หลวงพ่อชุ่ม พุทธสโร วัดราชคาม จังหวัดราชบุรี“หลวงพ่อชุ่ม พุทธสโร” วัดราชคาม อ.เมือง จ.ราชบุรี พระเกจิอาจารย์ที่ชาวราชบุรีให้ความนับถือ เพราะมีเมตตากรุณา ช่วยเหลือชาวบ้านที่มีทุกข์ร้อนป่วยไข้ก็ช่วยรักษาช่วยเหลือให้ทุกราย

ทรงคุณความรู้และวิทยาคมหลายอย่าง เป็นพระอุปัชฌาย์ เป็นพระอาจารย์ เป็นคณาจารย์การปกครอง เป็นพระอาจารย์สอนปริยัติธรรมกัมมัฏฐาน ประพฤติเป็นประโยชน์แก่ทุกคน

ถือกำเนิด เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 8 ปีเถาะ จุลศักราช 1241 อันตรงกับวันที่ 26 มิ.ย.2422 ที่ ต.คุ้งน้ำวน อ.เมือง จ.ราชบุรี บิดา-มารดา ชื่อ นายทุ้ม และ นางลำใย กลิ่นเทพเกษร เป็นบุตรคนโต ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 9 คน

อายุ 9 ขวบ บิดานำมาฝากเรียนหนังสือขอมและไทยกับหลวงปู่โต๊ะ วัดราชคาม กระทั่งอายุ 16 ปี จึงบรรพชา

เข้าพิธีอุปสมบท ที่วัดท่าสุวรรณ อ.เมืองจ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2441 ตรงกับวันอาทิตย์ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ จุลศักราช 1260 โดยมีพระอธิการพู่ วัดราชคาม เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า พุทธสโร อยู่ที่วัดราชคาม ศึกษาฝึกวิปัสสนากัมมัฏฐานจากพระอธิการพู่ และพระอธิการอินทร์

ในปี พ.ศ.2448 เมื่อพระอธิการพู่ มรณภาพ หลวงพ่อชุ่มได้รับการนิมนต์ให้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดสืบแทน

ทำนุบำรุงวัดสุดความสามารถ จัดสร้างอุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ รอยพระพุทธบาทจำลอง พระประธานประจำอุโบสถ ศาลาท่าน้ำ ฌาปนกิจสถาน

ที่สำคัญยิ่งคือ ได้จัดสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม นอกจากนั้นยังได้ดำเนินการ จัดสร้างโรงเรียน เพื่อเป็นสถานที่ศึกษา ของลูกหลานชาวบ้านในละแวกวัด มีชื่อว่า โรงเรียนประชาบาลชุ่มประชานุกูล

นอกจากนี้ ยังได้ช่วยเหลือวัดใหม่ จังหวัดราชบุรี ในการสร้างอุโบสถ

ลำดับงานปกครองและสมณศักดิ์ พ.ศ. 2458 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดราชคาม พ.ศ.2467 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2473 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบล คุ้งน้ำวน (เจ้าคณะหมวด) พ.ศ.2479 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูชั้นประทวน

ตามคำบอกเล่าของหลวงพ่อป้อม เจ้าอาวาสรูปถัดมา เล่าถึงประวัติการเดินธุดงค์ซึ่งได้รับฟังจากปากของหลวงพ่อชุ่มเองว่า เมื่อบวชได้ 3 พรรษา เริ่มสนใจในวิทยาคมพยายามศึกษาเล่าเรียนและเริ่มออกเดินธุดงค์ไปในที่ต่างๆ คราวละ 3 ปี บางครั้งก็ธุดงค์ไปพม่าบ้าง

ครั้งหนึ่งเดินธุดงค์ถึงวัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท ราวปี พ.ศ.2446 หลวงปู่ศุข ปกครองวัด ปากคลองมะขามเฒ่า มะขามเฒ่าหลวงพ่อชุ่มศึกษาวิชาจากหลวงปู่ศุข หลายแขนงเกี่ยวกับวิชาด้านคาถาอาคม จนครั้งหนึ่งกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เคยเสด็จมายังวัดราชคาม เนื่องด้วยเป็นศิษย์สำนักเดียวกัน และเมื่อหลวงพ่อชุ่มกลับมาอยู่วัดราชคาม จนได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ขณะนั้นชื่อเสียงของท่านเป็นที่เลื่องลือมาก

จากการที่ท่านธุดงค์จนเป็นกิจวัตร ทำให้ได้รู้จักกับหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ เมื่อคราวออกธุดงค์ไปศึกษาวิชากับหลวงปู่ศุข วัดมะขามเฒ่า ทำให้ท่านทั้ง 2 เป็นสหมิกธรรมกันเรื่อยมา

วันพุธที่ 16 พ.ย.2498 เวลาตีสี่ครึ่ง จึงมรณภาพ

สิริอายุ 77 ปี พรรษา 57 และประชุมเพลิง เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2500

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน