พุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์ (73) – แต่สิ่งทั้งหลายที่วิทยาศาสตร์ยังไม่รู้ความจริงยังมีอีกมากมาย และไม่ทราบว่าเมื่อไรวิทยาศาสตร์จะให้คำตอบที่จะบอกความจริงของสิ่งเหล่านั้นได้ ในขณะเดียวกัน มนุษย์แต่ละบุคคลก็ตาม ที่เป็นชุมชนหรือสังคมหนึ่งๆ ก็ตาม จำเป็นต้องดำเนินชีวิตและปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆ ทันทีในเวลานั้นๆ พูดง่ายๆ ว่าการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงามของมนุษย์แต่ละคนในช่วงชีวิตของเขาก็ดี ของสังคมในยุคสมัยนั้นๆ ก็ดี ไม่อาจรอคำตอบของวิทยาศาสตร์ได้

ส่วนเจตคติในทางพุทธศาสนาเป็นเจตคติทั้งในการแสวงหาความรู้และในการดำเนินชีวิต โดยถือว่าเจตคติแห่งการมองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัยนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตที่ดี มิใช่เป็นเพียงเครื่องมือในการหาความรู้เท่านั้น เพราะฉะนั้น ด้วยเจตคติแบบพุทธ เมื่อสิ่งใดยังไม่อาจรู้ชัดเจน หรือยังพิสูจน์ไม่ได้ เราก็จะมีท่าทีว่าในด้านการเข้าถึงความจริงจะหาความรู้ก็หาไป แต่ในเวลาเดียวกัน เราก็มีวิธีที่จะปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆ ให้ชีวิตที่ดีดำเนินไปได้ด้วยโดยไม่เสียหลักการแห่งการมองตามเหตุปัจจัย

สรุปตอนนี้อีกที วิทยาศาสตร์มีท่าทีต่อความจริงในการหาความจริงชั้นเดียวคือ ขั้นหาเนื้อตัวของความรู้ หรือหาองค์ความรู้ แต่ไม่บอกท่าทีในการที่จะดำเนินชีวิต ส่วนพุทธศาสนานั้นบอกสองชั้น คือบอกด้วยว่าจะปฏิบัติต่อสิ่งนั้นอย่างไร ในการดำเนินชีวิตที่เป็นจริงในสภาพปัจจุบันหรือในสังคมนั้น

จะยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่งที่มนุษย์มีปัญหากันอยู่เรื่อยๆ และบางทีพวกเราทั้งๆ ที่เป็นชาวพุทธก็ไม่ได้ใช้เจตคติพุทธให้เป็นประโยชน์ ตัวอย่างในที่นี้ก็คือ เรื่องเทวดา

ปัญหาเรื่องเทวดานี่เป็นเรื่องที่จะมองในแง่ของการพิสูจน์ความจริงก็ได้ มองในแง่ที่เกี่ยวกับสังคมมนุษย์หรือในแง่ของการดำรงชีวิตในปัจจุบันก็ได้ ถ้ามองในแง่วิทยาศาสตร์ก็มองแต่ในแง่ที่จะพิสูจน์หาความจริงว่า เทวดามีจริงหรือไม่มี

สำหรับเรื่องเทวดานี้ ถ้ามองในแง่ว่ามีหรือไม่มี ก็จะต้องหาทางกันว่าจะพิสูจน์อย่างไร แล้วเรื่องก็จะเดินต่อไปจนถึงอีกขั้นหนึ่งที่บอกว่ายังพิสูจน์ไม่ได้ หรือเป็นสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ แต่ไม่ว่าจะได้คำตอบว่าตอนนี้ยังไม่มีใครพิสูจน์ได้ หรือเป็นสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ก็ตาม ในแง่ของการพิสูจน์ความจริงมันก็ตันอยู่แค่นี้แล้วมนุษย์ก็ไม่มีทางไป แล้วคนก็จะต้องอยู่ด้วยความเชื่อ เพราะเมื่อยังพิสูจน์ไม่ได้ก็ต้องอยู่ด้วยความเชื่อ ฝ่ายหนึ่งก็เชื่อว่ามี อีกฝ่ายหนึ่งก็เชื่อว่าไม่มี ต่างก็เป็นความเชื่อด้วยกัน ฝ่ายที่ว่าไม่มีนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะพ้นความเชื่อ ก็ยังเป็นความเชื่ออยู่นั่นแหละ คือเชื่อว่าไม่มี

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน