ปี‘เดิมพัน’ 2021 มองโลกข้ามยุคโควิด – บทวิเคราะห์หรือการประเมินสถานการณ์ใดๆ ในปี 2020 ล้วนใช้การไม่ได้ทั้งหมด เมื่อเกิดจุดพลิกผันชื่อ “โควิด-19” ที่ไม่มีใครคาดการณ์มาก่อน

2020 ปิดฉากด้วยความทรงจำที่โลกไม่มีวันลืม เพราะการระบาดของโรคติดเชื้อ จากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 คร่าชีวิตทั่วโลกเกือบ 2 ล้านราย จากยอดผู้ติดเชื้อเกือบ 100 ล้านคน

ไวรัสมรณะทำให้คนทั่วโลกเห็นภาพฝั่งตะวันตกและตะวันออกชัดเจนขึ้นมาก ด้วยมุมมองต่อปัจเจกบุคคลแตกต่างกัน แนวทางการรับมือกับจึงแตกต่างกันไปด้วย อีกทั้งโรคระบาดครั้งล่าสุดสร้างความร้าวฉานระหว่างประเทศทั้งทางตรงในเรื่องสาธารณสุขและทางอ้อมในเรื่องอื่นๆ

บทวิเคราะห์ “เดอะ เวิลด์ อิน 2021” โดยทอม สแตนเดจ บรรณาธิการนิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ สื่อมวลชนชั้นนำด้านการเมืองและเศรษฐกิจของโลก สัญชาติอังกฤษ ระบุว่า ปี 2021 คือปีแห่ง “การเดิมพัน”

มีความเป็นไปได้ทั้งโชคดีหรือโชคร้าย และเสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อย และเชื่อมโยงกับหมายเลข 21

เนื่องจากเป็นทั้งจำนวนจุดทั้ง 6 ด้านของลูกเต๋า อุปกรณ์ขาดไม่ได้ของเหล่านักเสี่ยงโชค อายุขั้นต่ำการเข้าบ่อนในสหรัฐอเมริกา หรือเกมการ์ดอย่าง แบล็กแจ๊ก ที่ผู้เล่นต้องจั่วไพ่เข้าใกล้ 21 แต้ม มากที่สุด

แซนนี มินตัน เบดดอส บรรณาธิการบริหารดิ อีโคโนมิสต์ สะท้อนว่า โควิด-19 ไม่เพียงทิ่มแทงเศรษฐกิจโลก แต่ยังเปลี่ยนแปลง 3 วิถีพลังที่กำลังสร้างโลกสมัยใหม่ ได้แก่ 1.โลกาภิวัตน์ เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าและการข้ามพรมแดนจะลดน้อยถอยลงไป

โดยเฉพาะชาติเอเชีย ซึ่งควบคุมไวรัสอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด จะปิดพรมแดนอย่างเข้มงวดที่สุดต่อให้จำนวนผู้ป่วยจะลดลง ด้วยประสบการณ์ในอดีตและมองความเป็นไปในด้านลบของตะวันตก

แม้ว่าการเดินทางจะฟื้นตัว แต่การย้ายถิ่นจะยากขึ้นมาก โอกาสที่ประเทศยากจนพึ่งพารายได้จากแรงงานข้ามชาติส่งออกไปต่างประเทศลดลง

ตอกย้ำความเสียหายจากโรคระบาด ประชากรทั่วโลกราว 150 ล้านคน มีแนวโน้มตกอยู่ในความยากจนขั้นรุนแรงตลอดปีนี้

2.การปฏิวัติดิจิตอล เร่งตัวอย่างสิ้นเชิง โควิด-19 เร่งตัวให้ทั่วโลกปรับเปลี่ยนใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ตั้งแต่การประชุมทางวิดีโอและจับจ่ายใช้สอยออนไลน์ ถึงการทำงานจากบ้านและการเรียนทางไกล ถือเป็น “การทำลายอย่างสร้างสรรค์” เนื่องจากบริษัทยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีรับกำไรมหาศาลและราคาหุ้นพุ่งขึ้น แต่กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและอุตสาหกรรมการค้าปลีก การท่องเที่ยว และการบริการต้องลดขนาดลงหรือโบกมือลาอย่างท่วมท้น

3.การแข่งขันภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐ-จีน จะทวีความรุนแรงขึ้น วัคซีนป้องกันโควิด-19 จะกลายเป็น จุดเปลี่ยนเกม ของมหาอำนาจ จากความพยายามพัฒนาวัคซีนจะหันมาที่การแจกจ่ายวัคซีนที่น่ากลัวไม่แพ้กัน

การทูตวัคซีนของรัฐบาลจีน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและมนุษยธรรม กลับถูกมองเป็นความพยายามเฉิดฉายในเวทีโลก กลายเป็นความระแวงและเคลือบแคลงมากกว่าน่าชื่นชม

นอกจากนี้ จีนจะฉลองครบรอบ 100 ปีแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างยิ่งใหญ่ในอารมณ์ของผู้ชนะเพราะสามารถควบคุมโควิด-19 และการเมืองฮ่องกงอย่างแทบเบ็ดเสร็จ

แม้ว่า โจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่กำลังเข้ารับตำแหน่งวันที่ 20 ม.ค.นี้จะมีท่าทีเป็นมิตรกับจีนมากกว่านายทรัมป์ แต่อาจไม่ได้หมายความถึงการยุติการแข่งขันกับจีนเช่นกัน

เดวิด เรนนีย์ หัวหน้าดิ อีโคโนมิสต์ ประจำกรุงปักกิ่ง มองว่า แม้ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำที่จะหมดวาระ จะเป็นผู้นำเกรี้ยวกราดและเห็นแก่ตัวไปบ้าง แต่ยังมองข้ามสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในจีน

ขณะที่หากรัฐบาลนายไบเดนขึ้นมา คองเกรสที่เดโมแครตครองเสียงข้างมากจะหาทางคว่ำบาตรจีนที่บ่อนทำลายเสรีภาพในฮ่องกงผ่านการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ และการปรับทัศนคติมุสลิมอุยกูร์ในเขตปกครองซินเจียง อีกทั้งนายไบเดนหวังแก้ไขความสัมพันธ์กับบรรดามิตรประเทศ ซึ่งพยายามหลีกเลี่ยงการเลือกข้าง

ไม่มีส่วนไหนของโลกจะหนักใจมากไปกว่า 11 ชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (10 ชาติอาเซียน และติมอร์ตะวันออก) ซึ่งระแวดระวังภารกิจของ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีนที่หวังยึดคืนความเป็นศูนย์กลางในเอเชียตะวันออกอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ด้วยภูมิรัฐศาสตร์ใกล้จีน ประสบการณ์การรับมือภัยจากคอมมิวนิสต์ในสงครามเย็น และอิทธิพลของสหรัฐตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง บิลาฮารี เคาสิกัน อดีตนักการทูตสิงคโปร์ เชื่อว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะรับมือกับมหาอำนาจด้วย 3 ยุทธศาสตร์ คือ ไม่ผูกมัดตนเอง (hedging) ถ่วงดุลอำนาจ (balancing) และ เป็นพวกเดียวกัน (bandwagoning)

ตัวอย่างที่อาจเกิดขึ้นในปีหน้า เช่น ฟิลิปปินส์ ที่ประธานาธิบดี โรดริโก ดูแตร์เต จะยังเอาใจพญามังกรในฐานะที่จีนเข้ามาลงทุนธุรกิจ พร้อมๆ กับการฟื้นฟูความสัมพันธ์การทหารกับสหรัฐหลังเคยตึงเครียดกัน หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองจะชักชวนมหาอำนาจเศรษฐกิจชาติอื่นๆ โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และ อินเดีย เข้ามากระจายความเฟื่องฟูและความมั่นคงในภูมิภาคนี้

แสงรำไรท่ามกลางโรคระบาดยังมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แคเธอรีน บราฮิก บรรณาธิการสิ่งแวดล้อมดิ อีโคโนมิสต์ นิยามปี 2021 จะมีความชัดเจนยิ่งขึ้นในการปกป้องโลกผ่าน 2 เวทีการประชุมสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ ได้แก่ การประชุมความหลากหลายชีวภาพ ที่เมืองคุนหมิงของจีนในเดือนพฤษภาคม เป้าหมายปกป้องผืนดินและมหาสมุทรร้อยละ 30 ภายในปี 2030 ตามด้วย การประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ของอังกฤษในเดือนพฤศจิกายน หลังเลื่อนมาจากปีก่อน ด้วยเป้าหมายที่จะต้องผลักดันรัฐบาลเกือบ 200 ชาติภาคีข้อตกลงปารีส 2015 ลดการปล่อยมลพิษ

ขณะเดียวกัน เป้าหมายการมีส่วนร่วมของประเทศ (NDC) ของข้อตกลงดังกล่าว ยังไม่เพียงพอปกป้องโลก การจำลองข้อมูลชี้ว่า ในปี 2100 โลกจะมีแนวโน้มร้อนขึ้น 3 องศาเซลเซียส มากกว่าอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม ห่างไกลเป้าหมายที่จะให้อุณหภูมิเพิ่มเพียง 1.5-2 องศาเซลเซียส

สหรัฐเป็นประเทศที่หลายฝ่ายจับตามากสุด หลังเพิ่งถอนตัวจากข้อตกลงปารีส ตามที่นายทรัมป์ประกาศตั้งแต่ 3 ปีก่อน ส่วนนาย ไบเดนจะพาสหรัฐกลับเข้าสู่ข้อตกลงทันทีหลังเข้ารับตำแหน่ง พร้อมความท้าทายที่จะต้องวางรากฐานอย่างมั่นคงเพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างประสบความสำเร็จ ถือเป็นการแก้ตัวอีกรอบแทนอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ที่เคยล้มเหลวกับประเด็นนี้มาแล้ว

นอกจากนี้ โรคระบาดและการเมืองระหว่างประเทศจะตึงเครียด แต่บรรดามหกรรมยักษ์ใหญ่ที่ต้องเว้นวรรคเมื่อปีก่อนจะเกิดขึ้นอีกครั้งเหมือน “เดจาวู” หยุดเวลาของปี 2020

ลีโอ มินารี นักข่าวอาวุโสแห่งดิ อีโคโนมิสต์ อธิบายว่า ชาวโลกจะตื่นตาตื่นใจกับโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ที่กรุงโตเกียวของญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ กลางปีในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม

ส่วนคอบอลต้องไม่พลาด ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป (ยูฟ่า) 2020 ในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม

ปิดท้ายด้วยงานนิทรรศการโลก ดูไบ เอ็กซ์โป 2020 ที่เตรียมตัวมาเกือบสิบปี จะจัดไปถึงปี 2022

แม้แต่การเมืองยังมีเดจาวูที่อังกฤษ คนลอนดอนต้องเตรียมตัวโหวตนายกเทศมนตรีคนใหม่ ส่วนคนฮ่องกงยังมีเวลาตัดสินใจ 9 เดือน ก่อนเลือกตั้งสภานิติบัญญัติในเดือนกันยายน และคนโซมาเลีย ชาติแอฟริกาตะวันออก จะได้ใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งแรกในรอบ 51 ปี พร้อมกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนกุมภาพันธ์

ชื่อทางการไวรัสมรณะอย่าง SARS-CoV-2 เป็นเดจาวูเช่นกัน เพราะย้อนกลับไปเมื่อปี 2002-2003 โลกเคยเผชิญกับกลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS) แต่ควบคุมยอดผู้ป่วยไม่เกิน 9,000 คน และสิ้นสุดในปี 2004 มวลมนุษยชาติเคยเอาชนะ SARS มาแล้ว

โลกจะต้องฝ่าฟันโควิด-19 ได้เช่นกัน แม้จะใช้งบประมาณมหาศาลและเกิดดราม่ามากขึ้น

บรรณาธิการแสตนเดจสรุปว่า ปี 2021 อาจสะท้อนความไม่แน่นอนที่ “ไม่ปกติ” เป็นผลพวงมาจากโควิด-19 ตลอดปีที่แล้ว เนื่องด้วยปฏิสัมพันธ์ระหว่างการระบาดใหญ่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่สม่ำเสมอ และภูมิรัฐศาสตร์แตกหัก ฉะนั้น ความเสี่ยงทั้งต่อสุขภาพ พลังเศรษฐกิจ และเสถียรภาพสังคม ยังไม่จางหายง่ายๆ อย่างไรก็ตาม นี่หาใช่ความพินาศและความมืดมนไปเสียทีเดียว

ในอีกแง่หนึ่ง ปี 2021 คือโอกาสล้ำค่าที่ทั่วโลกต้องควบคุมโรคระบาดเด็ดขาดอีกครั้ง แต่แน่นอนว่า โลกของเราไม่อาจย้อนกลับไปสู่ยุคก่อนโควิดอีกแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน