สร้างอาศรมถวายหลวงปู่ทองคำ‘เหรียญตอก1รวยทันตา’‘พระสมเด็จอรหัง’สมเด็จพระสังฆราช(สุก)ทรงจัดสร้าง“ความเบื่อเป็นอาการของกิเลส ในเมื่อมันเกิดเบื่อ พิจารณาความเบื่อ เอาความเบื่อเป็นอารมณ์ ถามตัวเองว่าทำไมมันจึงเบื่อ เมื่อได้คำตอบแล้ว ถามต่อไปอีกว่าทำไมๆ เพราะอะไรๆ ไล่มันไปจนมันจนมุม เอาความเบื่อเป็นอารมณ์ เอาความเบื่อเป็นเครื่องรู้ เราก็พิจารณาหาเหตุผลความเบื่อให้ได้ การพิจารณาเช่นนี้ก็คือการพิจารณาวิปัสสนากรรมฐาน” สารธรรมมงคล พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร เป็นผู้สร้างพระสมเด็จอรหัง โดยสร้างไว้ตั้งแต่พ.ศ.2360 (ที่วัดพลับ) แล้วนำมาบรรจุไว้ที่วัดมหาธาตุ เมื่อพ.ศ.2363

พบมีอยู่ด้วยกันหลายพิมพ์และหลายเนื้อ กล่าวคือ มีพระพิมพ์ฐานสามชั้น (พิมพ์สังฆาฏิ) พระพิมพ์สามชั้นเกศอุ พระพิมพ์ฐานคู่ พระพิมพ์เล็กฐานสามชั้นมีประภามณฑล และพระพิมพ์เล็กฐานสามชั้นไม่มีประภามณฑล องค์พระเป็นเนื้อปูนเปลือกหอย แบบออกขาวละเอียด เนื้อขาวหยาบมีเม็ดทราย เนื้อขาวหยาบออกอมสีเขียวก้านมะลิ และยังมีประเภทเนื้อออกสีแดงเรื่อ พระสีดังกล่าวมักจะมีเนื้อหยาบ สันนิษฐานว่าอาจจะผสมปูนกินหมากหรือพิมเสนเข้าไป เมื่อผสมกับปูนเปลือกหอยทำให้เนื้อมวลสารออกเป็นสีแดง พระส่วนใหญ่มักจะมีจารคำว่า “อรหัง” เป็นอักษรขอมไว้ที่ด้านหลัง แต่ที่ไม่เขียนเลยก็มี แต่เป็นส่วนน้อย ปัจจุบันเป็นที่เสาะแสวงหากันมากมาย

คณะศิษย์ที่เลื่อมใสศรัทธา “หลวงปู่ทองคำ สุวโจ” แห่งอาศรมสุวโจ ต.สำโรงทาบ จ.สุรินทร์ มีมติจัดสร้างวัตถุมงคล “เหรียญตอก 1 รวยทันตา” วัตถุประสงค์เพื่อสร้างอาศรมถวายที่ประเทศ สปป.ลาว เนื่องจากให้ความอุปถัมภ์วัดโนนไซ แต่ยังขาดทุนทรัพย์

ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ มีหู ไม่เจาะรู ด้านหน้าเหรียญ บริเวณกลางเหรียญเป็นรูปเหมือนหลวงปู่ทองคำครึ่งองค์ ห่มจีวรเฉียง ที่หน้าอกซ้ายตอกเลข 1 ด้านหลังเหรียญ ที่ใต้หูเหรียญ เขียนคำว่า “หลวงปู่ทองคำ สุวโจ” จากด้านขวาลงด้านล่างขึ้นไปด้านซ้ายมีตัวอักษรเขียนคำว่า “อาศรมสุวโจ ต.ศรีสุข อ.สำโรงทาบ จ.สุรินทร์” บริเวณกลางเหรียญเป็นรูปเต่าและอักขระยันต์เป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งมั่นคง ใต้อักขระยันต์มีตัวเลข ๙๑ เป็นอายุ ติดต่อโทร.06-1795-7556

“หลวงพ่อยิด จันทสุวัณโณ” แห่งวัดหนองจอก ต.ดอนยายหนู อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ปี พ.ศ.2555 นายไชยา อ่ำสำอางค์ ศิษย์เอก จัดสร้าง “เหรียญบารมี 89 หลวงพ่อยิด” เนื่องในโอกาสครบ 89 ปี ชาตกาล

ลักษณะเหรียญ เป็นเหรียญทรงกลม รูปไข่ มีหูห่วง ด้านหน้าเหรียญมีขอบรอบ ตรงกลางมีรูปนูนหลวงพ่อยิดครึ่งองค์ ที่สังฆาฏิตอกเลข ๘๙ เหนือขอบเหรียญด้านล่างมีลักษณะคล้ายโบ มีอักษรไทย “พระอธิการยิด จนฺทสุวณฺโณ” ด้านหลังเหรียญมีขอบรอบเช่นกัน ตรงกลางเหรียญมีรูปนูน หนุมานเชิญธง พร้อมกำกับด้วยอักขระขอม ตอกเลขลำดับองค์พระ และมีอักษรไทยเหนือขอบเหรียญ ด้านล่าง “วัดหนองจอก อ.กุยบุรี จ.ประจวบฯ”

ปี 2537 วัดโอกาส อ.เมือง จ.นครพนม สร้างวัตถุมงคลเป็นเหรียญพระติ้ว-พระเทียม รุ่นหน้าไฟ ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงพระครูสุนทรกัลยาณพจน์ อดีตเจ้าอาวาส ลักษณะเหรียญรูปทรงไข่ มีหูห่วง จัดสร้างเป็นเนื้อทองแดงรมดำ ประมาณ 10,000 เหรียญ ด้านหน้าเหรียญ ขอบเหรียญมีเส้นสันนูน ตรงกลางเหรียญประดิษฐานพระพุทธรูปคู่แฝดที่ศักดิ์สิทธิ์ พระติ้ว-พระเทียม ประทับบนแท่นบุษบกกลีบบัวหงาย ด้านล่างเขียนว่า “พระติ้ว-พระเทียม”

ด้านหลังเหรียญมีเส้นสันนูนหนา ใกล้ขอบเหรียญส่วนบนมีตัวหนังสือคำว่า “ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ” มีดอกจันประกบปิดหัวท้าย ตรงกลางเหรียญมีรูปเหมือนพระครูสุนทรกัลยาณพจน์ครึ่งองค์ หน้าตรง ใกล้ศีรษะและใบหูซ้ายขวามีอักขระตัวธรรม 4 ตัวประกบ บริเวณจีวรส่วนอกที่ตัวเลขไทย “๒๕๓๗” ถัดลงมาที่คำว่า “พระครูสุนทรกัลยาณพจน์” เหรียญรุ่นนี้ หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ วัดธาตุมหาชัย อ.ปลาปาก จ.นครพนม นั่งภาวนาจิต

เหรียญที่ระลึก “จับโป้ยล่อฮั่น” เหรียญที่ระลึกอันทรงคุณค่าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบพิธีเดียวกับ “พระกริ่งปวเรศ” สร้างขึ้นในปีพ.ศ.2434 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในพระราชพิธีทรงผนวช สมเด็จพระบรม โอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ที่วัดบวรนิเวศวิหาร สร้างเป็นเนื้อทองคำ เนื้อเงิน เนื้อทองสี ดอกบวบ เนื้อทองแดงแก่ทอง

เป็นเหรียญทรงกลมขนาดใหญ่ ด้านหน้าเหรียญจำลองรูปพระอรหันต์ 18 องค์ ผู้สำเร็จธรรมวิเศษตามคตินิยมในพระพุทธศาสนา แบบมหายานฝ่ายจีน เรียกว่า “จับโป้ย ล่อฮั่น” เป็นอีกเหรียญที่หายาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน