ก้าวไกลจี้ลดขั้นตอนรักษาโควิด – วันที่ 30 เม.ย. นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวกรณีการแถลงของ ศบค. เมื่อ 29 เม.ย. ที่ผ่านมา ที่ระบุข้อมูลระยะเวลาทราบผลติดเชื้อ จนถึงเสียชีวิตมีค่าเฉลี่ย 3 วันนั้น ว่า อาจตีความได้ว่าโควิดรอบนี้รุนแรงมาก เพราะติดเชื้อแค่ 3 วันก็เสียชีวิตแล้ว บางรายเสียชีวิตในวันที่ทราบผลตรวจ บางรายเสียชีวิตก่อนผลตรวจจะออก ระยะ 3 วันเริ่มนับจากวันที่ทราบผลติดเชื้อ จึงคิดได้อีกมิติหนึ่งคือการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้ออาจเกิดขึ้นจากการรอคอยก็ได้ การรอคอยอาจเกิดขึ้นในกระบวนการ 4 รอ ได้แก่ รอคิวตรวจ รอผลตรวจ รอเตียงและรอยา โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ในช่วงที่ยังไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย หากได้รับยาเร็วภายใต้การวินิจฉัยของแพทย์ก็จะสกัดการลุกลามได้

กระทรวงสาธารณสุขควรเอากรณีการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นมาวิเคราะห์ว่า ในกระบวนการรักษามีระยะเวลาในการรอคอย หรือ Idle Time เท่าไร สามารถลดขั้นตอนการทำงาน ลดงานเอกสาร ลดงานธุรการ ลดการบันทึกข้อมูลซ้ำซ้อน และลดหลักฐานเอกสารที่ใช้ รวมถึงแก้ไขกฎระเบียบที่วุ่นวาย เพื่อทำให้ขั้นตอนต่างๆ มีระยะเวลาในการรอคอยที่ลดลง เพื่อรักษาชีวิตคน ซึ่งเป็นต้นทุนที่มีมูลค่ามหาศาล

ต้นทุนที่ถูกที่สุด คือ การฉีดวัคซีน ฉีดแอสตราเซเนกา 2 โดส ต้นทุนอยู่ที่ 302 บาท ถ้าฉีดซิโนแวค 2 โดส 1,098 บาท ถ้าเป็นวัคซีน ไฟเซอร์ 2 โดส 1,181 บาท และถ้าเป็นวัคซีน จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน โดสเดียว 302 บาท แต่ต้นทุนการรักษาแพงกว่ามาก อย่างค่าตรวจ RT-PCR เคสละ 1,600 บาท ยาฟาวิพิราเวียร์ เม็ดละประมาณ 125 บาท ซึ่งผู้ติดเชื้อ 1 คน ต้องใช้ยาประมาณ 40-70 เม็ด คิดต่อรายจะมีต้นทุนสูงถึง 5,000-8,750 บาท และหากผู้ติดเชื้อมีอาการหนักต้องเข้าห้องไอซียูก็จะมีต้นทุนเพิ่มอีก และยังไม่นับค่าใช้จ่ายอื่นๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน