บทบรรณาธิการ – ‘หมอพร้อม’กับ‘วิกฤต’

“หมอพร้อม” คือ ชื่อบัญชีทางออนไลน์ ที่จัดทำขึ้นเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลการระบาดของโควิด-19 ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อ รวมถึงบริการต่างๆ เช่น ลงทะเบียนฉีดวัคซีน และจองฉีดวัคซีน

กระทรวงสาธารณสุข เปิดโอกาสให้กลุ่มเสี่ยงที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยโรคเรื้อรังจำนวน 7 โรค จำนวน 16 ล้านคนทั่วประเทศ แจ้งความจำนงขอฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

โดยให้ลงทะเบียนและแจ้งความประสงค์ เพื่อรับบริการวัคซีนโควิด-19 ทั้งทางบัญชีไลน์ “หมอพร้อม” และแอพพลิเคชั่น “หมอพร้อม” เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. มีดาวน์โหลดใช้งาน

ทั้งในกลุ่มเสี่ยงและประชาชนทั่วไป

ล่าสุด ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. แถลงว่านายกรัฐมนตรีในฐานะผอ.ศบค.สั่งการให้ประชุมชุดเล็ก จนนำไปสู่การให้ชะลอใช้ไปก่อน โดยให้ระบบ “หมอพร้อม” ติดตามและออกใบรับรองการฉีดวัคซีน

การเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันนี้ สร้างความสับสนสำหรับผู้ที่ลงทะเบียนไปแล้วโดยเฉพาะสองกลุ่มหลักคือกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี และกลุ่มที่เป็น 7 กลุ่มโรคเสี่ยง

แต่เมื่อได้รับคำชี้แจงว่าจะได้รับการฉีดในช่วงเวลาที่เหมาะสม ส่วนจะเป็นเมื่อใดนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนวัคซีน และจะได้ลำดับต้นๆ ก็ยิ่งทำให้ขาดความเชื่อมั่นยิ่งขึ้นอีก

แม้รัฐบาลจะพยายามชี้แจงว่าสิทธิดังกล่าวยังคงอยู่ในระบบบ แต่พอเปิดช่องทางใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมา ก็ยิ่งสร้างความสับสนหนักขึ้นอีก

ต้องยอมรับว่าการบริหารการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลมีปัญหาตั้งแต่แรกเริ่ม ที่มั่นใจกับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และฝากความหวังไว้กับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์

เมื่อเปิดไทม์ไลน์ก็พบว่าเดือนมกราคม รมว.สาธารณสุขระบุว่าจะได้รับวัคซีนชนิดนี้จากอิตาลี 1.5 แสนโดส ปลัดกระทรวงตั้งเป้าปักเข็มแรกในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ แต่ก็เลื่อน

วันที่ 16 มี.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ก็ได้ฉีดเข็มแรก และฉีดเข็มที่ 2 ในวันที่ 24 พ.ค. ซึ่งอยู่ในระยะเวลาทิ้งช่วง 10 สัปดาห์พอดี

ขณะที่โรงพยาบาลหลายแห่งที่เตรียมเข็ม 2 ให้แก่กลุ่มเสี่ยงก็ต้องเลื่อนออกไป อันเนื่องมาจากระบบการจัดหาวัคซีนแต่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เป็นไปตามกำหนดเวลา

จนกลายเป็นวิกฤตความเชื่อมั่นไปแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน