ชาวCU14-ดิถีบุญจุลกฐิน – เมื่อผ่านวันออกพรรษา แรม 1 ค่ำ เดือน 11 เป็นห้วงเวลาเข้าสู่เทศกาลงานประเพณีทอด “กฐิน” ที่ทำได้ในช่วงเวลาจำกัดเพียงปีละ 1 เดือนเท่านั้น ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 พุทธศาสนิกชนนำผ้ากฐินไปทอดถวายตามวัดต่างๆ แต่มีการทอดกฐินอีกแบบต่างจากการ ทอดกฐินธรรมดา คือ “จุลกฐิน” เพราะคณะเจ้าภาพต้องรีบเร่งช่วยกันทำผ้ากฐินจาก ดอกฝ้ายนำมาทอ ตัด เย็บ ย้อม ให้แล้วเสร็จภายในวันเดียว

ปัจจุบันมักเห็นงานจุลกฐินในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น แม่ฮ่องสอน ลำพูน สกลนคร อุดรธานี เป็นต้น แต่ในกรุงเทพฯ พบเห็นได้ยาก

นับเป็นโอกาสที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เมื่อวันที่ 15-16 พ.ย.2564 ชมรมนิสิตเก่า น้องใหม่จุฬาฯ รุ่น 2514 หรือ CU14 จัดงาน “CU14 ดิถีบุญจุลกฐิน” ที่วัดบรมสถล (วัดดอน) แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพฯ

นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน ประธาน CU14 กล่าวว่า ชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีประเพณีปฏิบัติสำหรับนิสิตเก่านับจาก ปีที่เข้าเป็นน้องใหม่เมื่อครบ 50 ปี จะร่วมกันตั้งชมรมขึ้น ดังเช่น นิสิตเก่าจุฬาฯ ที่เป็นน้องใหม่ ปี 1 เมื่อพ.ศ.2514 ที่ได้ ร่วมกันตั้งชมรมนิสิตเก่า น้องใหม่จุฬาฯ รุ่น 2514 หรือ CU14 ขึ้นและจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อทำประโยชน์แก่จุฬา สังคมและประเทศ ภายใต้แนวคิด “รักษ์น้ำ ฟื้นป่า ทดแทนคุณจุฬาฯ พัฒนาค” โดยหนึ่งในกิจกรรมที่จัดขึ้นคือ “CU14 ดิถีบุญจุลกฐิน” เพื่ออนุรักษ์สืบสานประเพณีและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา

ในฐานะประธานจัดงาน CU14 ดิถีบุญจุลกฐิน รศ.กมลพร บัณฑิตยานนท์ เล่าว่า งานจุลกฐินเริ่มขึ้นแต่ครั้งพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบว่าพระอนุรุทธเถระมีจีวรอันเก่าคร่ำคร่า และเป็นเวลาจวนสิ้นสุดกฐินกาล จึงรับสั่งประชุมสงฆ์ พระสงฆ์ช่วยกันหาผ้าบังสุกุลตามที่ต่างๆ แต่ได้ผ้ายังไม่เพียงพอจะเย็บ จีวรได้ นางเทพธิดาซึ่งเคยเป็นภรรยาเก่าของพระอนุรุทธเถระ ทราบเรื่อง จึงเนรมิตผ้าทิพย์ไว้ในกองขยะ เมื่อพระอนุรุทธเถระผ่านมาพบเข้า จึงชักผ้าบังสุกุลนำไปสมทบทำจีวร ครั้งนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จเป็นประธานและทรงสนเข็ม พระสงฆ์พร้อม ทั้งคฤหัสถ์ชายหญิงมากมายช่วยกันโดยพร้อมเพรียงด้วย ธรรมสามัคคี

จุลกฐิน เป็นงาน 2 วัน วันแรกทอผ้า ตัด เย็บ และย้อม ซึ่งต้องทำให้สำเร็จเป็นผ้ากฐินภายในวันนี้ และวันที่สองเป็น วันทอดถวายผ้ากฐิน สำหรับการทำจุลกฐินของชาว CU14 นั้น รศ.กมลพร อธิบายขั้นตอนเริ่มด้วยการเพาะเมล็ดฝ้ายในวันมาฆบูชา ที่ต้นบุญธรรมสถาน จ.ชลบุรี ปลูกกล้าต้นฝ้ายในวันวิสาขบูชา ก่อนวันทอผ้าชาว CU14 ร่วมกันเก็บดอกฝ้ายที่ต้นบุญธรรมสถานแล้วนำเข้าสู่งาน CU14 ดิถีบุญจุลกฐิน เมื่อวันที่ 15-16 พ.ย. ที่ผ่านมา วันแรกมีพิธีถวายสักการะพระรัตนตรัย บวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และสาธิตเก็บดอกฝ้ายจากต้นฝ้าย 30 กระถาง

หลังจากนั้นนำดอกฝ้ายที่เก็บวันก่อนกับวันนี้ห่อผ้าขาวมอบให้คณะทอผ้าจากบ้านป่าบุก อ.ป่าซาง จ.ลำพูน เข้าสู่กระบวนการ ทอผ้าเริ่มด้วย “อีดฝ้าย” ใช้เครื่องมือคัดแยกเมล็ดออกจากปุยฝ้าย จากนั้น “ดีดฝ้าย” ตีให้ฟูแล้วนำมา “กิ๊กฝ้าย” คือม้วนฝ้าย ตามด้วยใช้กงปั่นฝ้ายทำเป็นเส้นด้ายสู่การ “ผัดหลอด” แล้วนำเข้าสู่กี่ทอเป็นผืนผ้า ตัด เย็บ และย้อมด้วยแก่นขนุน ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดต้องให้แล้วเสร็จภายในวันเดียว

“เมื่อทอผ้าผืนใหญ่ได้หลายผืนตามที่ต้องการแล้ว ก็นำมาตัดเป็นสี่เหลี่ยม ขนาดต่างๆ กันเหมือนเช่นต้นแบบแต่ครั้งพุทธกาลที่พระอานนท์ทรงออกแบบตามลักษณะคันนา นำผ้าที่ตัดไว้มาเย็บต่อกันจนเป็นผ้าสบง จีวรและสังฆาฏิ แล้วย้อมด้วยน้ำแก่นขนุนที่ต้มจนได้สีเหลืองธรรมชาติสำเร็จเป็นผ้าจุลกฐินภายในวันเดียวตามพระธรรมวินัยพร้อมทอดถวายในวันรุ่งขึ้น

และช่วงคืนวันทอผ้าได้จัดพิธีกวนข้าวมธุปายาสหรือข้าวทิพย์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เป็นกิจกรรมที่พวกเราชาว CU14 ร่วมแรงร่วมใจกันทำ เพื่อตอบแทนคุณ แผ่นดินและสืบสานพุทธประเพณีบุญอันมีมหาอานิสงส์ยิ่ง และเป็นมรดกภูมิปัญญาไทยไปสู่คนรุ่นลูกรุ่นหลานสืบไป” รศ.กมลพร กล่าวทิ้งท้าย

CU14 ดิถีบุญจุลกฐิน นับเป็นงานบุญประเพณีที่หาชมได้ยาก เป็นการเผยแพร่องค์ความรู้กระบวนการทำจุลกฐินไว้อย่างครบถ้วน เพื่อให้คนไทยร่วมกันเรียนรู้อนุรักษ์ สืบสานจุลกฐิน ประเพณีสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่มีมาแต่ครั้งพุทธกาล ให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทยอย่างยั่งยืนตลอดไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน