ขวัญเอ๋ย..ขวัญมาปลูกฝังเด็กน้อยพ้นภัย – “ขวัญเอ๋ย ขวัญมา มาอยู่กับบ้านกับช่อง มาอยู่กับเนื้อกับตัว มาอยู่กับพ่อกับแม่ มาอยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย มาอยู่กับพี่กับน้อง กลับมาอยู่ดี มีสุข สุขภาพแข็งแรง กลับมากินอิ่ม นอนอุ่นในดง ในป่า มีสิ่งชั่วร้าย ผีป่า ผีดง ไม่ใช่พวกพ้องของเรา อย่าไปยุ่งเกี่ยว อย่าไปใกล้ชิดสุรา บุหรี่ ยาเสพติด เป็นสิ่งไม่ดี ไม่ใช่พวกพ้องของเรา อย่าไปยุ่งเกี่ยว อย่าไปใกล้ชิด

ขวัญเอ๋ย ขวัญมา หลงอยู่ในดงกลับมา หลงติดสุรา บุหรี่ ยาเสพติดให้กลับมา กลับมามีสติปัญญาที่แจ่มใส กลับมามีความเจริญรุ่งเรือง”

คำกล่าวในพิธีผูกแขนเรียกขวัญ อันเป็นประเพณีเดือนเก้าของชาวปกาเกอะญอที่มุ่งเน้นการเรียกขวัญเด็กๆ ให้กลับมาอยู่กับตัวและสอนให้ห่างไกลจากสิ่งไม่ดี เช่น บุหรี่และเหล้า หนึ่งในกิจกรรมที่จัดขึ้นในโครงการพัฒนาจิตสำนึกเพื่อรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงจากบุหรี่และสุราในเด็กปฐมวัย โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายครูโรงเรียนอนุบาลและประถมศึกษาตอนต้น กิจกรรม ครั้งแรกนี้จัดขึ้นที่โรงเรียนอนุบาลจังหวัดราชบุรี ได้รับเกียรติจาก นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เป็นประธานในพิธี

ดร.อัญญมณี บุญซื่อ หัวหน้าโครงการ และผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาปฐมวัย กล่าวว่าโครงการนี้จะมีส่วนช่วยพัฒนาจิตสำนึกต่อปัจจัยเสี่ยงเรื่องเหล้าและบุหรี่ในรูปแบบการสร้างเครือข่ายกลุ่มเด็กระดับอนุบาลและประถมศึกษาตอนต้นที่ยังมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ เพื่อป้องกันไม่ให้ก้าวเข้ามาเป็นนักสูบและนักดื่มหน้าใหม่ ข้อมูลงานวิจัยจากประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่าเด็กอนุบาลอายุ 3 – 6 ขวบ สามารถซึมซับทัศนคติ ความเชื่อ รับรู้เรื่องการสูบบุหรี่และดื่มเหล้าได้จากผู้ใหญ่และสภาพแวดล้อมของสังคม โดยเฉพาะเด็กที่มีคนในครอบครัวสูบบุหรี่และดื่มเหล้า เด็กเหล่านี้จะรับรู้ว่าพฤติกรรมการสูบบุหรี่-ดื่มเหล้าเป็นสิ่งที่ปกติธรรมดาตั้งแต่ยังไม่เข้าโรงเรียน ถ้าปล่อยให้เด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ เมื่อเด็กเติบโตขึ้นอาจกลายเป็นผู้เสพไปโดยไม่รู้ตัว

“ส่วนใหญ่โครงการรณรงค์ต่างๆ จะทำกับเด็กวัยรุ่นที่เป็นกลุ่มเสี่ยงโดยตรง พบว่ามันสายเกินไป สสส.จึงสร้างเป้าหมายใหม่เป็น กลุ่มเด็กอนุบาล เน้นการพัฒนาสมรรถนะ ทั้งความเชื่อ ทัศนคติ ลักษณะนิสัย ภาพลักษณ์ต่อตนเอง ความรู้ ทักษะ นำมาประมวลกัน ผ่านกระบวนการพัฒนากายและใจไปพร้อมกัน” ดร.อัญญมณีกล่าว

ด้าน นางปราณี ทัยคุปต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลราชบุรี กล่าวว่า พ่อแม่มีส่วนสำคัญในการเป็นต้นแบบที่ดีให้บุตรหลาน เรื่องเหล้าบุหรี่จึงไม่ควรมีในบ้าน ถ้าเขาเห็นอยู่ในชีวิตประจำวันทุกวันเด็กจะคิดว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ เป็นภัยเงียบ เมื่อเด็กโตไปอาจมีโอกาสติดได้ ถ้าผู้ปกครองเป็นต้นแบบที่ดีเด็กจะซึมซับในสิ่งที่ดีๆ เหล่านั้นติดตัวเขาไป

การดำเนินโครงการวางแผนลงพื้นที่เพื่อจัดกิจกรรมนำร่องใน 10 โรงเรียน ทั้งโรงเรียนในเขตหัวเมืองใหญ่ โรงเรียนประจำท้องถิ่นในต่างจังหวัด และโรงเรียนในพื้นที่ทุรกันดาร โดยผนวกคติความเชื่อและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ดีงามให้สอดคล้องกับพื้นที่ที่ลงไปสร้างกระบวนการ เรียนรู้ นำมาสร้างสรรค์เป็นกิจกรรมให้เด็กและโรงเรียนมีส่วนร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน