คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

นิทานการเมือง

การตั้งทีมเฉพาะกิจของรัฐบาลขึ้นมาตรวจสอบหนังสือนิทานสำหรับเด็ก ของกลุ่ม วาดหวังหนังสือ เป็นเรื่องน่าตกตะลึงอย่างยิ่งสำหรับเสรีภาพสื่อ

เพราะถ้าแม้แต่หนังสือนิทานยังถูกตรวจสอบด้วยท่าทีแข็งกร้าว ถึงขั้นให้พิจารณาว่านิทานมีเจตนาปลุกระดม ล้างสมอง หรือปลุกปั่นเด็กหรือไม่

รวมถึงตรวจสอบต่อไปว่ามีใครเป็นผู้ที่อยู่ เบื้องหลังหรือไม่ เพื่อจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไปหากเข้าข่ายกระทบต่อความมั่นคง

ท่าทีดังกล่าวไม่น่าเกิดขึ้นอย่างยิ่งใน สังคมประชาธิปไตยที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย โดยเฉพาะด้านการเมืองที่ไม่ได้มีลักษณะเหยียดเพศสีผิวเชื้อชาติ หรือสนับสนุนเผด็จการ

ประวัติศาสตร์การรุกล้ำเสรีภาพสื่อ โดยเฉพาะสื่อหนังสือ เคยเกิดในยุคที่สังคมมีความ ล้าหลังและมีความรุนแรง ปกครองด้วยแนวทางสุดโต่ง

เช่น ยุคปฏิวัติวัฒนธรรมของจีน ช่วงปี 2509-2519 หนังสือจำนวนมากถูกเผาทำลาย นอกเหนือไปจากการกวาดล้างทางวิชาการและประหัตประหารชีวิตผู้คน

ส่วนของไทย ยุคก่อนและหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่มีรัฐบาลและแนวร่วมอนุรักษนิยมสุดขั้ว เป็นช่วงเวลาที่หนังสือจำนวนมากกลายเป็นสื่อต้องห้ามและถูกทำลายมากเช่นกัน

ผลของการกวาดล้างและละเมิดเสรีภาพสื่อ ไม่เพียงกระทบต่อพัฒนาการทางการเมือง แต่ยังลามให้เกิดผลเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

สร้างบรรยากาศให้คนเกลียดชัง ไม่ไว้วางใจกัน ไม่ใช้เหตุผล และหวาดระแวงกัน

อาการหวาดระแวงเป็นทั้งปัจจัยและอุปสรรค ที่น่าวิตกสำหรับพัฒนาการทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะถ้าเกิดกับผู้มีอำนาจ

เพราะผู้หวาดระแวงมักจะมองเรื่องธรรมดา หรือการแสดงความคิดเห็นปกติ กลายเป็นภัยคุกคามไปเสียหมด

ทั้งยังขาดความเชื่อมั่นในตัวผู้อื่น ไม่ไว้วางใจว่าประชาชนทั่วไปจะมีวิจารณญาณ คิดเองได้ ไตร่ตรองเองได้ รวมทั้งตัดสินใจเองได้

จึงมักพยายามจะควบคุมให้ทุกคนคิดและเชื่อตามแนวทางของตนเอง เพื่อให้ตนเองรู้สึกปลอดภัย

ถ้าหนังสือนิทานที่มีภาพวาดสีสันสวยงาม นำเสนอเรื่องประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานกลายเป็นภัยต่อบ้านเมืองได้ น่าจะต้องตรวจอาการของรัฐบาลว่าหนักเพียงใด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน