สภาพัฒน์ห่วง‘เหลื่อมลํ้า-ยากจน’พุ่งสภาพัฒน์ชี้ไตรมาส 3 คนไทยว่างงาน 8.7 แสนคน คิดเป็น 2.25% มากกว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เป็นเด็กจบใหม่ 10% หนี้ครัวเรือนยังสูง 89% กังวลหากไม่มีมาตรการรัฐเข้ามาอีกอาจมีคนจนเพิ่ม ความเหลื่อมล้ำถอยหลัง 7 ปี ขณะที่แบงก์ชาติหนุนรวมหนี้ใช้บ้านค้ำ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ปี 2564 ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มีผู้ว่างงานสูงที่สุดจำนวน 870,000 คน คิดเป็น 2.25% ของจำนวนผู้มีงานทำ สูงกว่าช่วงเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2552 ที่มีผู้ว่างงาน 2.08% เป็นเด็กจบใหม่ 290,000 คน สัดส่วน 10% ของผู้ว่างงานทั้งหมด

ด้านหนี้ครัวเรือนตัวเลขล่าสุดของไตรมาส 2 ปี 2564 มีมูลค่า 14.27 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จาก 4.7% ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วน 89.3% ต่อจีดีพี ลดลงจาก 90.6% ต่อจีดีพี ในไตรมาสก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวเร็วกว่าหนี้สินครัวเรือน

โดยสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพี ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 และต้องเฝ้าระวังหนี้บัตรเครดิตที่มีหนี้เสียเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง

น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการ สศช.กล่าวว่า สศช.ห่วงสถานการณ์ความยากจนของไทย หากความช่วยเหลือของรัฐบาลหมดลงในช่วงที่เศรษฐกิจและการจ้างงานยังไม่ฟื้นตัว อาจทำให้สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำรุนแรงกว่าเดิม ในปี 2565 จะทำให้มีคนจนเพิ่มขึ้นเป็น 11.02 ล้านคน คิดเป็น 15.9% ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีคนยากจนเพิ่มขึ้นกว่า 6 ล้านคน

ขณะที่ความเหลื่อมล้ำจากวิกฤตโควิด-19 หากไม่รวมการช่วยเหลือของรัฐจะถอยหลังถึง 7 ปี ครัวเรือนที่มีบัญชีเงินฝากต่ำกว่า 100,000 บาท มียอดเงินฝากลดลงต่อเนื่อง ส่วนบัญชีเงินฝากมากกว่า 100 ล้านบาทมีมูลค่าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ครัวเรือนยากจนที่เป็นหนี้ 590,000 ครัวเรือน ต้องใช้เวลา 10 ปีถึงจะชำระหนี้หมด

ด้าน น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.สนับสนุนให้สถาบันการเงินรวมหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล เข้าด้วยกัน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ดี ด้วยการนำหลักประกันของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมาใช้ประโยชน์ในการลดภาระดอกเบี้ยและค่างวดระยะยาว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน