คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ปรับเพดาน

การปรับกรอบเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มอีก ร้อยละ 10 จากจากปัจจุบันร้อยละ 60 เป็น ร้อยละ 70 เป็นเรื่องที่รัฐบาลเริ่มพูดถึงมาพักหนึ่งและจะเอาจริงในตอนนี้

แม้ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ แต่ยังคงเป็นเรื่องน่ากังวลใจ

กระทรวงการคลังระบุว่า การปรับเพิ่มเพดานให้สูงขึ้นเพียงต้องการให้มีพื้นที่ทางการคลังเพิ่มขึ้นเท่านั้น โดยจะส่งผลให้รัฐบาลมีความสามารถในการก่อหนี้เพิ่มได้อีก 1.2 ล้านล้านบาท

ไม่ได้หมายความว่าขยายพื้นที่แล้ว รัฐบาลจะเดินหน้ากู้เงินเต็มเพดานทั้งหมด เพียงแต่การกู้เงินจะเป็นไปตามความจำเป็นเท่านั้น

ความจำเป็นดังกล่าวคือการกู้เงินสำหรับปีงบประมาณ 2565 เพิ่มเติมอีก

สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยเมื่อถึงสิ้นปีงบประมาณ 2564 หรือจบเดือนกันยายนนี้ จะอยู่ที่ระดับร้อยละ 58.96

นักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่ได้ต่อต้านการปรับเพดานหนี้ในอัตราดังกล่าวเพราะรู้ถึงความจำเป็น

หลายคนเห็นว่า เป็นเพียงการผ่อนคลายนโยบายอนุรักษนิยมลงเท่านั้น ขณะที่ระดับหนี้สาธารณะของประเทศไทยยังต่ำอยู่เมื่อเทียบกับมาตรฐานโลก

แต่สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลคือความสามารถ วิสัยทัศน์ และศักยภาพของรัฐบาลในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ

หรือที่ชาวบ้านพูดกันซื่อๆ ว่ามีเงินแล้วใช้เงินเป็นหรือไม่ ใช้ให้คุ้มค่าได้ หรือไม่

ช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้น สังเกตได้จากการส่งออกของไทยที่ขยับตัวสูงขึ้น ตอกย้ำว่ารัฐบาลต้องการมีมาตรการกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในปีหน้า

ปัจจุบันรัฐบาลมีวงเงินกู้จากพ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉินเพื่อใช้รับมือสถานการณ์โควิดเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ที่ยังเหลือวงเงินสำหรับใช้ในปีงบประมาณ 2565 อีก 3.5 แสนล้านบาท

เงินที่ใช้ไปช่วงโควิดระบาดสองปีมาแล้วยัง ไม่ได้แสดงฝีมือด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล เมื่อบวกกับสภาพเศรษฐกิจที่ซึมลึกมาตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร 2557 ยิ่งแสดงให้เห็นว่าการเมืองเป็นอุปสรรคต่อการตัดสินใจด้านเศรษฐกิจ จนไป ไม่เป็น ไปไม่ถูก

ฉะนั้นการแก้ปัญหาของประเทศ จึงไม่ใช่แค่ปรับเพดานหนี้ แต่ต้องปรับเพดานการเมืองให้ตอบสนองประชาชนให้ได้ก่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน