สุขกลางกรุง สลัดผักอินทรีย์ – ในยุคสมัยที่เกิดวิกฤตธรรมชาติมากมาย ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าส่งผลต่อสุขภาพของคนมากขึ้น โรคภัยสายพันธุ์เก่าก็น่ากลัว โรคภัยสายพันธุ์ใหม่ๆ ก็น่ากังวล ผู้คนจึงหันมาดูแลตัวเองกันมากขึ้น

อากาศที่เคยสะอาดกลับต้องคอยระวัง อาหารที่เคยกินอย่างสะดวกใจก็ต้องคอยระแวง หลายๆ อย่างทำให้วิถีชีวิตของคนเราเปลี่ยนไป

สวนเกษตรสุขกลางกรุง ตั้งอยู่เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ท่ามกลางความเจริญและมลพิษกลับมีสวนเกษตรผักอินทรีย์ที่มีคุณภาพ เริ่มจาก คุณแอน พรมศักดิ์ แปรสภาพพื้นที่ทิ้งร้างเป็นแปลงผักอินทรีย์ที่มีลูกค้าต่อคิวจับจองจนแทบไม่พอขาย

“ผักมีประโยชน์ ไม่ว่าใครๆ ก็รู้ แต่ผักสมัยนี้ส่วนมากจะเติมแต่งสารเคมีและยาเข้าไป ทำให้การกินผักเริ่มมีโทษต่อเรามากขึ้น เราเองก็อยากกินผักที่ดี ปลอดภัย ปลูกเอง ขายเอง มั่นใจมากที่สุด” คุณแอน กล่าว

ผักในสวนเกษตรสุขกลางกรุงปัจจุบันมีมากกว่า 10 ชนิด ทั้งกรีนโอ๊ก เรดโอ๊ก คอส มิซูน่า ฟินเร่ บัตเตอร์เฮด และอีก หลากหลายชนิด แต่ละชนิดมีคุณสมบัติแตกต่างกันไป ต่างได้รับความนิยมในท้องตลาดมากเช่นกัน

“ผมไม่เคยกินผักสลัดหน้าตาแบบนี้มาก่อน พอฟังชื่อก็ยังไม่เคยได้ยิน แต่พอลองกินแล้ว กรอบ อร่อย ติดใจเลยครับ” โตโต้ ด.ช.ปฏิพัฒน์ หางแก้ว ที่ชอบหากิจกรรมใหม่ๆ ทำอยู่เสมอ เดินทางมา เรียนรู้การปลูกผักที่สวนเกษตรสุขกลางกรุงกับคุณแอน

สวนเกษตรแห่งนี้ไม่เพียงเป็นแหล่ง ผักสลัดคุณภาพดีปลอดสารเคมีเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เปิดรับผู้สนใจเข้ามาหาความรู้ได้เสมอ โตโต้ที่มีเวลาว่างมากขึ้นในช่วง โควิด-19 ระบาดก็มีไอเดียอยากเรียนรู้การ ปลูกผัก ครั้งนี้จึงได้ทั้งปลูก เก็บ และกินผัก เปิดโลกทัศน์เด็กชายคนหนึ่งให้กว้างมากขึ้น

“ปกติไม่ชอบกินผักครับ แต่พอปลูกแล้วก็อยากกินขึ้นมาเลย คิดว่าต้องผอมแน่ๆ ครับ”

บ้านของโตโต้ตั้งอยู่ที่สายไหม เขตข้างเคียงกับบางเขน ทำให้การเดินทางมาเรียนรู้ที่สวนเกษตรนี้ไม่ไกลและสะดวกสบายด้วยรถไฟฟ้า

“ที่บ้านผมไม่มีพื้นดินให้ปลูกอะไรแบบสวนที่นี่ครับ ถ้าจะปลูกก็ต้องปลูกใส่กระถาง การได้มาปลูกผักที่นี่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ สนุก แต่ก็เหนื่อยเหมือนกัน”

เมื่อพื้นที่ปลูกผักเริ่มห่างไกลคนเมือง ทำให้อาหารปลอดภัยเริ่มหายาก ในขณะเดียวกันผู้คนก็เริ่มใส่ใจและรักสุขภาพกันมากขึ้น ทั้งออกกำลังกายและมองหาอาหารที่ปลอดภัยโดยเฉพาะผักปลอดสาร

พื้นที่เล็กๆ แต่อัดแน่นด้วยคุณภาพครบด้านอย่างที่สวนเกษตรสุขกลางกรุงนี้จำเป็นต้องมีให้มากขึ้นในสังคมเมืองเช่นนี้ เพราะ ไม่เพียงเป็นแหล่งผลิตอาหารที่ดีต่อสุขภาพ แต่ยังเป็นพื้นที่สีเขียวเล็กๆ ที่จะช่วยดึงเอาธรรมชาติที่หายไปกลับเข้ามาสู่เมืองอีกครั้ง เด็กๆ รุ่นใหม่ก็จะได้เรียนรู้และสนุกกับผักเหมือนที่โตโต้ได้รับความรู้สึกเหล่านี้

ติดตามชาวสวนโตโต้ในรายการทุ่งแสงตะวัน ตอน ชาวสวนมือใหม่ วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม 2564 เวลา 05.05 น. ทางช่อง 3 กด 33 และทางเพจทุ่งแสงตะวัน

รัตนาภรณ์ ละมูลเจริญ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน