรคก้าวไกล เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น ความรู้ และแบ่งปันประสบการณ์การทำงานทั้งเชิงพื้นที่และเชิงประเด็นในช่วงปิดสมัยประชุมที่ผ่านมา

วัตถุประสงค์ของการประชุมครั้งนี้ เพื่อวางแนวทางการทำงาน กำหนดวาระก้าวหน้าที่จะขับเคลื่อนในสมัยประชุมสภาที่กำลังจะเปิด โดยพรรคก้าวไกลจะอาศัยทุกกลไกทั้งในและนอกสภา เช่น การยื่นร่างกฎหมายเปลี่ยนประเทศ กลไกกรรมาธิการ (กมธ.) การทำงานในพื้นที่ การใช้ช่องทางการสื่อสารเชื่อมพรรคกับประชาชน เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นผู้แทนราษฎรแห่งความเปลี่ยนแปลงตามที่ประชาชนคาดหวัง

การประชุมครั้งนี้ มีนายวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ก้าวไกล พร้อมด้วย สส.บัญชีรายชื่อ ได้แก่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ และนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ร่วมบรรยายหัวข้อต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางการทำงานแก่ สส.

ช่วงหนึ่ง นายวิโรจน์เสนอว่าพรรค ก้าวไกลต้องการใช้กลไก กมธ. เพื่อทำงานเชิงรุก เป็นช่องทางในการตรวจสอบและประสานแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน ด้านนายณัฐพงษ์ได้กล่าวถึงการพัฒนาเครื่องมือดิจิทัล เพื่อใช้ในการสื่อสารกับ พี่น้องประชาชนอย่างแอพพลิเคชั่น MFP Today รวมถึงการวางรากฐานของระบบอาสาสมัคร เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของพรรคและของ สส. ในอนาคต

‘ชัยธวัช’จ่อนัดถกพรรคฝ่ายค้าน
นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงการหารือกันระหว่างพรรคฝ่ายค้านในการอภิปรายเมื่อเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้หัวหน้าพรรคคนใหม่แล้วว่า เมื่อสภาเปิดสมัยประชุมในสัปดาห์หน้าพรรคฝ่ายค้านคงมีการคุยกันใกล้ชิดมากขึ้น จากเดิมสมัยประชุมที่แล้วมีการประชุมอย่างไม่เป็นทางการร่วมกัน ซึ่งคิดว่าต้องรอกระบวนการโปรดเกล้าฯ ผู้นำฝ่ายค้าน เมื่อได้ผู้นำฝ่ายค้านชัดเจนอย่างเป็นทางการควรมีการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างเป็นทางการด้วย ในขณะนี้กระบวนการโปรดเกล้าฯ ยังไม่เรียบร้อย แต่การทำงานในสภาต้องเริ่มแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นหัวหน้าพรรค คนใหม่ จะทำให้การหารือกันง่ายขึ้น หรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า คงเหมือนเดิม ไม่ว่าหัวหน้าพรรคจะเป็นใคร ต่อข้อถามว่าหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ดูจะเป็นอุปสรรคสำหรับการทำงานของ ฝ่ายค้านหรือไม่ เนื่องจากมีกระแสข่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์กำลังหาช่องที่จะไปร่วมรัฐบาล นายชัยธวัชกล่าวว่าการทำงานร่วมกันต้องให้เกียรติกัน ถ้ามัวแต่ไม่ไว้วางใจต่อกันโดยไม่จำเป็นคงไม่สร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดีร่วมกัน

กั๊กยื่นซักฟอกรัฐบาลหรือไม่
ต่อข้อถามว่า เนื่องจากการเปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ จะเป็นสมัยประชุมสุดท้ายของปีนี้ ฝ่ายค้านเตรียมการไว้สำหรับการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือการเปิดอภิปรายทั่วไปในช่วงเวลาใด นายชัยธวัชกล่าวว่า ในช่วงต้นที่สภาเปิดคงให้ความสำคัญกับการพิจารณากฎหมาย ทั้งร่างกฎหมายของครม. ร่างกฎหมายที่พรรคการเมืองต่างๆ และร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอเข้ามา เนื่องจากสภาสมัยที่แล้วไม่ได้พิจารณาร่างกฎหมายเลย ขณะนี้มีร่างกฎหมายหลายฉบับที่จ่อเข้าอยู่รวมถึงของรัฐบาลด้วย

นอกจากนี้ ยังมีวาระสำคัญใน การพิจารณาวาระสำคัญในร่างพ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 เมื่อพิจารณาพ.ร.บ.งบประมาณ คาดว่าน่าจะเสร็จภายในช่วงเดือนมี.ค.2567 ก่อนที่จะมีการปิดสมัยประชุมอีกครั้ง น่าจะทำให้เรามีเวลาในการอภิปรายใหญ่ได้ แต่จะเป็นการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ หรือเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ คงมีการหารือกับพรรค ร่วมฝ่ายค้านอีกครั้ง ขึ้นอยู่กับเนื้อหา ข้อเท็จจริง ข้อมูล ในการทำงานของ ฝ่ายค้านว่ามีความพร้อมมากน้อยเพียงใด

เมื่อถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่ต้องใช้สิทธิ์ของฝ่ายค้านในการอภิปราย หรือหากไม่มีประเด็นก็ไม่เปิดอภิปราย นายชัยธวัชกล่าวว่า เอาเนื้อหาเป็นหลัก ส่วนประเด็นที่จะเปิดอภิปรายนั้นยังต้องใช้เวลา แต่ในฐานะฝ่ายค้านควรใช้โอกาสในสภาตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของฝ่ายบริหารให้เป็นประโยชน์ที่สุดกับพี่น้องประชาชน

ชี้สภามีอำนาจแก้ ม.256
นายชัยธวัชกล่าวถึงแนวทางที่พรรคเพื่อไทย (พท.) มีแนวคิดในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 โดยขัดกับคำวินิจฉัยเดิมของศาลรัฐธรรมนูญว่า จุดยืนของพรรคก้าวไกลเห็นว่าสภามีอำนาจโดยสมบูรณ์ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ไม่ได้วินิจฉัยว่าต้องทำ แต่แนะนำให้ทำประชามติก่อน

ข้อเสนอของพรรคก้าวไกลเสนอให้ทำประชามติตั้งแต่แรก ไม่ใช่เพราะเห็นว่าต้องทำตามการตีความ หรือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่คิดว่ามีประโยชน์ในทางการเมือง ไม่ต้องไปเสียเวลา ทำจนติดขั้นของ สว.ที่จะทำให้เสียโอกาส อย่าลืมว่าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 จะต้องผ่านเสียง 1 ใน 3 ของ สว.ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาสว.มีจุดยืนชัดว่าถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 266 ให้มีส.ส.ร.มาทำใหม่ทั้งฉบับควรต้องทำประชามติ

อีกหนึ่งมิติที่สำคัญคือเราสามารถใช้โอกาสในการทำประชามติครั้งแรกเพื่อหาฉันทามติร่วมกันของประชาชนได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยหรือไม่ เพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองกับ ข้อเสนอที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีส.ส.ร. ส่วนประเด็นที่ยังมีความคิดเห็นแตกต่างกันในสังคมสามารถใส่เข้าไปเป็นคำถามพ่วงของประชามติได้เพื่อหาข้อยุติในความเห็นที่แตกต่างกันตามกระบวนการประชาธิปไตย สิ่งนี้มีข้อดีของมัน

ย้ำควรทำประชามติตั้งแต่แรก
ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อกังวลจากฝ่ายรัฐบาลต่อคำถามพ่วงที่พรรคก้าวไกลเสนอ จะสามารถหาข้อยุติได้อย่างไร นายชัยธวัชกล่าวว่า เรื่องที่ควรมีคำถามพ่วงมาจากจุดยืนกับข้อเสนอของพรรคก้าวไกลที่เราอยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จริงๆ เราจึงไม่อยากให้ออกแบบคำถามหลักในการถามประชามติที่ใส่เงื่อนไขยิบๆ ย่อยๆ จนทำให้ประชาชนที่เห็นด้วยกับการทำธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่เห็นด้วยกับคำถามยิบย่อย มาโหวตไม่เห็นด้วย หรือโหวตไม่ประสงค์ลงคะแนน ดังนั้น คำถามหลักจึงควรเป็นคำถามที่กว้างและมีจุดร่วมมากที่สุด ส่วนประเด็นที่ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันให้มาถามที่คำถามย่อย แต่จะถามอะไรบ้างคิดว่ายังมีเวลาที่จะหารือกัน

เมื่อถามว่าการที่พรรคเพื่อไทยเปิดให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามามีบทบาทในส่วนนี้จะดูเหมือนการเตะถ่วง หรือดูไม่จริงใจกับการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า เราอาจมองได้ว่าการไปถามศาลรัฐธรรมนูญก่อน เป็นการเพิ่มความชัดเจนให้กับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ได้ อย่าไปมองมิติเดียว แต่อาจจะทำให้ใช้เวลามากจนเกินไป ซึ่งตนคิดว่าต้องอย่าไปทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นทุกอย่าง เป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ เพราะเราใช้ คำวินิจฉัยของเราเองได้ แต่ประเด็นสำคัญคือการหาแนวทางที่จะทำให้เราได้รับเสียง สว.เกิน 1 ใน 3 ได้อย่างไร ซึ่งเราสามารถใช้เสียงของพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ในการทำประชามติครั้งแรก เพื่อให้ สว.ยอมรับได้

‘เสี่ยอ้วน’แจงวงประชุมพท.
ด้านนายสรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้ว เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ระบุว่าจะมีการหารือในที่ประชุมพรรคเพื่อไทย ในวันที่ 12 ธ.ค. เกี่ยวกับการจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ในปัญหาการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า นายภูมิธรรมจะ เข้ามาชี้แจงในพรรคว่าจะขอทำประชามติแค่ 2 ครั้ง เพราะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายได้เยอะ เนื่องจากการทำประชามติแต่ละครั้ง ต้องใช้เงินจำนวนมากถึง 3,000-4,000 ล้านบาทเลย

เมื่อถามว่าคาดว่าในที่ประชุมพรรคจะได้ข้อยุติเลยหรือไม่ หรือเป็นแค่การวางแนวทางเบื้องต้นก่อน นายสรวงศ์กล่าวว่า คิดว่าน่าจะเป็นการวางแนวทางเบื้องต้นก่อน แต่หากไม่มีความเห็นที่แตกต่างก็น่าจะจบ

กมธ.ตำรวจนัดถกปม‘แม้ว’
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา ว่าใน วันที่ 14 ธ.ค. คณะกรรมาธิการ การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานกมธ.ได้นัดพิจารณาเรื่องร้องเรียน ขอให้ตรวจสอบการควบคุมนักโทษที่เข้ารับการรักษาพยาบาล และพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ โดยเชิญผู้แทนกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม, โรงพยาบาลตำรวจ และผู้ร้อง เข้าร่วมประชุมกับกมธ.

นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สส. สมุทรสาคร พรรคก้าวไกล รองประธานกมธ.ตำรวจ คนที่หนึ่งกล่าวว่า เรื่อง ดังกล่าวสืบเนื่องจากมีผู้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อกมธ. และคณะกรรมการกลั่นกรองของ กมธ. เห็นว่ามีประเด็นจึงเสนอและให้พิจารณาในวันที่ 14 ธ.ค. เบื้องต้นทราบว่าประเด็นผู้ที่ร้องนั้น เกี่ยวข้องกับกรณีของนายทักษิณ ชินวัตร ที่เข้าพักรักษาตัวที่ โรงพยาบาลตำรวจ

ผู้สื่อข่าวถามว่าเกี่ยวข้องกับระเบียบของกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับคุมขังในสถานที่คุมขังอื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ ตามพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ฉบับล่าสุดหรือไม่ นายณัฐพงษ์กล่าวว่า ยังไม่เห็น รายละเอียดเรื่องดังกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน