เข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เป็นวาระที่ 2 (ปี 2563-2567) ถือเป็นอีกโจทย์ใหญ่ของ ‘นายฉัตรชัย ศิริไล’ ต้องเร่งแก้ท่ามกลางวิกฤต โควิด-19 ที่รุมเร้าเศรษฐกิจไทยในขณะนี้

ที่ผ่านมาในวาระแรกถือว่าสอบผ่านอย่างสบายๆ สร้างผลงานและผลกำไรให้ธอส.อย่างต่อเนื่อง

อาทิ นโยบาย ‘บ้านล้านหลัง’ ให้คนไทยสามารถกู้บ้านในราคา 1-1.2 ล้านบาท และดึงผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ลงมาเล่นตลาดล่างมากขึ้น เป็นการเพิ่มโอกาสให้กับคนไทยในการมีบ้านได้ง่ายขึ้น

ล่าสุด (มิ.ย.2563) อนุมัติไปแล้ว 28,912 ราย วงเงิน 20,576 ล้านบาท

แก้พระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดทางให้ธนาคารสามารถออกสลากออมทรัพย์ เพื่อธนาคารสามารถระดมทุนมาปล่อยสินเชื่อ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติได้
พัฒนา ‘GHB ALL’ แอพพลิเคชั่นบนสมาร์ตโฟน อำนวยความสะดวกลูกค้า จ่าย-โอน ตรวจสอบสถานะหนี้ ได้สะดวกสบาย

ก่อนทิ้งท้ายครบวาระ 1 ด้วยมาตรการ 8.5 ดูแลลูกค้าที่ได้รับ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะมาตรการ ‘พักต้น-พักดอก’

“ผลจากโควิด-19 กระทบกับลูกค้าค่อนข้างมาก ต้องดูแลสถานการณ์ธนาคารในระยะสั้นปีนี้ให้รอดไปได้ก่อน ทำแผนเป็นระยะ 3 เดือน 6 เดือน หรือแผนสั้น กลาง ยาว ปีนี้จะทำอะไร ปีหน้าจะทำอะไร เพราะโลกเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว ไม่สามารถทำอะไรยาวๆ ได้” นายฉัตรชัยกล่าวและว่า ภารกิจอันดับแรกคือการดูแลลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้าที่มีรายได้น้อย รายได้ปานกลาง ที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักของธนาคาร ให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้

ขณะเดียวกันสถานการณ์ของธนาคารก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย ความเข้มข้นในการดูแลกลุ่มลูกค้าต้องแตกต่างกันไป ใครจะกลับมาเป็นปกติได้ ใครที่ต้องการความช่วยเหลือเพิ่ม ใครที่ดูท่าแล้วจะไปไม่ไหว ก็ต้องบริหารจัดการให้ตรงจุดนายฉัตรชัย ศิริไล

นายฉัตรชัยกล่าวถึงแผนช่วยเหลือลูกค้าว่า มาตรการ ธอส.ช่วยคนไทย ร่วมสร้างชาติ ครอบคลุมความช่วยเหลือทั้งการพักชำระเงินต้น พักชำระดอกเบี้ย และลดดอกเบี้ย เป็นต้น ณ วันที่ 16 ก.ค. มีลูกค้าเข้ามาตรการแล้วจำนวน 490,725 บัญชี วงเงินสินเชื่อ 488,024 ล้านบาท

มาตรการที่ 5 พักชำระเงินต้นและพักชำระดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 4 เดือน ลูกค้าที่ยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติได้ขยายเวลามาตรการออกไปสิ้นสุด ต.ค.2563 และหากผ่านความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คณะกรรมการ ธอส. ได้เห็นชอบให้ขยายออกไปถึงสิ้นปี 2563

เป็นการช่วยเหลือลูกค้า และรั้งสภาพหนี้เสียไม่ให้พุ่งขึ้นอยู่ในระดับน่าเป็นห่วงโดยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ล่าสุดอยู่ที่ 56,827 ล้านบาท คิดเป็น 4.52% ของยอดสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 ที่ 4.09% หรือเพิ่มขึ้น 0.43% พร้อมตีกรอบทั้งปี 2563 ต้องไม่เกิน 4.75%

แน่นอนว่าภาระหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้ธนาคารต้องยอมกำไรลดลงเพื่อดูแลลูกค้า

ในส่วนมาตรการพักหนี้ทำให้ธนาคารมีภาระกันสำรองเพิ่มขึ้นกว่า 2,500 ล้านบาท

ทำให้กำไรสุทธิทั้งปีลดลงเหลือ 8,227 ล้านบาท จาก 13,177 ล้านบาท

นายฉัตรชัยระบุว่า ในช่วง 6 เดือนที่เหลือของปีนี้ จะให้ความสำคัญกับการดูแลคุณภาพลูกหนี้ในกลุ่มที่เข้ามาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิด-19

ให้สาขาลงพื้นที่ดูแลลูกค้าเป็นรายคน ดูว่ากลุ่มไหนมีปัญหา ไม่สามารถผ่อนชำระได้ หลัง ครบกำหนดมาตรการพักหนี้ในเดือน ต.ค. จะช่วยเหลืออย่างไร

พร้อมยืนยันว่า ธอส.ไม่มีนโยบายยึดบ้านลูกค้าที่ผ่อนชำระไม่ไหว โดยเฉพาะในกลุ่มที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้ ขอให้ติดตามข่าวสารของธนาคารให้ดี โดยเฉพาะช่องทางแอพพลิเคชั่น GHB ALL

ถ้ารู้ว่าเริ่มผ่อนไม่ไหว ให้เข้ามาเจรจากับธนาคาร

สําหรับผลงานในช่วงครึ่งปีแรก แม้จะเหนื่อยหนักแต่ธอส.ทำได้ดีเกินคาดก็สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ 100,981 ล้านบาท คิดเป็น 62,116 บัญชี เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.99% คิดเป็น 50% ของเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ปี 2563 ที่จำนวน 210,000 ล้านบาท

ช่วง 6 เดือนแรกของปี ปล่อยสินเชื่อใหม่ที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 2 ล้านบาท สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางได้จำนวน 40,504 ราย

ทำให้ ณ สิ้นไตรมาสที่ 2/2563 เทียบกับ ณ สิ้นปี 2562 ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1,256,305 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.89%

สินทรัพย์รวม 1,300,881 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.52% เงินฝากรวม 1,060,970 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.76%

มีกำไรสุทธิจำนวน 4,831 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 14.87%

เนื่องจากธนาคารตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อความมั่นคง เตรียมความพร้อมกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในอนาคต และรองรับการจัดทำมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

แม้คณะกรรมการธนาคารมีมติเห็นชอบปรับเป้าหมายสินเชื่อปล่อยใหม่จากเดิม 210,000 ล้านบาท ลดลงเหลือ 170,000 ล้านบาท พยายามทำให้ได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายเดิม หรือปล่อยสินเชื่อ ให้ได้เดือนละ 18,000 ล้านบาท ในช่วงที่เหลือของปี

พร้อมกันนี้ นายฉัตรชัยระบุว่า ช่วง 6 เดือนที่เหลือของปีนี้ จะรุกแผนดิจิตอลเต็มตัว ทำแผน ‘GHB New Normal Services’ นำบริการทางการเงินและสินเชื่อไปให้บริการผ่านช่องทางดิจิตอลเพิ่มเติมผ่าน Application : GHB ALL

แบ่งเป็น 2 เฟส คือ เฟสที่ 1 บริการทางด้านการเงินและสินเชื่อ

เฟสที่ 2 จะเพิ่มบริการ อาทิ ชำระค่าธรรมเนียมต่างๆ

ส่วนแผนการบริหารจัดการด้านเงินฝากเพื่อรองรับการปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยการจำหน่ายสลากออมทรัพย์ ชุด “พิมานมาศ” หน่วยละ 50,000 บาท ให้ได้ตามเป้า 1,000,000 หน่วย ภายในเดือนก.ย.นี้

ล่าสุดจำหน่ายไปแล้วกว่า 380,000 หน่วย

ด้านบุคลากรและสาขาของธนาคาร ยืนยันว่าไม่มีแผนที่จะปรับลดจำนวนพนักงานและผู้ปฏิบัติงานของธนาคารซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 5,000 คน และไม่ลดสาขาที่มีกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ

แต่จะมุ่งพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้มีความสามารถ รองรับการให้บริการรูปแบบใหม่ให้ได้มากยิ่งขึ้น

การเข้ารับตำแหน่งนายใหญ่ในวาระที่ 2 ของนายฉัตรชัย ถือเป็นภารกิจที่ท้าทาย และน่าจับตามองว่าจะพานาวา ‘ธอส.’ ฝ่าวิกฤตไปได้ดีขนาดไหน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน