อะไรคือเฟกนิวส์ – นอกจากการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลบนท้องถนน จะต้องพบกับการใช้กำลังและใช้กฎหมายจัดการอย่างแข็งกร้าวแล้ว การแสดงความเห็นทางโลกออนไลน์เริ่มเจอกับความเข้มงวดแล้วเช่นกัน

โดยเฉพาะกลุ่มดารา นักร้อง และผู้มีชื่อเสียง ในแวดวงสังคมที่คอลเอาต์ ถูกเตือนด้วยกฎหมาย ทั้ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ. โรคติดต่อ

เกิดคำถามว่าการตำหนิติเตียนรัฐบาล ไปจนถึงขับไล่นายกรัฐมนตรี คือเฟกนิวส์ หรือข่าวปลอม หรือไม่

บรรทัดฐานเรื่องนี้สำคัญ ต้องชัดเจน และเป็นฉันทามติร่วมกันของสังคม

ไม่เช่นนั้นอาจเกิดกรณีเหมือนกับ ผู้ชุมนุมที่แสดงออกอย่างสันติถูกปฏิบัติอย่างรุนแรงเช่นเดียวกับผู้ชุมนุม ที่ใช้กำลัง

ระหว่างเกิดกระแสโจมตีการทำงานของรัฐบาลในสถานการณ์โควิด กระทรวงดิจิทัลฯ เผยแพร่การเก็บรวบรวมข้อมูลของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ช่วง 9 เดือน นับจากวันที่ 1 ต.ค.2563 ถึง 30 มิ.ย. 2564 ได้ผลสรุปว่ามีผู้โพสต์ข่าวปลอมเกือบ 5.9 แสนราย และมีผู้แชร์ข่าวปลอมสูงถึง 20 ล้านราย

อีกทั้งระบุว่ากลุ่มที่มีพฤติกรรมโพสต์และแชร์ข่าวปลอมมากกว่าร้อยละ 90 อยู่ช่วงอายุ 18-34 ปี

พร้อมคำเตือนถึงประชาชนให้ต้องตระหนักว่าการแชร์ต่อข่าวปลอมทางโซเชี่ยล อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายที่เอ่ยมา

โดยอาศัยการทำหน้าที่ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เป็นฝ่ายพิจารณา วินิจฉัย และตีความข้อมูลข่าวสารว่าชิ้นใดเป็นข่าวปลอม

หากหน่วยงานของรัฐจะปราบปรามหรือต่อต้านข่าวปลอมอย่างโปร่งใสและเป็นกลาง ต้องทำให้ไม่ด้อยกว่าหน่วยงานเอกชนอย่างบริษัทสื่อโซเชี่ยลที่มีมาตรฐานชุมชนจัดการข่าวปลอม

เช่น กรณีดาราคนดังตำหนิรัฐบาลจัดหา วัคซีนล่าช้า ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน จึงเรียกร้อง ขอวัคซีนคุณภาพ จัดเป็นข่าวปลอมหรือไม่ อย่างไร

หรือกรณีผู้นำฝ่ายขวาระบุว่า เมืองไทยเป็นเหมือนแผ่นดินทอง เป็นที่หมายปองของพวกมหาอำนาจ ความคิดนี้ถือเป็นข่าวปลอมหรือไม่

มาตรฐานนี้ต้องมีที่มาที่ไป มีรายละเอียด เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงได้ และตอบได้ว่าอะไรคือเฟกนิวส์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน