คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

7 วันอันตรายไม่ลดลง – ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 (ศปถ.) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 7 วันของการรณรงค์ ตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค.2563-4 ม.ค. 2564 พบว่าปีนี้ เกิดอุบัติเหตุรวม 3,333 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 392 ราย บาดเจ็บ รวม 3,326 คน

จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเลย มีจำนวนทั้งสิ้น 7 จังหวัด ประกอบด้วย นครนายก นราธิวาส น่าน แม่ฮ่องสอน ระนอง อำนาจเจริญ และอุตรดิตถ์ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 115 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 18 ราย และจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 117 คน

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 33.60 ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับ ร้อยละ 33.06 พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 59.33 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 82.54

สรุปแล้วพบจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น แม้จะอยู่ในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม ซึ่งมากกว่าช่วงปีใหม่เมื่อปีที่แล้ว โดยมียอดผู้เสียชีวิตสูงกว่า 19 ราย

ขณะเดียวกัน โฆษกศาลยุติธรรม ได้เปิดเผยยอดรวมสถิติคดีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ที่เข้าสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศ ในช่วง 7 วันอันตราย ในห้วงเวลาเดียวกันด้วยเช่นกัน

พบว่ามีจำนวนคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาทั้งสิ้น 9,452 คดี จำนวนคดีที่พิพากษาแล้วเสร็จ 9,271 คดี ศาลที่มีปริมาณคดีขึ้นสู่การพิจารณาสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ ศาลแขวงนครราชสีมา ศาลแขวงอุบลราชธานี และศาลแขวงสุรินทร์

ข้อหาที่มีผู้กระทำความผิดสูงสุด ได้แก่ ขับรถขณะเมาสุรา 9,462 คน ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต 498 คน ขับรถขณะเสพยาเสพติด 165 คน ขับรถโดยประมาท 33 คน

เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบปริมาณคดีความผิดช่วง 7 วันอันตราย เทศกาลปีใหม่ 2563 พบว่า ปริมาณคดีในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 นี้ ลดลง 15,924 คดี คาดว่าอาจเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่ระบาดในระลอกใหม่

น่ายินดี ที่ปีนี้กรมควบคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรมได้เข้ามามีบทบาทร่วมกับศปถ.ด้วย ซึ่งช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุและความ สูญเสียบนท้องถนนได้อีกทางหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าสถิติการเกิดอุบัติเหตุ ตลอดจนการบาดเจ็บ สูญเสียชีวิต ตลอดจนความเสียหายของทรัพย์สินยังอยู่ในอัตราที่สูง ทั้งๆ ที่อยู่ในช่วงวิกฤตโรคระบาด

ที่ผ่านมาในแต่ละปี ที่มีช่วงวันหยุดยาว หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็มีการนำเอาข้อมูล สถิติ สาเหตุ ตลอดจนพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งหลายไปวิเคราะห์ เพื่อไปสู่การออกมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

แต่แล้ว ก็ยังไม่สามารถสรุปหาแนวทางและวิธีการป้องกันหรือแก้ไขได้อย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากนัก ช่วงวันหยุดยาวสงกรานต์นี้น่าจะเป็นบทพิสูจน์ อีกครั้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน