75 ปี ยูนิเซฟชี้ ‘โควิด’ วิกฤตหนักสุดสำหรับเด็ก – รายงานใหม่ล่าสุดของยูนิเซฟ ระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผล กระทบต่อเด็กๆ อย่างรุนแรงและกลายเป็นวิกฤตที่หนักหนาสาหัสที่สุดในประวัติศาสตร์ 75 ปีของยูนิเซฟ

รายงาน Preventing a lost decade : Urgent action to reverse the devastating impact of COVID-19 on children and young people ชี้ว่า โควิด-19 กลายเป็นอุปสรรคฉุดรั้งความก้าวหน้าในหลายด้านที่สะสมมาหลายทศวรรษ ไม่ว่าจะเป็นด้านความยากจน สุขภาพ การเข้าถึงการศึกษา โภชนาการ การคุ้มครองเด็ก และสุขภาพจิตของเด็ก ผลกระทบจาก โควิด-19 ที่แผ่วงกว้างและฝังรากลึกลงยิ่ง ทวีความยากจนและความเหลื่อมล้ำ และส่งผลกระทบต่อสิทธิเด็กอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

นางเฮนเรียตต้า โฟร์ ผู้อำนวยการบริหาร องค์การยูนิเซฟ กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ยูนิเซฟถือกำเนิดมา ยูนิเซฟช่วย ปูรากฐานให้เด็กหลายล้านคนทั่วโลกมีชีวิตความเป็นอยู่ที่มั่นคงแข็งแรงและปลอดภัย แต่ความก้าวหน้าต่างๆ ที่เกิดขึ้นกำลังถูกฉุดรั้งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งกลายเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ 75 ปีของยูนิเซฟ จำนวนเด็กที่ต้องประสบปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความหิวโหย การออก จากโรงเรียน การถูกทำร้าย ความยากจน หรือการถูกบังคับให้แต่งงานก่อนวัยอันควรกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ตัวเลขของเด็กที่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล วัคซีน อาหารที่มีประโยชน์ และบริการที่จำเป็นกลับลดลง ในเวลาเพียงหนึ่งปีที่เราควรจะก้าวไปข้างหน้าแต่เรากลับต้องถอยหลัง”

รายงานระบุว่า การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ส่งผลให้จำนวนเด็กที่ตกอยู่ในความยากจนหลายมิติเพิ่มขึ้นกว่า 100 ล้านคน ทั่วโลก หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปี 2562 นับตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2563 ทุกวินาทีมี เด็ก 1.8 คนต้องเข้าสู่ภาวะความยากจน ทั้งหมดนี้ต้องใช้เวลาอีกยาวนานในการทำให้สถานการณ์กลับสู่สภาพเดิม แม้ในกรณีที่ดีที่สุด อาจจะต้องใช้เวลาถึง 7-8 ปีที่จะลด อัตราความยากจนให้กลับสู่สภาพเดิมก่อนการแพร่ระบาด

รายงานยังระบุว่า จำนวนเด็กที่ต้องอยู่ในครอบครัวยากจนเพิ่มขึ้นอีก 60 ล้านคนทั่วโลกเมื่อเทียบกับก่อนการแพร่ระบาด นอกจากนี้ ในปี 2563 มีเด็กกว่า 23 ล้านคนทั่วโลกที่ไม่ได้รับวัคซีนพื้นฐาน เพิ่มขึ้น จากเดิมเพียง 4 ล้านคนปี 2562 นับเป็นตัวเลขที่สูงสุดในรอบ 11 ปี

ก่อนการแพร่ระบาด มีเด็กประมาณ 1 พันล้านคนทั่วโลกที่เผชิญกับความขาดแคลนอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การเข้าไม่ถึงการศึกษา บริการสุขภาพ ที่อยู่อาศัย โภชนาการ สุขาภิบาลและน้ำ ปัจจุบันตัวเลขนี้กำลังเพิ่มขึ้นเนื่องจากการฟื้นฟูที่ไม่เท่าเทียม ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กที่มีฐานะร่ำรวยและยากจนรุนแรงขึ้น โดยเด็กกลุ่มชายขอบหรือกลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบหนักที่สุด

ในประเทศไทย กลุ่มเปราะบางและเด็กๆ กำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรง โดยพบว่าเด็กมีแนวโน้มตกอยู่ในภาวะความยากจนมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ ขณะเดียวกัน มาตรการปิดโรงเรียนกำลังส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ ของเด็ก ครอบครัวเกือบครึ่งหนึ่งในประเทศไทยไม่พร้อมให้ลูกเรียนออนไลน์ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เด็กและเยาวชนมากกว่า 7 ใน 10 คน มีความเครียด วิตกกังวลและเบื่อหน่าย

“ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากโควิด-19 สามารถส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็กในระยะยาว และบั่นทอนความก้าวหน้าของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ประเทศไทยได้สะสมมาหลายทศวรรษ” นางคยองซัน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวและว่า “เราต้องป้องกันไม่ให้ความก้าวหน้านั้นสูญเปล่า นั่นหมายถึงเด็กจะต้องเป็นศูนย์กลางของการฟื้นฟูวิกฤตโควิด-19 ภารกิจเพื่อเด็กทุกคนของยูนิเซฟยังคงเดินหน้าต่อ เพราะวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าต้องเริ่มต้นจากวันนี้ วันที่เด็กทุกคนจะอยู่รอด เติบโตและก้าวหน้า ทุกเสียงของเด็กๆ จะถูกรับฟัง มีคุณค่า และพวกเขาจะได้รับการหล่อหลอมให้ก้าวไปเป็นผู้นําของวันพรุ่งนี้”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน