รู้จักสังเวียนแข้งก่อนเปิดยูโร2020 – ศึกยูโร 2020 ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปหนนี้พิเศษกว่าทุกๆ ครั้งกับการฉลองครบรอบ 60 ปี เพราะกระจายฟาดแข้งใน 11 ประเทศ

เรามาเริ่มรู้จักสังเวียนฟาดแข้งลูกหนังยุโรปหนนี้กันก่อนจะเปิดฉากความมันใน 11 มิ.ย.นี้กันได้เลย

อิตาลี : สตาดิโอ โอลิมปิโก, กรุงโรม

(ความจุมาตรฐาน 70,634 ที่นั่ง)

สนามแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนาน เริ่มสร้างตั้งแต่ปี 1927 เปิดใช้งานในปี 1932 แต่ตอนนั้นงานก่อสร้างยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดีนัก รวมถึงยังมีช่วงเวลาที่ต้องเผชิญสงครามโลกครั้งที่ 2 กระทั่งสามารถเปิดใช้งานแบบเต็มรูปแบบจริงได้ในปี 1953

สนามแห่งนี้มี 2 สโมสรดังอย่าง “หมาป่า” โรมา และ “อินทรีฟ้าขาว” ลาซิโอ เป็นเจ้าของร่วมกัน ผ่านการใช้งานในศึกฟุตบอลสำคัญมาแล้วมากมาย อาทิ ฟุตบอลโลก 1990 ฟุตบอลยูโร 1968, 1980 ฟุตบอลยูโรเปียน คัพ และยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก นัดชิงชนะเลิศ 1977, 1984, 1996, 2009

สำหรับในยูโร 2020 แผนการเวลานี้ได้รับไฟเขียวให้รองรับ ผู้ชมได้แมตช์ละไม่เกิน 16,000 คน เทียบเป็นประมาณ 25% ของความจุสนาม ใช้ในการแข่งขันทั้งหมด 4 แมตช์ (3 แมตช์รอบแบ่งกลุ่ม 1 แมตช์รอบก่อนรองชนะเลิศ)

โดยสนามแห่งนี้มีความพิเศษตรงที่ได้รับเลือกให้เป็นสถานที่จัดพิธีเปิดการแข่งขัน และเป็นสังเวียนแข้งสำหรับแมตช์แรกของทัวร์ นาเมนต์ด้วย

เกมที่จัดแข่งขัน

– 11 มิถุนายน รอบแบ่งกลุ่ม กลุ่มเอ : ตุรกี-อิตาลี (พร้อมพิธีเปิดการแข่งขัน)

– 16 มิถุนายน รอบแบ่งกลุ่ม กลุ่มเอ : อิตาลี-สวิตเซอร์แลนด์

– 20 มิถุนายน รอบแบ่งกลุ่ม กลุ่มเอ : อิตาลี-เวลส์

– 3 กรกฎาคม รอบก่อนรองชนะเลิศ

อาเซอร์ไบจาน : บากู เนชันแนล สเตเดียม, กรุงบากู

(ความจุมาตรฐาน 68,700 ที่นั่ง)

สนามแห่งนี้เริ่มต้นก่อสร้างในปี 2012 เปิดใช้งานในปี 2015 อาจจะไม่ได้มีเรื่องราวด้านประวัติศาสตร์มากนัก แต่ก็โดดเด่นเรื่องประโยชน์ใช้สอยในแบบสมัยใหม่ และผ่านงานสำคัญมาแล้วพอสมควร

นอกจากจะใช้งานในเกมของทีมชาติอาเซอร์ไบจานแล้ว สนามแห่งนี้ยังเป็นสังเวียนแข้งที่ให้สโมสรชั้นนำของชาติอย่างคาราบักได้ใช้งานในการลงเตะเกมถ้วยยุโรปด้วย รวมถึงยังเคยรองรับเกมยูฟ่า ยูโรปา ลีก นัดชิงชนะเลิศ ในปี 2019

สำหรับในยูโร 2020 แผนการเวลานี้ ได้รับไฟเขียวให้รองรับผู้ชมได้แมตช์ละไม่เกิน 31,000 คน เทียบเป็นประมาณ 50% ของความจุสนาม แต่ไม่อนุญาตให้แฟนบอลต่างชาติเข้าชม ยกเว้นแฟนบอลของทีมชาติที่ลงสนามแต่ละแมตช์ ใช้ในการแข่งขันทั้งหมด 4 แมตช์ (3 แมตช์รอบแบ่งกลุ่ม 1 แมตช์รอบก่อนรองชนะเลิศ)

แมตช์ที่จัดแข่งขัน

– 12 มิถุนายน รอบแบ่งกลุ่ม กลุ่มเอ : เวลส์-สวิตเซอร์แลนด์

– 16 มิถุนายน รอบแบ่งกลุ่ม กลุ่มเอ : ตุรกี-เวลส์

– 20 มิถุนายน รอบแบ่งกลุ่ม กลุ่มเอ : สวิตเซอร์แลนด์-ตุรกี

– 3 กรกฎาคม รอบก่อนรองชนะเลิศ

เนเธอร์แลนด์ : โยฮัน ครัฟฟ์ อารีนา, กรุงอัมสเตอร์ดัม

(ความจุมาตรฐาน 54,990 ที่นั่ง)

เดิมทีใช้ชื่อว่า อัมสเตอร์ดัม อารีนา แล้วมาเปลี่ยนเป็นชื่อปัจจุบันในปี 2017 เพื่อรำลึกถึงโยฮัน ครัฟฟ์ ตำนานลูกหนังผู้ล่วงลับ เริ่มก่อสร้างในปี 1993 เปิดใช้งานปี 1996

สนามแห่งนี้เป็นของอาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม สโมสรชั้นนำของประเทศ รวมถึงยังใช้งานในแมตช์ทีมชาติมาพอสมควร เคยเป็นหนึ่งในสังเวียนแข้งในศึกยูโร 2000 แถมยังผ่านการจัดแมตช์สำคัญอย่างยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก นัดชิงชนะเลิศ 1998 และยูฟ่า ยูโรปา ลีก นัดชิงชนะเลิศ 2013

สำหรับในยูโร 2020 แผนการเวลานี้ได้รับไฟเขียวให้รองรับผู้ชมได้แมตช์ละไม่เกิน 12,000 คน เทียบเป็นประมาณ 25% ของความจุสนาม ใช้ในการแข่งขันทั้งหมด 4 แมตช์ (3 แมตช์รอบแบ่งกลุ่ม 1 แมตช์รอบ 16 ทีมสุดท้าย)

แมตช์ที่จัดแข่งขัน

– 13 มิถุนายน รอบแบ่งกลุ่ม กลุ่มซี : เนเธอร์แลนด์-ยูเครน

– 17 มิถุนายน รอบแบ่งกลุ่ม กลุ่มซี : เนเธอร์แลนด์-ออสเตรีย

– 21 มิถุนายน รอบแบ่งกลุ่ม กลุ่มซี : นอร์ทมาซิโดเนีย-เนเธอร์แลนด์

– 26 มิถุนายน รอบ 16 ทีมสุดท้าย

โรมาเนีย : อารีนา นาซิโอนาลา, กรุงบูคาเรสต์

(ความจุมาตรฐาน 55,600 ที่นั่ง)

เป็นอีกสนามที่เกิดขึ้นในยุคสมัยใหม่ โดยเริ่มก่อสร้างในปี 2009 เปิดใช้งานเมื่อปี 2011 ท่ามกลางปัญหาทั้งเรื่องงบประมาณและความล่าช้า แต่สุดท้ายก็สร้างเสร็จสมบูรณ์

เดิมทีสนามแห่งนี้มีไว้ใช้งานสำหรับเกมทีมชาติเป็นหลัก กระทั่งปี 2015 เอฟซีเอสบี (เดิมคือสเตอัว บูคาเรสต์) เข้ามาใช้เป็นสนามเหย้า ต่อด้วยปี 2020 ดินาโม บูคาเรสต์ก็ขอใช้สังเวียนแข้งแห่งนี้อีกทีม นอกจากนี้ ยังเคยใช้จัดแมตช์ชิงชนะเลิศยูฟ่า ยูโรปา ลีก 2012

สำหรับในยูโร 2020 แผนการเวลานี้ได้รับไฟเขียวให้รองรับ ผู้ชมได้แมตช์ละไม่เกิน 13,000 คน เทียบเป็นประมาณ 25% ของความจุสนาม ใช้ในการแข่งขันทั้งหมด 4 แมตช์ (3 แมตช์รอบแบ่งกลุ่ม 1 แมตช์รอบ 16 ทีมสุดท้าย)

แมตช์ที่จัดแข่งขัน

– 13 มิถุนายน รอบแบ่งกลุ่ม กลุ่มซี : ออสเตรีย-นอร์ท มาซิโดเนีย

– 17 มิถุนายน รอบแบ่งกลุ่ม กลุ่มซี : ยูเครน-นอร์ทมาซิโดเนีย

– 21 มิถุนายน รอบแบ่งกลุ่ม กลุ่มซี : ยูเครน-ออสเตรีย

– 28 มิถุนายน รอบ 16 ทีมสุดท้าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน