ท่องเที่ยวตกต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ททท.หวั่นเป้าท่องเที่ยวปี’64 ทรุด หากขยายล็อกดาวน์ออกไปนาน 3 เดือน ประเมินต่างชาติเข้าไทยได้เพียง 1 ล้านคน

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) เปิดเผยว่าแนวโน้มการเติบโตของการท่องเที่ยวปี 2564 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยประมาณ 1.2 ล้านคน ลดลง 82% จากปีก่อนมีจำนวนนักท่องเที่ยว 6.7 ล้านคน และลดลงจากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 3 ล้านคน หรือลดลง 55% คาดมีรายได้ประมาณ 8.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็นรายได้ลดลงจากปีก่อน 74%

ส่วนนักท่องเที่ยวคนไทยอาจลดลงต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เหลือเพียง 50-60 ล้านคน/ครั้ง ลดลงประมาณ 34-45% จากปีก่อนที่มีจำนวน 90.55 ล้านคนครั้ง และลดลงจากเดิมที่ตั้งเป้าหมายมีนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยประมาณ 90-100 ล้านคน/ครั้ง คาดมีรายได้รวมประมาณ 2.7-3.2 แสนล้านบาท หรือลดลง 33-43% จากรายได้ปีก่อน 4.82 แสนล้านบาท และลดลงจากเดิมที่ตั้งเป้าหมายมีรายได้จากการท่องเที่ยวของคนไทยรวม 5.5 แสนล้านบาท

“ขณะนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมการระบาดอยู่หรือไม่ หากคุมไม่อยู่มีการขยายล็อกดาวน์ออกไปนาน 3 เดือน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะเผชิญกับจุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ มีรายได้จากการท่องเที่ยวภาพรวมทั้งปีเพียง 3.5-4.05 แสนล้านบาท หรือลดลงประมาณ 50-56% จากปีก่อนหน้าที่มีรายได้ประมาณ 8.15 แสนล้านบาท”

สำหรับเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ขณะที่ยังไม่ปรับเป้า คือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะมีประมาณ 3 ล้านคน ลดลงจากปีก่อน 55% สร้างรายได้ประมาณ 3 แสนล้านบาท ลดลง 10% จากปีก่อนที่มีรายได้ 3.3 แสนล้านบาท มีนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยจำนวน 100-120 ล้านคน/ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10-32% มีรายได้ 5.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 14% โดยเป้าหมายรวมของการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศจะสร้างรายได้ประมาณ 8.5 แสนล้านบาท

นายยุทธศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ยอมรับการท่องเที่ยวภายในประเทศประสบภาวะถดถอย ซึ่งก่อนการระบาดของโควิด คนไทยเดินทางท่องเที่ยวเกือบ 100 ล้านคน/ครั้ง ถ้าล็อกดาวน์นานกว่า 3 เดือน คนไทยจะเดินทางท่องเที่ยวเหลือ 50-60 ล้านคน/ครั้ง หากควบคุมสถานการณ์ได้ต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือน คนไทยจึงจะกล้าเดินทางท่องเที่ยว ดังนั้นไตรมาส 4 ของปีนี้สถานการณ์อาจยังไม่กลับมา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน