คอลัมน์ รอบด้านวงการพระ

โดย อริยะ เผดียงธรรม [email protected]

“สมาธิไม่ใช่ของศาสนาใด ไม่มีศาสนาใดผูกขาด สมาธิเป็นของคนมีศาสนา เป็นทั้งของคนไม่มีศาสนา โดยที่สุดแม้สัตว์เดรัจฉานก็ต้องอาศัยสมาธิ ถ้าเขาไม่มีสมาธิ เขาก็เอาชีวิตรอดมา ไม่ได้” สารธรรมมงคล พระราช สังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

เมื่อปี พ.ศ.2543 “หลวงปู่ตี๋ ญาณโสภโณ” อดีตเจ้าอาวาสวัดหลวงราชาวาส ต.อุทัยใหม่ อ.เมือง จ.อุทัยธานี พระเกจิลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง มีอายุ 88 ปี จัดสร้างวัตถุมงคล “เหรียญพระพุทธนิมิต” เนื้อเงิน 188 เหรียญ, เนื้อทองแดง 3,000 เหรียญ

ลักษณะเป็นเหรียญกลมขนาดใหญ่ ไม่มีหูห่วง ด้านหน้ามีขอบสองชั้น ตรงกลางเหรียญบรรจุพระคาถา อิติปิโส 56 พุทธคุณ เป็นรูปองค์พระพุทธ สองข้างองค์พระมียันต์นะ ใหญ่ หรือนะ เศรษฐี กำกับ พร้อมมีอักขระขอมใต้ยันต์นะใหญ่ และรอบขอบเหรียญมีอักขระขอมหัวใจพระคาถา มีโค้ดของวัดใต้รูปองค์พระ

ด้านหลังเหรียญมีขอบชั้นเดียว กลางเหรียญตีเป็นตารางบรรจุอักขระขอม 5 แถว ส่วนที่มุมทั้งสี่มีอักขระขอม นะ มะ พะ ทะ กำกับและใต้ขอบเหรียญมีอักษรไทย “เหรียญพระพุทธนิมิต ที่ระลึกหลวงปู่พระครูอุทัยธรรมกิจ (ตี๋ ญาณโสภโณ) วัดหลวงราชาวาส จ.อุทัยธานี” และยังมีเลขไทย ด้านซ้าย ๘๘ ด้านขวา ๔๓ ด้วย ปัจจุบันกำลังเป็นที่เสาะแสวงหา

เดือน พ.ย.2562 หลวงปู่บุญ ปริปุณณสีโล แห่งวัดปอแดง ต.ภูหลวง อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา จัดสร้างล็อกเกต รุ่นมัชฌิมา เพื่อช่วยเหลือพระสงฆ์ที่อาพาธ และเป็นทุนการศึกษาเด็กนักเรียนที่เรียนดีแต่ยากจน ล็อกเกตรุ่นดังกล่าวมีหลายแบบด้วยกัน ด้านหน้าล็อกเกต เป็นรูปไข่ ด้านบนมีตัวหนังสือคำว่า มัชฌิมา หมายถึงเป็นกลาง ขอบล็อกเกตสองข้างมีพญานาค 2 ตนชูคอ ตรงกลางมีรูปเหมือนหลวงปู่เต็มองค์ในท่านั่งขัดสมาธิ ที่อังสะมียันต์ นะ มหาเถระโต ด้านล่างเขียนคำว่า หลวงปู่บุญ ด้านหลังล็อกเกต เฉพาะ ชุดกรรมการชุดที่ 1 (สีน้ำเงิน) และชุดกรรมการชุดที่ 2 (สีแดง) ฝังพลอย พระนาคปรก 7 รอบ 84 ปี ตะกรุดเงินตะกรุดทอง ส่วนเบอร์ 7 ฝังเกศา จีวรหลวงปู่ และอุดผงไม้ตะเคียน สอบถามโทร.06-2551-5692, 09-0916-9665

“หลวงพ่อ พระใส” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองหนองคาย ประดิษฐาน ณ วัดโพธิ์ชัย พระอารามหลวง วัตถุมงคลออกมาหลายรุ่นหลายแบบ เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย แต่ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก คือ “เหรียญหลวงพ่อ พระใส รุ่นแรก” จัดสร้างโดยพระเวทีวุฒิกร อดีตเจ้าอาวาส เมื่อปี พ.ศ.2485 ลักษณะเป็นเหรียญทรงสามเหลี่ยม มีหูห่วง จัดสร้างเป็นเนื้อทองแดง ด้านหน้าเหรียญ รูปหลวงพ่อพระใส บนพระแท่น มีคำว่า “พระใส” อยู่ฐานล่างพระแท่น ด้านหลังเหรียญ เส้นยันต์หนาใหญ่คมชัด มีจุดกลมข้างในหัวตัว อุ เป็นจุดสังเกตสำคัญ ด้วยความงดงามโดดเด่น เป็นเหรียญที่มีค่านิยมสูง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน