สัมภาษณ์พิเศษ

ไร้สัญญาณเปลี่ยนตัวนายกฯ – นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดใจกับ ‘ข่าวสด’ ถึงปัญหาอุปสรรคที่รัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลที่ต้องเผชิญ โดยเฉพาะการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล จะรุนแรงมากน้อย แค่ไหน รวมถึงการเดินหน้า แก้รัฐธรรมนูญ

ในปี 2564 นี้ ต้องยอมรับว่าประเทศไทยต้องเผชิญ ทั้งเรื่องปัญหาโควิด-19 เศรษฐกิจ และการเมือง ควบคู่กันไปทั้ง 3 ด้าน ก็เช่นเดียวกับหลายประเทศในโลก ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา อย่างน้อย 2 เรื่องที่ทุกประเทศหนีไม่พ้นคือเรื่องโควิด กับเศรษฐกิจ แต่ประเทศไทยมีปัญหาทางการเมืองซ้ำเข้ามา

ที่จริงปัญหาทั้ง 3 เรื่องนี้ ถือว่าเป็นปัญหาพื้นฐานกับทุกประเทศในโลก เพราะทั้งโควิด เศรษฐกิจ และการเมือง ก็มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน พอมีปัญหาโควิด ปัญหาเศรษฐกิจก็จะลามมาเป็นปัญหาการเมือง ดังนั้นประเทศไทยก็คิดว่าไม่ได้แปลกไปกว่าประเทศอื่นๆ

ประเทศยังมีเรื่องการชุมนุมที่ยังอยู่มั่นใจแค่ไหนว่าจะฝ่าฟันไปได้

ผมคิดว่าเรื่องการชุมนุมก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่คิดว่าสถานการณ์ก็ไม่น่าจะรุนแรงขึ้น ตราบใดที่ไม่มีใคร ไปสร้างเงื่อนไขเพิ่มไปจากที่เป็นอยู่ก่อนหน้า ยกตัวอย่างเช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าทุกอย่างเดินหน้าไปได้ตามขั้นตอน กระบวนการ และนำไปสู่การแก้ไขได้จริง ในที่สุดผมคิดว่าเงื่อนไขการชุมนุมก็น่าจะลดความชอบธรรมลง หรือน่าจะเบาลง ยกเว้นมีใครไปสร้างปัญหาอุปสรรคโดยไม่จำเป็น จนทำให้การแก้รัฐธรรมนูญไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ถ้าเป็นอย่างนั้น ยังไม่มีใครการันตีได้ว่า เงื่อนไขการชุมนุมจะถูกลดทอนลงไปได้

รวมทั้งการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ผมคิดว่าเป็นทางออกที่เป็นรูปธรรมและแม้ว่าบางฝ่ายอาจจะยังไม่สะดวกใจที่จะเข้าไปเข้าร่วม แต่ถ้าสามารถเดินหน้าได้ ผมคิดว่าเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การชุมนุม หรือเงื่อนไขการชุมนุม ก็จะลดน้ำหนักลงไปได้

หากการแก้รัฐธรรมนูญออกมาไม่เป็นที่พอใจ จนผู้ชุมนุมออกมาเคลื่อนไหวรุนแรง มองว่าจะสร้างแรงกระเพื่อมกับรัฐบาลอย่างไร

ถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้าไปได้ตามขั้นตอน กระทั่งได้ข้อยุติ ผมก็คิดว่าถ้าใครจะมาประกาศตัวว่ายังไม่ยอมรับผลลัพธ์ที่ออกมา ความชอบธรรมที่จะสร้างกระแสต่อต้านก็จะไม่เต็มร้อยอีกต่อไปได้ และถ้าจะพูดไปถึงรัฐบาล ผมคิดว่าการแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลฝ่ายเดียว เพราะมีทั้งรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน และ ส.ว. รวมทั้งประชาชนคนไทยทั้งประเทศที่จะเป็นผู้ลงประชามติด้วย

ฉะนั้น รัฐบาลเป็นเพียงหนึ่งในผู้มีส่วนร่วมที่จะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จหรือไม่สำเร็จ และเป็นไปในทิศทางใดเท่านั้น ไม่สามารถไปกำหนดทั้งความสำเร็จและเนื้อหาทั้งหมดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตัวรัฐธรรมนูญขั้นสุดท้ายจะออกมาอย่างไรขึ้นอยู่กับสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลที่จะไปชี้ว่า ต้องให้เนื้อหาออกมาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ได้

พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะผู้ปฏิบัติจะส่งคนเข้าไปร่วมเป็น ส.ส.ร. หรือคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่

คณะกรรมการยกร่างฯ ต้องมาจาก ส.ส.ร. และผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มเติมหรือไม่ จะขึ้นอยู่กับคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม เป็นผู้กำหนด รวมทั้งจะขึ้นอยู่กับร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ขั้นแรกที่จะเป็นตัวกำหนด

ทุกอย่างต้องเป็นไปตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ ถ้าเงื่อนไขระบุว่าพรรคประชาธิปัตย์จะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องหรือเข้าไปร่วม พรรคก็ยินดี แต่ถ้าเงื่อนไขรัฐธรรมนูญบอกว่า พรรคการเมือง รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ต้องไม่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องเป็น ไปตามรัฐธรรมนูญ

ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล มองว่ารัฐบาลควรปรับการทำงานเพื่อให้อยู่ครบวาระอย่างไร

ผ่านมา 1 ปีกับ 3-4 เดือน รัฐบาลพยายามเดินหน้าในทุกปัญหาตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อสภา ก็มีความคืบหน้าไม่น้อย โดยเฉพาะการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ต้องยอมรับว่าประสบความสำเร็จ เพราะการแก้ปัญหาโควิดของรัฐบาล รวมทั้งของประเทศไทย ถือว่าเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก และประสบความสำเร็จลำดับต้นๆ ของโลก ซึ่งนอกจากความร่วมมือของคนไทยทั้งประเทศแล้ว ต้องยอมรับว่าขึ้นอยู่กับนโยบายและทิศทางที่ถูกต้องของรัฐบาลด้วย ซึ่งถือเป็นความสำเร็จข้อที่ 1

ข้อที่ 2 แน่นอนว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจยังไม่สามารถสร้างความพึงพอใจให้กับทุกภาคส่วนได้ แต่ไม่ได้เกิดขึ้น เพราะนโยบายที่ผิดทิศทางของรัฐบาล แต่เป็นประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกประเทศที่จะต้องเจอปัญหาซ้ำซ้อนจากโควิด แต่เมื่อเทียบกับหลายประเทศในโลก ต้องถือว่าเราอยู่ในระดับกลางไปทางดี ไม่ได้อยู่ในระดับรั้งท้ายหรือที่โหล่

ฉะนั้น ต้องถือว่าประสบความสำเร็จได้ดีระดับหนึ่ง แต่ยังมีหลายเรื่องที่จำเป็นต้องเดินหน้าต่อไป เช่น จะต้องเร่งสร้างกำลังซื้อกำลังบริโภค ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลก็ใช้มาตรการหลายมาตรการเข้ามาดำเนินการ ทั้งเงินกู้ มาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมทั้งโครงการต่างๆ ที่เดินหน้าอยู่ในขณะนี้

เรื่องการท่องเที่ยวเราต้องยอมรับว่า ทุกประเทศก็เจอปัญหาใกล้เคียงกันคือ เดิมเราพึ่งการท่องเที่ยว 2 ขา คือ การท่องเที่ยวในประเทศ และต่างประเทศ แต่ขณะนี้เราเหลือขาเดียว นำนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไม่ได้ เราก็ต้องพึ่งไทยเที่ยวไทย ซึ่งที่ผ่านมาถือว่ารัฐบาลทำได้ดีระดับหนึ่ง เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน แม้แต่การเพิ่มกำลังซื้อในการเพิ่มการบริโภคโครงการคนละครึ่ง ถือว่าประสบความสำเร็จ หรือโครงการพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชนที่เดินหน้ามาถึงล็อตที่ 8 ก็มีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภค

ส่วนตัวเลขการส่งออกขณะนี้ ต้องยอมรับว่าพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว ซึ่งตัวเลขค่อยๆ ดีขึ้น ยังติดลบอยู่ ซึ่งปีนี้ หลายฝ่ายประเมินว่า ตัวเลขการส่งออกมามีโอกาสที่จะเป็นบวกได้

ดังนั้น ในภาพรวม ถือว่าเศรษฐกิจยังไปได้ระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขต่อไปคือ คนว่างงาน และเรื่องการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจรากฐาน ยังเป็นการบ้านข้อใหญ่ที่จะต้องเดินหน้า

มองว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนบุคคลใน ครม.หรือไม่

ขึ้นอยู่กับหัวหน้ารัฐบาลด้วยว่าจะมีความเห็นอย่างไร เพราะเกินอำนาจที่ผมจะมาพิจารณาหรือตัดสินใจเอง ส่วนที่ว่ายังเชื่อมั่นในตัวผู้นำรัฐบาลหรือไม่นั้น แน่นอนว่าใครขึ้นมาทำหน้าที่ตรงนี้ต้องมีทั้งคนชอบและคนไม่ชอบ พอใจและไม่พอใจ เป็นเรื่องธรรมดา

จนถึงขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณที่จะต้องปรับเปลี่ยนตัวนายกฯ และเท่าที่ทำงานร่วมกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ท่านก็ตั้งใจปฏิบัติภารกิจเพื่อส่วนรวม และพล.อ.ประยุทธ์ยังเป็นที่ยอมรับของคนจำนวนมากอยู่

ในฐานะหัวหน้าพรรค จะขับเคลื่อนพรรคไปสู่เป้าหมายอย่างไรบ้าง เพราะอาจมีการเลือกตั้งหลายระดับเกิดขึ้น

ที่ผ่านมาถือว่าพรรคเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จระดับหนึ่ง จากการร่วมรัฐบาลเที่ยวนี้ และภารกิจในฐานะรองนายกฯ และรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล ทุกคนพยายามสร้างผลงานให้เห็นว่ามีผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม แม้แต่เงื่อนไขในการร่วมรัฐบาล อย่างน้อยเรื่องประกันรายได้เกษตรกร เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ เราก็ผลักดันจนกระทั่งปรากฏเห็นเป็นผลสัมฤทธิ์ โดยเฉพาะการเดินหน้านโยบายประกันรายได้เราก็ทำได้จริงอย่างที่ตั้งใจไว้ ผมเชื่อว่าเป็นที่ยอมรับของประชาชน

ในการสร้างผลงาน ผมคิดว่าเราทำให้ปรากฏเห็นผลเป็นรูปธรรมได้ชัดเจน แล้วทำให้คนทั้งประเทศได้เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ยุคนี้ เราเน้นการทำงานที่ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ จับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม

ในปี 2564 จะต้องเข้มข้นขึ้นในเรื่องกิจกรรมของพรรค ขณะนี้ตัวผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคมีความคืบหน้าไปหลายภาค เช่น กรุงเทพฯ เรามีผู้แทนฯ 30 เขต ขณะนี้เคาะผู้สมัครแล้ว 20 กว่าเขต ตัวแทนจังหวัด 350 เขตเลือกตั้ง จะต้องมีตัวแทนเขตไม่เช่นนั้นจะส่งผู้สมัครไม่ได้ เราก็ทำเสร็จแล้ว 90 กว่าเปอร์เซ็นต์

สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เรามีการเตรียมบุคลากรไว้ ยืนยันว่าพรรคต้องส่งแน่นอน โดยส่งในนามพรรคประชาธิปัตย์ และตัวผู้สมัครก็มีตัวเลือกอยู่ แต่จะประกาศว่าเป็นใครต้องถึงเวลาที่เหมาะสม และตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เมื่อไหร่ ส่วนผู้สมัคร ส.ก. ก็มีการเตรียมการไว้แล้ว 30 กว่าเขตที่พรรคได้เคาะแล้ว

ผมเชื่อมั่นว่าคนกรุงเทพฯ จะกลับมาให้โอกาสประชาธิปัตย์เพิ่มเติมขึ้นกว่าการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ผ่านมา

หากการเลือกตั้งส.ส.เกิดขึ้นกะทันหัน มั่นใจหรือไม่ว่าจะพาพรรคไปสู่จุดเป้าหมายที่วางไว้ และได้ส.ส.มากกว่าครั้งที่ผ่านมา

จากผลงานที่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมและทิศทางทางการเมืองที่เราเดินหน้าในทิศทางที่ถูกต้อง ตอกย้ำอุดมการณ์ของพรรคที่มีความชัดเจนว่าประชาธิปัตย์ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเราจะทำเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชนชาวไทยเป็นด้านหลัก ผมเชื่อว่าเราจะได้รับการต้อนรับจากประชาชนมากขึ้นเป็นลำดับ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน