คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ถ่วงรั้งเพื่ออะไร – นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.ระบบบัญชี รายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งมีความเห็นสอดคล้องในแนวทางไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มาตั้งแต่แรก

ได้ร่วมกันเสนอญัตติด่วนเรื่อง ขอเสนอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210(2)

แม้ว่าจะอ้างว่าเพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เป็นไปอย่างถูกต้องและสมบูรณ์ที่สุด แต่จากจุดยืนที่ผ่านมา ประชาชนย่อมวินิจฉัยได้ว่าเป้าหมายที่แท้จริงคืออะไร

ซึ่งที่ประชุมรัฐสภา ก็มีมติ 366 ต่อ 316 เห็นด้วยกับการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย

ทําให้เสียงเรียกร้องจากประชาชนจำนวนมาก ที่ผลักดันให้สภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนร่วมกันเข้าชื่อมากมายเป็นประวัติการณ์ เพื่อให้พิจารณาแก้ไข จนนำไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา และพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว

ในที่สุด ก็ต้องสะดุดอีกครั้งเมื่อมีผู้เสนอญัตติดังกล่าวนี้ จนทำให้เกิดความเนิ่นช้าออกไปอีก กำหนดเวลาที่คาดการณ์ว่าจะสำเร็จลุล่วงไว้ก็ต้องขยายออกไปซึ่งคาดเดาลำบาก

ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว รัฐสภาคืออำนาจของนิติบัญญัติ ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ให้อำนาจและหน้าที่โดยตรงในการตรากฎหมายต่างๆ รวมถึงมีอำนาจอย่างมิต้องสงสัยในการแก้ไขบทบัญญัติใดๆ โดยไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

การยื่นร้องให้องค์กรอื่นให้วินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของตน จึงเป็นเรื่องตัดทอนย้อนแย้ง

สําหรับกระบวนการต่อจากนี้ เมื่อรัฐสภายื่นเรื่องมายังศาลรัฐธรรมนูญตามขั้นตอนแล้ว จากนั้นสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมตุลาการต่อไป เพื่อพิจารณารับหรือไม่รับพิจารณาวินิจฉัยเรื่องดังกล่าว

ในกรณีหากศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับพิจารณาวินิจฉัยเรื่องนี้แล้ว ก็จะขึ้นอยู่กับศาลว่าจะมีคำสั่งให้หยุดการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือจะให้พิจารณาต่อไป

แต่กรณีที่เสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภา ที่มีมติให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยพิจารณานั้น ก็จะเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงบทบาทว่าเหมาะสมหรือไม่ เพียงใด มีเจตนาถ่วงรั้งไม่ให้แก้ไขหรือไม่

เพราะเป็นการจับมือกันของสมาชิกวุฒิสภากับพรรคพลังประชารัฐ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน