28นวัตกรรม‘มข.’ช่วยสู้โควิด – จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ในฐานะที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เก่าแก่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ทั้งยังเป็นมหาวิทยาลัยด้านการวิจัย มีคณะแพทยศาสตร์และที่เกี่ยวข้องกับด้านสาธารณสุขอีกหลายคณะ รวมถึงโรงเรียนแพทย์ มีนโยบายที่จะช่วยเหลือนักศึกษา บุคลากร และสังคมในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มข. กล่าวว่า กว่า 2 ปีของการแพร่ระบาดของโควิด-19 มข.ได้พัฒนานวัตกรรม หลากหลายเพื่อช่วยเหลือสังคม โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งจากฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ คณะแพทยศาสตร์ ทีมสำนักหอสมุด KKU maker สำนักงานเทคโนโลยีดิจิทัล คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ สถาบันนาโนฯ โรงงานต้นแบบแบตเตอรี่ สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นและ เครือข่าย ที่ได้ร่วมกันประดิษฐ์และจัดทำ “นวัตกรรมสู่สังคม” เพื่อมอบให้กับโรงพยาบาลศรีนครินทร์และโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขที่ขาดแคลน จำนวนกว่า 28 รายการ

อาทิ ระบบ Thermo Scan เพื่อตรวจคัดกรองอุณหภูมิผู้ใช้บริการ, ระบบ VDO สื่อสารสองทาง สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และ ผู้ติดเชื้อ, หุ่นยนต์สื่อสารสองทิศทางและระบบลำเลียงอาหาร และยา, PPE (Personal Protective Equipment) ให้บุคลากรทางการแพทย์ร.พ.ศรีนครินทร์, Positve Pressure Mask ให้บุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลศรีนครินทร์ Mobile UVC สำหรับฆ่าเชื้อ และ TOT Positve Pressure สำหรับกั้นเก็บตัวอย่างเชื้อ

เมื่อการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้น ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อมีเพิ่มมากขึ้นเกิดภาวะเตียงเต็มในโรงพยาบาลต่างๆ มข.จึงได้จัดทำระบบการจัดการผู้ป่วยกักตัวอยู่ที่บ้าน “Home Isolation มข.”

สำหรับนวัตกรรมสำหรับการดูแลผู้ป่วยอย่าง “ระบบการดูแลและติดตามอาการผู้ป่วยโควิด-19 แบบแยกตัว” จัดทำขึ้นเพื่อใช้บริหารจัดการกลุ่มผู้ป่วยแบบแยกตัว ทั้งแบบโฮม ไอโซเลชั่น และการดูแลตนเองในระบบชุมชน (คอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น) ซึ่งผู้ป่วย กลุ่มนี้สามารถเข้าถึงการบริการสาธารณสุขได้รวดเร็วขึ้น และติดตามดูแลอาการผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิด สะดวกต่อตัวผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์ โดยจุดเด่นของระบบ คือ

1.ผู้ป่วยไม่ต้องติดตั้งแอพพลิเคชั่นใหม่ในโทรศัพท์ ยกเว้นกรณีไม่มีแอพพลิเคชั่นไลน์ 2.บัญชีผู้ใช้ไลน์หนึ่งๆ ใช้กับผู้ป่วยได้หลายคน 3.บันทึกข้อมูลระบบได้รวดเร็ว โดยให้กรอกเฉพาะข้อมูลสัญญาณชีพและอาการ เนื่องจากระบบเชื่อมบัญชีไลน์กับฐานข้อมูลผู้ป่วยแล้ว และ 4.เป็นไปตามมาตรฐานการแพทย์ทางไกล (Tele-medicine) สากล โดยเริ่มใช้งานแล้วที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ซึ่งช่วยให้ระบบการดูแลผู้ป่วยแบบแยกตัวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการสูญเสีย สร้างความมั่นใจ และอุ่นใจให้กับผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวที่บ้าน

มข.พัฒนาระบบนี้ตามมาตรฐานทางการแพทย์ที่ดี เพื่อนำไปปฏิบัติได้จริงในภาคสนามและตั้งใจเปิดโอกาสให้โรงพยาบาลต่างๆ ที่กำลังมองหาระบบไอทีในการช่วยเหลือประชาชน ได้ใช้ระบบนี้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ และพร้อมเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา ทั้งด้านไอที และการบริหารจัดการผู้ป่วย เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้รอดพ้นจากวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

“มาตรการการช่วยเหลือ นวัตกรรมและงานวิจัยต่างๆ ที่ มข.ได้พัฒนาขึ้น รวมไปถึง ระบบ Home Isolation มข. เป็นไปตามนโยบายด้าน CSV ที่มุ่งเน้นการบริการวิชาการสู่สังคม การอุทิศเพื่อชุมชนและสังคม เป็นการยกระดับจิตสำนึกในการรับใช้สังคม โดยใช้องค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญในการรับใช้สังคมอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งยินดีให้ โรงพยาบาลต่างๆ นำไปใช้โดยไม่คิดค่า ใช้จ่าย” รศ.นพ.ชาญชัยกล่าว

“นับเป็นบทบาทหน้าที่ที่สำคัญของสถาบันอุดมศึกษา เป็นที่พึ่งพิงให้กับสังคม ในยามที่ประเทศชาติบ้านเมืองเกิดวิกฤต”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน