คอลัมน์ บทบรรณาธิการ
งบคุมม็อบ – กรณีมีรายงานที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบกลางให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามที่ทำเรื่องขอจำนวน 191 ล้านบาท เพื่อใช้ดูแลการชุมนุมทางการเมือง เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจไม่น้อย
เพราะการใช้เงินภาษีช่วงที่ประชาชนประสบวิกฤตผลกระทบโรคระบาดโควิดนั้น เป็นที่คาดหมายว่าต้องคุ้มค่า
เหมือนกับที่มีคนตั้งคำถามเรื่องงบซื้ออาวุธ ไปจนถึงงบกิจการต่างๆ ว่าสมเหตุสมผลกับช่วงเวลาหรือไม่
ยิ่งเมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจน่าเป็นห่วง เพิ่งมีตัวเลขจากสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ว่ามีแรงงานในภาคท่องเที่ยวตกงานแล้วกว่า 2 ล้านคน
ความเดือดร้อนนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
สําหรับงบดูแลการชุมนุมทางการเมืองดังกล่าวระบุว่าประกอบด้วยค่าน้ำมัน ค่ากำลังพล จัดหาที่พัก ค่าวัสดุอุปกรณ์ รวมถึงค่าใช้จ่ายส่วนรถเมล์ ขสมก.
ผบ.ตร.ชี้แจงเรื่องนี้เบื้องต้นว่า ไม่แน่ชัดในเรื่องตัวเลข แต่มีการเบิกไปจริง โดยเป็นการขอเบิกงบประมาณ “ย้อนหลัง” ให้ถูกต้องตามระเบียบราชการ
งบประมาณส่วนนี้ใช้ในภารกิจควบคุมการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2563 และเป็นการนำงบส่วนกลางสำรองจ่ายไปก่อน
ส่วนใหญ่เป็นค่าอาหารและเบี้ยเลี้ยงของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ สำหรับด้านอื่นๆ ต้องขอดูรายละเอียดก่อน
คำชี้แจงนี้ชัดเจนว่าเป็นเงินที่ใช้ไปแล้วในอดีตไม่ใช่อนาคต แต่คุ้มค่าหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
สิ่งที่หน่วยงานความมั่นคงน่าพิจารณาเพิ่มมากขึ้นคือการใช้งบลักษณะนี้รัดเข็มขัดได้ด้วยการใช้เหตุผลมากขึ้นหรือไม่
ควรต้องประเมินว่า การปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมฝูงชนหรือสลายการชุมนุม ใช้งบประมาณโดยใช่เหตุด้วยหรือไม่
จังหวะเวลาที่ใช้กำลังและทรัพยากรนั้นมากเกินจำเป็นหรือไม่ เช่น การฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมี เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 ก่อประโยชน์หรือโทษมากกว่ากัน
หากรัฐบาลเห็นว่ามีประโยชน์ เหตุใดจึงเกิดกระแสต่อต้านการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น และความขัดแย้งไม่ได้ลดลง
นอกจากคิดถึงเหตุผลเหล่านี้แล้ว ควรคำนวณงบประมาณที่มาจากภาษีด้วยว่า ประชาชนยินดีให้ใช้เงินไปเพื่อการนี้ หรือไม่