ทางรอดเดียว – ลายเป็นปัญหาซ้ำซ้อนไม่สิ้นสุด จากมาตรการยกระดับพื้นที่ควบคุมสูงสุด 10 จังหวัดกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโควิด

ตามมาด้วยปิดแคมป์ก่อสร้างในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อย่างน้อย 30 วัน เนื่องจากเกิดการระบาดในกลุ่มแรงงาน ทั้งคนไทยเอง และแรงงานข้ามชาติ เกิดคลัสเตอร์ใหญ่หลายพื้นที่

การปิดแคมป์ย่อมหยุดงานไปโดยปริยาย แรงงานไม่น้อยออกจากแคมป์กลับภูมิลำเนา เกิดการกระจายจากกรุงเทพฯ สู่จังหวัดนั้นๆ ดังที่ปรากฎในหลายพื้นที่อยู่ในขณะนี้

กลับกลายเป็นการแก้ปัญหาที่ผลักภาระ แล้วไปเกิดปัญหาอีกแห่งหนึ่งแก้ไม่จบสิ้น

นอกจากปิดแคมป์แล้วยังส่งเจ้าหน้าที่ควบคุมการเข้าออกอย่างเข้มงวด ไม่ให้ออกจากพื้นที่อย่างเด็ดขาด เพื่อหยุดการเคลื่อนย้าย ไม่ให้เชื้อแพร่กระจายสู่ภายนอก

แม้กระทั่งเมื่อติดเชื้อก็จะถูกกักตัวอยู่ในพื้นที่โดยใช้มาตรการเดียวกับผู้ต้องขังในเรือนจำ หรือกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ จ.สมุทรสาคร เมื่อคราวระบาดรอบสอง ท่ามกลางข้อทักท้วงเพิกเฉยต่อหลักมนุษยธรรม มองคนไม่เท่ากันหรือไม่

ความจริงแล้วกลุ่มแรงงานก็ไม่ต่างจากกลุ่มอื่นในประเทศต้องได้รับการตรวจเชิงรุก ต้องการพื้นที่กักตัวที่ได้รับการดูแลเหมือนอย่างคนกลุ่มอื่นต้องการแพทย์ การรักษาเมื่อติดเชื้อ และต้องการวัคซีนคุณภาพ

กลุ่มคนเหล่านี้ควรได้รับการปฏิบัติอย่างให้เกียรติ และเป็นธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่

อีกมาตรการที่ออกมาคู่กันห้ามนั่งในร้านอาหารต้องซื้อกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ประกอบการรายย่อย นอกจากกระทบเจ้าของกิจการแล้ว ยังส่งผลลูกจ้างพนักงาน

ทั้งสองมาตรการรัฐบาลยังไม่มีแผนอะไรมารองรับให้เกิดเป็นรูปธรรมชัดเจน หรือหลักประกันอะไรเลยว่าการเผยแพร่ระบาดจะลดลง ยิ่งตอกย้ำถึงความล้มเหลวซ้ำซาก

การล็อกดาวนืเมือง ปิดพื้นที่ หยุดเศรษฐกิจการค้า หยุดการทำงมาหากิน ทำได้เพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น แม้จะออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาดังที่อนุมัติมาล่าสุดก็เยงแค่ระยะสั้น ทั้งยังกะปริบกะปรอยด้วยซ้ำ

ตอนนี้จึงเหลือทางรอดเดียวเท่านั้นรัฐบาลต้องไปหาวัคซีนมาให้เร็วทั่วถึง ทันการณ์มากกว่านี้ และต้องมีคุณภาพด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน