กำลังความเชื่อ – กําลังความเชื่อในเรื่องใด สิ่งใด หรือการกระทำใดๆ ถ้าเกิดขาดความเชื่อมั่น หรือไม่มั่นใจแล้ว ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จยากที่จะทำสิ่งนั้นๆ งานนั้นๆ ให้ลุล่วงไปได้

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสร้างหลักให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวของใจ ให้ใจมั่นคง ให้เกิดความเชื่อมั่น เชื่อถือในสิ่งนั้นๆ ในงานนั้นๆ ที่จะทำ เช่นนักเรียนเชื่อมั่นในสถาบันการศึกษาของตนว่ามีคุณภาพดี สามารถให้การศึกษาที่เหมาะสม ทัดเทียม หรือดีกว่าสถาบันอื่นๆ ก็ทำให้นักเรียนมีกำลังผลักดันให้ตั้งใจเรียนและเรียนจบได้ง่าย

หรือข้าราชการเชื่อมั่นว่า หน่วยงานของตนมั่นคง และเปิดโอกาสให้ตนมีความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน ก็ทำให้เขามีกำลังที่จะทำงานให้สำเร็จโดยเรียบร้อย

หรือศาสนิกชน เชื่อในศาสดา และคำสอนว่า สามารถช่วยให้พ้นทุกข์ มีความสุขได้จริง ก็ทำให้มีกำลังที่จะปฏิบัติตามอย่างเต็มที่

กำลังความเชื่อเช่นนี้ เกิดจากการมองเห็นคุณค่าบุคคล หรือสิ่งที่ตนเชื่อถือ ถ้าเรามองเห็นคุณค่าของใคร หรือสิ่งใดเราก็เชื่อมั่นในบุคคลนั้น ในสิ่งนั้น เช่น พุทธศาสนิกชนพิจารณาเห็นพระคุณของพระพุทธเจ้า ว่าทรงเพียบพร้อมด้วยพระคุณ 3 ประการ คือ

1.พระปัญญาคุณ คือ พระองค์ตรัสรู้อริยสัจธรรมอย่างถูกต้องด้วยพระองค์เอง ทรงสมบูรณ์ด้วยความรู้ ความประพฤติที่ดีงาม ทรงรู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง คือ ทรงรู้ทั้งภูมิประเทศอย่างทะลุปรุโปร่ง ทรงรู้ถึงหมู่สัตว์ทุกจำพวก และทรงรู้เหตุผลที่ปรุงแต่งให้หมู่สัตว์มีอัธยาศัยแตกต่างกัน

2.พระบริสุทธิคุณ คือ พระองค์ทรงบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสความเศร้าหมองทุกประการ ไม่มีทุจริตทางกาย วาจา ใจ ที่จะต้องปิดบังซ่อนเร้น แม้เพียงเล็กน้อย ทำให้พระองค์เป็นผู้ควรแก่การบูชา ของเทวดาและมนุษย์อย่างแท้จริง

3.พระมหากรุณาคุณ คือ พระองค์ เมื่อทรงบรรลุธรรม เป็นเหตุให้ทรงหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง สามารถที่จะเสวยวิมุตติสุขตามลำพังได้ แต่ทรงอาศัยพระมหากรุณาคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงลำบากพระวรกาย เสด็จเที่ยวไปในถิ่นต่างๆ เพื่อทรงแสดงธรรมอันงดงามแก่หมู่สัตว์ ให้ได้ดื่มรสแห่งอมตธรรม หรือให้ได้ประโยชน์ในปัจจุบันบ้าง อนาคตบ้าง ตามสมควร พระองค์ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนา ให้เป็นมรดกล้ำค่าของมวลมนุษย์สืบมาจนทุกวันนี้ นับเป็นพระมหากรุณาคุณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ ผู้เป็นพระบรมครูของเราทั้งหลาย

เมื่อเราเชื่อมั่นในพระองค์และการตรัสรู้ของพระองค์ ก็ทำให้เราเชื่อถือในสิ่งที่พระองค์ทรงสั่งสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระองค์ทรงสอนในเรื่องการกระทำ ทางกาย วาจา ใจ ที่เรียกว่ากรรม เมื่อบุคคลกระทำกรรมใด จะดีหรือชั่วก็ตาม เขาจะต้องได้รับผลการกระทำนั้นอย่างแน่นอน และกรรมนี้ ย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวทราม หรือประณีตดีงาม ผู้กระทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ที่น่าปรารถนา น่าพอใจ ส่วนผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลร้าย ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าชอบใจ

เมื่อมีความเห็นถูกต้องเช่นนี้ ย่อมจะทำให้เกิดความเชื่อมั่น มีกำลังในการประกอบกรรมดี หลีกหนีกรรมชั่ว นำตัวให้ได้รับความสุข สงบร่มเย็น ทั้งในปัจจุบันและอนาคตโดยไม่ท้อถอย

โดย…พระศรีศาสนโมลี (สุทธิวัฒน์ ภูริญาโณ ป.ธ.9) วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร www.watdevaraj.org

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน