หลวงพ่อดิษฐ์ ติสสโร วัดปากสระ จ.พัทลุง – วันอังคารที่ 7 ก.ย.2564 น้อมรำลึกครบรอบ 57 ปี มรณกาล “หลวงพ่อดิษฐ์ ติสสโร” หรือ “พระครูเนกขัมมาภิมณฑ์” วัดปากสระ ต.ชัยบุรี อ.เมือง จ.พัทลุง เป็นพระเกจิอาจารย์เรืองวิทยาคมที่มีชื่อเสียง โด่งดังแห่งปักษ์ใต้ ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากชาวเมืองพัทลุงมาอย่างยาวนาน

มีนามเดิมว่า ดิษฐ์ หนูแทน เกิดเมื่อ วันที่ 21 ก.พ.2420 ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม 4 ค่ำ เดือน 3 ปีฉลู ที่บ้านดอนตาสังข์ หมู่ 6 ต.ปรางหมู่ อ.เมือง จ.พัทลุง

ในช่วงวัยเยาว์ เมื่อมีอายุสมควรได้รับการศึกษา บิดามารดาพาไปฝากกับ พระอาจารย์รอด วัดควนกรวด อ.เมือง จ.พัทลุง

ด้วยความขยันและเอาใจใส่ในการศึกษาเล่าเรียน มุ่งมั่นศึกษาเล่าเรียนจนสามารถอ่านเขียน รวมทั้งอ่านบทไหว้พระสวดมนต์จนมีความชำนาญ พร้อมกับได้อ่านเรียนหนังสือโบราณไทย ขอมต่างๆ อีกด้วย

กระทั่งอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2441 ตรงกับวันอาทิตย์ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 7 ปีจอ ที่พัทธสีมาวัดปรางหมู่ใน ต.ปรางหมู่ อ.เมือง จ.พัทลุง มีพระครูอินทรโมลี วัดปรางหมู่ใน ต.ปรางหมู่ อ.เมือง จ.พัทลุง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการแก้ว วัดปรางหมู่ใน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการขำ วัดปรางหมู่นอก อ.เมืองพัทลุง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า ติสสโร

อยู่จำพรรษาที่วัดควนกรวด อ.เมืองพัทลุง ระยะหนึ่ง ต่อมาในปี พ.ศ.2446 มีชาวบ้านจากบ้านปากสระ ต.ชัยบุรี อ.เมืองพัทลุง ได้นิมนต์ให้ไปอยู่จำพรรษาที่วัดปากสระ พ.ศ.2447 ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดปากสระ

พ.ศ.2489 ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลชัยบุรี อ.เมืองพัทลุง

พ.ศ.2497 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนาม พระครูเนกขัมมาภิมณฑ์

เป็นผู้ที่มีอุปนิสัยเยือกเย็น เมตตาปรานี ถือสันโดษ ไม่สะสมทรัพย์สินสมบัติ ชาวบ้านที่ตกทุกข์ได้ยากหรือได้รับความเดือดร้อนทางจิตใจ มักจะมาพึ่งพาขอความช่วยเหลือ ซึ่งท่านก็ไม่เคยขัดข้องและให้การช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถ นอกจากนี้ท่านยังให้การสนับสนุนส่งเสริมช่วยเหลือเด็ก ให้ได้รับการศึกษาเล่าเรียน จนเด็กๆ หลายคนสำเร็จการศึกษา ประกอบอาชีพการงานที่มั่นคง

กล่าวกันว่า เป็นผู้มีวาจาสิทธิ์ พูดสิ่งใดมักเป็นไปตามนั้น สำหรับวัตถุมงคลของท่านมีด้วยกันหลากหลายแบบ ทั้งเครื่องรางและพระเครื่อง ซึ่งหลวงพ่อดิษฐ์ได้เริ่มสร้างขึ้นมาตั้งแต่ช่วงสงครามอินโดจีนเป็นต้นมา อาทิ พระสังกัจจายน์พิมพ์ใหญ่-พิมพ์เล็ก พระปิดตา พิมพ์ใหญ่-พิมพ์เล็ก พระกลีบบัวเนื้อโลหะ แหวนพิรอด ลูกอม ปลอกแขน ผ้ายันต์และเสื้อยันต์

วัตถุมงคลล้วนแต่มีพุทธคุณเข้มขลัง โดดเด่น ที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่ปรารถนา คือ พระปิดตาและพระสังกัจจายน์ ซึ่งยังเป็นที่นิยมจนมาถึงปัจจุบัน

นอกจากเป็นพระเกจิชื่อดังแล้ว ยังพัฒนาสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับวัดและชุมชนมากมาย ด้วยการก่อสร้างอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิ หอฉัน โรงครัว และโรงเรียนประชาบาล 1 หลัง

ในช่วงบั้นปลายชีวิต มีอาการอาพาธตามสังขารที่ร่วงโรยตามวัย จนกระทั่งอาการเริ่มทรุดหนัก คณะศิษยานุศิษย์จึงได้นำไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลพัทลุง แต่อยู่ได้เพียง 7 วันท่านได้ขอกลับวัด

วันที่ 7 ก.ย.2507 เวลา 24.30 น. มรณภาพด้วยอาการสงบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน