สวนลุงโมทย์โคตรคุย แหล่งอินทผลัมเมืองสิงห์ – แม้จะเหลืออายุราชการอีก 3 ปี แต่ “น.ท.ปราโมทย์ พวงทอง” ก็เตรียมความพร้อมหลังเกษียณไว้แล้ว โดยหันมาทำ สวนอินทผลัมที่บ้านเกิดหมู่ 8 ต.โพธิ์ชัย อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ในเนื้อที่ 30 ไร่ เมื่อ 3-4 ปีก่อน ชื่อ “สวนลุงโมทย์โคตรคุย” ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยงเชิงเกษตรด้วย

ตอนนี้อินทผลัมกำลังให้ผลผลิตเต็มต้น เริ่มสุกตั้งแต่เดือนก.ค.-ก.ย. ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์กินสด สีเหลืองอย่างบาร์ฮี แจมด้วยผลสีแดงสดใสอย่างโคไนซี่ รวมทั้งหมด 300 ต้น ใช้เนื้อที่ 10 ไร่ ส่วนพื้นที่ที่เหลืออีก 20 ไร่ ปลูกมะพร้าวน้ำหอม เงาะ โกโก้ มะละกอ และส้มโอ ฯลฯ โดยยึดหลัก “เศรษฐกิจพอเพียง” ของในหลวง รัชกาลที่ 9

น.ท.ปราโมทย์เล่าว่า ซื้อต้นพันธุ์อินทผลัมแบบเพาะเนื้อเยื่อมาปลูกราคาต้นละ 2,500-5,000 บาท ปลูกแบบเกษตรปลอดภัย ซึ่งอินทผลัมสามารถปลูกได้เกือบทุกพื้นที่ของประเทศไทย ยกเว้นภาคใต้ เนื่องจากฝนชุกและไม่มีช่วงอากาศเย็นมากระตุ้นการออกจั่น แต่แม้เป็นพืชทะเลทรายแต่อินทผลัมขาดน้ำไม่ได้ ดังนั้นต้องมีแหล่งน้ำสํารองเพียงพอ โดยช่วงออกจั่นอินทผลัมต้องการน้ำ 2-3 วัน/ครั้ง ส่วนช่วงให้ผลผลิตต้องการน้ำมาก

ทั้งนี้หากปลูกแบบยกร่องจะสะดวกในการให้น้ำ เพราะสามารถวางท่อและให้น้ำด้วยระบบสปริงเกลอร์ได้ ในด้านแหล่งน้ำหากใช้น้ำบาดาลจะช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาสารปนเปื้อนได้

สำหรับการใส่ปุ๋ย ในระยะเตรียมต้นเลือกใช้ปุ๋ยสูตร 25-7-7 หรือ 16-16-16 ต่อมาช่วงเดือนต.ค. หรือขั้นการสะสมอาหารใช้ปุ๋ยสูตร 8-24-24 จนกระทั่งเริ่มออกจั่น หลังจากนั้นบํารุงด้วยปุ๋ยสูตร 13-10-20 ตลอดระยะการปลูก หากหาสูตรปุ๋ย ดังกล่าวไม่ได้ สามารถเลือกใช้ปุ๋ยสูตร 16-16-16 ได้ตลอดระยะการปลูก อย่างไรก็ตามแต่ละพื้นที่สภาพดินและความอุดมสมบูรณ์ย่อมแตกต่างกัน จึงควรศึกษาดินในพื้นที่ และเรียนรู้ ทดลองปรับการใส่ปุ๋ยให้เหมาะสมกับสภาพแต่ละพื้นที่

ส่วนการป้องกันกําจัดโรคและแมลง ปัญหาหลักของอินทผลัมส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อรากลุ่มราสนิม ที่ทําให้เกิดอาการกาบใบแห้งและกาบใบไหม้ ป้องกันได้ด้วยสารเคมี อาทิ สารป้องกันกำจัดโรคพืช ลาบิไลท์ (แมนโคเซป+ไทโอฟาเนต-เมทิล) ผสมกับสารเคมีกําจัดเพลี้ย และอีกหนึ่งสาเหตุการเกิดโรค คือสภาพแวดล้อมในแปลงปลูก เช่นหากพื้นที่ปลูกมีน้ำท่วมขัง จะทําให้ต้นอินทผลัมเป็นโรครากเน่าโคนเน่าหรือเกิดโรคใบหงิกได้

ปัญหาแมลงคือ “ด้วงแรด” ที่จะเข้าทําลายโดยเจาะบริเวณโคนต้นทําให้เกิดบาดแผล แมลงชนิดที่ 2 คือ “ด้วงงวงช้าง” สามารถเข้ามาไข่ในรอยเจาะที่ด้วงแรดทําลายไว้ได้ ซึ่งด้วงงวงช้างจะพัฒนาเป็นตัวหนอนเข้าไปกัดกินจนเป็นโพรง ทําให้ต้นอินทผลัมล้มตาย

การป้องกันกําจัดทําได้ 2 วิธีคือ 1.การใช้ชีววิธี โดยนําทรายโรยบริเวณโคนต้น ควบคู่กับการให้คนงานคอยสอดส่อง นำเหล็กแหลมแทงตัวด้วงแรดออกมาจากต้น หลังจากนั้นใช้ดินเหนียวอุดรู เพื่อไม่ให้ด้วงงวงช้างเข้าไปไข่ และ 2.การใช้สารเคมี อาทิ สารป้องกันกำจัดเพลี้ย-แมลงอื่นๆ เช่น ออนคอล (เบนฟูราคาร์บ) ที่สำคัญตามมาตรฐาน GAP ช่วงก่อนการเก็บเกี่ยวงดใช้สารเคมีโดยเด็ดขาดและเลือกใช้การกําจัดศัตรูพืชด้วยชีววิธี

น.ท.ปราโมทย์บอกด้วยว่าการปลูกอินทผลัมไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อน แต่ต้องดูแลตั้งแต่เริ่ม ซึ่งต้นอินทผลัมจะเริ่มผสมเกสรประมาณเดือน ม.ค.-ก.พ. แต่ปีนี้พบว่าช่วงการผสมเกสร ยืดออกไปถึงช่วงเดือนเม.ย. เกษตรกรสามารถทยอยผสมเกสรได้เรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับการพัฒนาของต้น และหลังจากแทงจั่นและผสมเกสรเรียบร้อยแล้ว นับต่อไปอีกประมาณ 150 วัน จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ดังนั้นหากนับตั้งแต่ช่วงผสมเกสรจนกระทั่งเก็บเกี่ยวผลผลิต ใช้ระยะเวลารวมประมาณ 5 เดือน

ระหว่างนั้นนอกจากการบํารุงต้น ป้องกันโรคและแมลงอยู่เสมอแล้ว เคล็ดลับหนึ่งที่ทําให้ผลผลิตออกมามีคุณภาพ คือ 1.ในระยะติดผล ต้องคอยสังเกตการเจริญเติบโตของเมล็ด หากมีผลผลิต/ช่อ มากเกินไปต้องตัดแต่งผลทิ้ง เพื่อให้เมล็ดพัฒนาได้สมบูรณ์ 2.ควร “ห่อผล” โดยเลือกใช้ถุงชุนฟงและถุงตาข่ายในการห่อผล เพื่อป้องกันแมลงกัดกินผล และทำให้ผิวสวย อีกทั้งยังช่วยลดการใช้สารเคมีลงได้มาก

พูดถึงเรื่องช่องทางการตลาด เจ้าของ “สวนลุงโมทย์โคตรคุย” ระบุว่า หากไม่มีปัญหาโควิดมาเป็นตัวแปร ไม่น่ากังวลเลย เพราะลูกค้าจะเสาะหาและเข้ามาหาซื้อเองถึงสวน แต่ปีนี้การท่องเที่ยวเชิงเกษตรและการขายสินค้าชะลอตัว จึงจําหน่ายผลผลิตยากกว่าปีก่อนๆ ทำให้ราคาลดลงกว่าปีที่ผ่านมา เล็กน้อย อย่างพันธุ์บาร์ฮีเฉลี่ย 400 บาท/ก.ก. และพันธุ์โคไนซี่ 600 บาท/ก.ก.

อย่างไรก็ตามแม้สถานการณ์ตลาดจะ ไม่ดีนัก แต่ได้รับความช่วยเหลือจากทางจ.สิงห์บุรี โดยนายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าฯ สิงห์บุรี เกษตรจ.สิงห์บุรี และพาณิชย์จ.สิงห์บุรี เข้ามาช่วยประชาสัมพันธ์ด้วยการไลฟ์สด และทำตลาดออนไลน์ ส่งให้การขายอินทผลัมได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย นอกจากนี้ทางสวนยังนำอินทผลัมมา แปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า อาทิ น้ำอินทผลัมสด ชาอินทผลัม และขนมต่างๆ เช่น คุกกี้อินทผลัม

ปัจจุบันสวนดังกล่าว มีร้านอาหารกับร้านกาแฟไว้บริการผู้มาเยือน และตั้งเป้าว่าในอนาคตจะทำเป็นฟาร์มสเตย์ โดยจัดกิจกรรมให้ทำในแบบของชาวสวน คล้ายๆ โฮมสเตย์

สนใจเข้าไปชมสวน ชิมอินทผลัมสดๆ หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ติดต่อสอบถามได้ที่โทร. 08-2986-3802 08-9478-4172 ซึ่งทางสวนได้จัดซุ้มถ่ายรูปสวยๆ ไว้หลายจุด อีกทั้งบรรยากาศในสวนที่แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติก็เหมาะกับการไปพักผ่อนในวันหยุด

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน