ทำไมตัดต้นไม้ใหญ่ – การพัฒนาเมืองขนาดย่อมของกรุงเทพมหานคร ตรงที่ดินบริเวณริมคลองบางซื่อต่อลาดพร้าว ทำให้เกิดคำถามขึ้นทันทีว่า สำนักพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานครไปอยู่ที่ไหน

ทำไมจึงปล่อยให้สำนักการระบายน้ำไปพัฒนาที่ดินริมคลองลาดยาวเชื่อมคลองถนน ทิศเหนือของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับคลองบางซื่อไปเชื่อมต่อคลองลาดพร้าว ซึ่งขณะนี้กำลัง สร้างเขื่อนกันดินริมคลองทั้งสองฝั่งและก็มีการตัดต้นไม้ใหญ่ร่มรื่นที่มีอยู่น้อยเต็มทีของกรุงเทพฯ ทั้งสองฝั่งคลอง โดยไม่คำนึงถึงแนวนโยบายเมืองสีเขียวริมคลองของกรุงเทพมหานครแต่อย่างใด

ทำไมจึงไม่มีการออกแบบทางภูมิสถาปัตย์ที่จะสร้างความร่มรื่นและเป็นเครื่องช่วยกรองฝุ่นละอองธรรมชาติ

กรณีที่กทม.ประกาศจับมือกับสถาปนิกชุบชีวิตคลองถม แล้วกำลังทำพื้นที่คลองช่องนนทรีที่ชาวบ้านเขาสงสัยว่า ทำไมต้องตัดต้นไม้ใหญ่ จะทำเป็นสวนที่มีแต่ไม้พุ่มและพืชคลุมดินเท่านั้นหรือ กทม.มีส่วนร่วมในการวางผังออกแบบพัฒนาคลองทั้งสองคลองนี้หรือไม่ ได้ร่วมมือกับสำนักการระบายน้ำในการที่จะพัฒนาเมืองหรือพื้นที่ริมคลองให้งดงามร่มรื่นตามนโยบายการพัฒนาเมืองของกรุงเทพฯ อย่างไร

แม้แต่การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ของเอกชนก็ยังมีข้อกำหนดทางกฎกระทรวงผังเมืองรวมกำหนดให้มีพื้นที่สีเขียวเป็นสัดส่วนกับพื้นที่อาคารในการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ตามประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดิน ในกรณีที่อาคารบางชนิดบางประเภทที่จะต้องจัดให้ผ่านรายงานสิ่งแวดล้อมนั้น คณะกรรมการผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อมยังต้องสั่งการให้กำหนดชนิดไม้ยืนต้นลงในรายงานผลกระทบ

อีกกรณี พื้นที่ริมคลองลาดยาวที่เชื่อมต่อไปถึงคลองถนน ทิศเหนือของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กทม.เองประกาศนโยบายจะพัฒนาพื้นที่ริมคลองให้เป็นสวนสาธารณะยาวเลียบคลองลาดยาวไปทั้งสองฝั่ง

แต่ที่ปรากฏในขณะนี้ก็คือ การตัดต้นไม้ขนาดใหญ่ทิ้งทั้งที่ต้น ทั้งที่ไม้ใหญ่เหล่านี้ก็หาได้อยู่ในแนวสร้างเขื่อนคอนกรีต จึงทำให้พื้นที่บริเวณนั้นที่ดูแข็งกระด้างไปเสียจนหมด

การตัดต้นไม้เหล่านี้ สำนักพัฒนาเมืองน่าจะรู้ สำนักการ โยธาก็น่าจะเห็น สำนักการอาคารก็ชัดเจนว่าต้องรู้ เพราะสำนักการโยธามีหน้าที่ตรวจตราการก่อสร้างทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ไม่เห็นว่าต้นไม้ใหญ่เหล่านี้มีคุณค่ามีประโยชน์อะไรอย่างนั้นหรือ

แล้วนโยบายการปลูกต้นไม้และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ไทยไปรับปากบนเวทีสากลคืออะไร หรือนโยบายก็นโยบาย ผู้ปฏิบัติงานท้องถิ่นก็เป็นเอกเทศไม่ขึ้นตรงต่อนโยบายระดับประเทศหรืออย่างไร

ทั้งหมดที่กล่าวในส่วนนี้มี 2 ประเด็น คือประเด็นความรู้สึกการเป็นเอกเทศของหน่วยงานราชการที่ไม่ต้องประสานงานกัน ไม่อยู่ภายใต้นโยบายเดียวกัน อำนาจบังคับบัญชาเป็นอิสระแก่กัน จึงทำให้แต่ละหน่วยงานจะทำอะไรอย่างไรก็ได้

ประเด็นต่อมาคือ ความไม่รู้เรื่องของผู้อื่น ไม่รู้เรื่องปัญหา สิ่งแวดล้อม ไม่รู้เรื่องความงามของเมือง ไม่รู้คุณค่าของความสุข ทำงานเพียงเพื่อให้ได้ผลงานพอแล้ว

นายช่าง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน