59ปีพม่า-ปชต.พ่ายรัฐประหาร! – การสวนกระแสโลกของกองทัพเมียนมาเมื่อ 1 ก.พ. ที่ก่อรัฐประหารรอบใหม่ จับกุม นางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรมว.การต่างประเทศของพม่า พร้อมด้วย ประธานาธิบดีวิน มินต์ และแกนนำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี ตอกย้ำว่าประชาธิปไตยของชาติเพื่อนบ้านแห่งนี้มีภูมิหลังและ เชื้อไฟที่ยังไม่มอด สำนักข่าวรอยเตอร์สรุปไว้ดังนี้

ปี 2505 หรือเมื่อ 59 ปีก่อน นายพลเน วิน เป็นผู้นำก่อการรัฐประหารยึดอำนาจจากนายกรัฐมนตรีอูนุ จากนั้นยกเลิกระบบสหพันธรัฐ และปูทางพม่าสู่ระบบสังคมนิยม ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีพม่ายาวนาน ถึง 26 ปี ระหว่างปี 2505-2531

ปี 2518 แนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติก่อตั้งจากการรวมตัวกันของชนกลุ่มน้อยต่างๆ

ปี 2531 เกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่รู้จักใน ชื่อ “การก่อการกำเริบ 8888” วันที่ 8 ส.ค. ค.ศ.1988 ผู้ประท้วงส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา ก่อนขยายวงกว้างเป็นการชุมนุมต้านรัฐบาลระดับชาติ มีเยาวชน พระสงฆ์ และประชาชนคนทั่วไป รวมทั้งนางซู จี ก็ออกมาประท้วงต่อต้านระบอบเผด็จการ และกลายเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

การประท้วงครั้งนี้สิ้นสุดลงในวันที่ 18 ก.ย. ปีเดียวกัน หลังจาก นายพลเน วิน ลาออก และทหารกลับมาปกครองพม่าอีกครั้ง โดย นายพลซอ หม่อง ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 และจัดตั้งสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (สลอร์ก) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ

อย่างไรก็ตาม สภาสลอร์กประกาศกฎอัยการศึก และเข้ายึดอำนาจการปกครองในนามของคณะทหาร ส่งผลให้เกิดการประท้วงรุนแรงและฝ่ายทหารใช้กำลังรับมือจนกลายเป็นเหตุนองเลือด มีผู้เสียชีวิตระหว่าง 3,000-10,000 ราย

24 ก.ย.2531 นางซู จี พร้อมเพื่อนร่วมอุดมการณ์ จัดตั้งพรรคเอ็นแอลดีเพื่อต่อต้านสภาสลอร์ก

ปี 2532 กองทัพสั่งคุมขังนางซู จี ที่บ้านพักในนครย่างกุ้ง

ปี 2533 พรรคเอ็นแอลดีชนะการเลือกตั้งถล่มทลายด้วยคะแนน 392 ที่นั่งจาก 485 ที่นั่ง แต่คณะทหารไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ปี 2534 นางซู จี ซึ่งยังถูกคุมขังได้รับเลือกให้ชนะรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เป็นยุคนายพล ตาน ฉ่วย – ขิ่น ยุ้นต์ เรืองอำนาจ

ปี 2538 หรือ 6 ปีหลังโดนกักตัวในบ้านพัก นางซู จี ได้รับอิสรภาพ แต่แล้วในปี 2543 นางซู จี ถูกกักตัวในบ้านพักเป็นครั้งที่สอง หลังปราศรัยปลุกระดมมวลชนให้ลุกขึ้นต่อสู้ล้มล้างรัฐบาลทหาร โดยถูกกักเป็นเวลานานเกือบ 20 เดือน ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย.2543 และได้รับอิสรภาพในเดือนพ.ค.2545

ปี 2553 พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (ยูเอสดีพี) ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพพม่า ชนะการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 20 ปีของประเทศ อีกปีถัดมา พลเอกเต็ง เส่ง สาบานตนรับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีพม่าในนามรัฐบาลกึ่งพลเรือนชุดแรกภายหลังยุครัฐบาลทหาร ปี 2555 พรรคเอ็นแอล ดีคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งรัฐสภา และนางซู จี ได้รับเลือกเข้าสภา

วันที่ 8 พ.ย. 2558 พรรคเอ็นแอลดีชนะการเลือกตั้งทั่วไป โดยนางซู จี สัญญาว่าจะแก้วิกฤตความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ กระตุ้นการลงทุนจากต่างชาติ และปฏิรูประบอบประชาธิปไตยต่อเนื่องจากยุคของอดีตประธานาธิบดี เต็ง เส่ง

ปี 2559 กลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงยาโจมตีด่านตำรวจชายแดนในรัฐยะไข่ สังหารตำรวจ 9 นาย ส่งผลให้กองทัพพม่าเปิดฉากปฏิบัติการทางความมั่นคง และพลเรือนชาวโรฮิงยาราว 70,000 คนอพยพไปยังบังกลาเทศ

ส.ค.2560 กลุ่มติดอาวุธโรฮิงยาก่อเหตุในหลายพื้นที่ทั่วรัฐยะไข่ และกองทัพตอบโต้ด้วยการกวาดล้างชาว โรฮิงยา ชาวบ้านกว่า 730,000 คนต้องหนีตายย้ายไป ปักหลักในบังกลาเทศ ทั้งกองทัพและรัฐบาลนางซู จี ยืนยันว่าเป็นการปราบปรามผู้ก่อการร้าย

23 ม.ค.2563 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) มีคำสั่งให้ทางการพม่าคุ้มครองชาวโรฮิงยาระหว่างการดำเนินคดีในชั้นศาล หลังอัยการแกมเบียเป็นผู้แทนยื่นฟ้องดำเนินคดีกับทางการพม่า

8 พ.ย. พม่าจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่สอง และพรรคเอ็นแอลดีชนะขาด ได้ที่นั่งในสภารวมกัน 396 ที่นั่งจากทั้งหมด 476 ที่นั่ง แต่พรรคยูเอสดีพีไม่ยอมรับผล และว่าพรรคของนางซู จี โกงการเลือกตั้ง

28 ม.ค.2564 คณะกรรมการการเลือกตั้งของพม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาว่ามีการทุจริตเลือกตั้ง และว่าไม่มีความผิดพลาดที่ใหญ่โตจนถึงขั้นส่งผลต่อคะแนนเลือกตั้ง

1 ก.พ. วันเปิดประชุมสภาชุดใหม่กลับเป็นวันที่กองทัพภายใต้ นายพลมิน อ่อง ไหล่ ก่อการรัฐประหาร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน