เอกชนให้จีดีพีติดลบ1.5%แบงก์ชาติสั่งลดจีดีพีเหลือ 0.7% ขณะที่กนง.เสียงแตก 4 ต่อ 2 คงดอกเบี้ยประคองเศรษฐกิจ โดยอีก 2 เสียงอยากให้ลดลงอีก ด้านเอกชน 3 สถาบันหั่นหนักติดลบสูงสุด 1.5% เหตุจากโควิดยังลามไม่หยุด ส่วนมาตรการล็อกดาวน์พื้นที่สีแดงคาดเสียหาย 3-4 แสนล้านบาท

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า ที่ประชุม กนง. มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากกว่าที่คาด และมีความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยยะสำคัญ

ขณะเดียวกันปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ลดลงเหลือ 0.7% จากคาดการณ์เดิมที่ 1.8% และปี 2565 ลดลงเหลือ 3.7% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.9% เนื่องจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ายังอยู่ในระดับสูง ตามการบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบในปีนี้ และแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับลดลงมากในปีหน้า ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระ

โจทย์สำคัญคือเร่งควบคุมการระบาดและกระจายวัคซีน เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของประชาชน และเอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและ รายได้กลับมาขยายตัว ขณะที่มาตรการด้านการเงินการคลังจะต้อง เร่งช่วยผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันการณ์ยิ่งขึ้น

โดยการช่วยเหลือต้องเร่งผลักดันผ่านการกระจายสภาพคล่องและลดภาระหนี้ของกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่ามาตรการการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ขณะที่กรรมการ 2 ท่านเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อเป็นมาตรการเสริม

ด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่าที่ประชุมมีมติปรับลดจีดีพีของไทยปี 2564 ลงมาอยู่ในกรอบติดลบ 1.5-0% จากประมาณการครั้งก่อน อยู่ที่ 0-1.5%

ผลกระทบทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่สีแดงเข้มเสียหายเดือนละ 300,000-400,000 ล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน