จี้รัฐแก้ปัญหาเด็กช่วงโควิด – วันที่ 14 ต.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กสม. แถลงว่า ตามที่วันที่ 10 ต.ค.ของทุกปี เป็นวันสุขภาพจิตโลก องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิเซฟ และกรมสุขภาพจิต เผยแพร่ผลการประเมินสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นตลอดปีที่ผ่านมาจนถึงสิ้นก.ย.นี้ พบว่า เด็กและวัยรุ่นมีภาวะความเสี่ยงจะเป็นโรคซึมเศร้าร้อยละ 32 มีภาวะเครียดสูงร้อยละ 28 และมีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายร้อยละ 22 โดยระบุว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทุกคนต้องปรับตัว

ขณะที่การประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของไทย ประจำปี 2563 โดย กสม.ในมิติผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า การแพร่ระบาดส่งผลกระทบต่อเด็กซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบาง ทั้งในมิติการศึกษาและสภาพจิตใจ เด็กนักเรียนจำนวนไม่น้อยเข้าไม่ถึงระบบการศึกษาทางออนไลน์ เนื่องด้วยครอบครัวประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ สอดคล้องข้อมูลจากยูนิเซฟที่ระบุว่าปัจจุบันเด็กและ วัยรุ่นในประเทศไทยและทั่วโลกต้องเผชิญกับการเรียนรู้ที่หยุดชะงักลง และกำลังเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพจิตมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นประเด็นที่มักถูกมองข้าม

กสม.จึงมีข้อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาทางแก้ปัญหาและทบทวนเรื่องวิธีการเรียนการสอนออนไลน์และการเข้าถึงระบบการเรียนออนไลน์ ที่อาจเป็นสาเหตุของความเครียด โดยควรเน้นให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ และดำเนินการเชิงรุกในการดูแลสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนด้วยกลไกที่เข้าถึงได้ง่าย และมีผู้สื่อสารกับเด็กอย่างเป็นมิตร โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน