ภารกิจท้าทายการต่างประเทศ
โควิด-วิกฤตเมียนมา-เจ้าภาพเอเปก

สําหรับปีใหม่ 2565 ของกระทรวงการต่างประเทศ ภารกิจที่ท้าทายมีมากมายทั้งการรับมือโควิด-19 สถานการณ์ยุ่งยากหลังการรัฐประหารเมียนมา และการเป็นเจ้าภาพความร่วมมือเขตเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือเอเปก 2022

ผู้ที่จะให้รายละเอียดความต่อเนื่องในการทำงานเรื่องนี้ได้ดีคือ นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

ประเด็นแรกเริ่มจากโควิด-19 และการจัดหาวัคซีนที่เป็นความร่วมมือจากต่างประเทศ ได้แก่ จีนบริจาคซิโนแวครวม 2.5 ล้านโดส สหรัฐอเมริกาให้ไฟเซอร์และ โมเดอร์นารวม 2.5 ล้านโดส ญี่ปุ่นมอบ แอสตร้าเซนเนก้าราว 2 ล้านโดส อังกฤษ ให้แอสตร้าฯ ราว 4 แสนโดส เป็นต้น

ส่วนการนําคนไทยในต่างประเทศกลับไทยอย่างปลอดภัย ทำโดยผ่านระบบซีโออีและได้พัฒนาระบบไทยแลนด์พาส เริ่มเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 แทนระบบซีโออี มีผู้ลงทะเบียนขอเดินทางเข้าไทยแล้ว 439,698 คน ได้รับอนุมัติแล้ว 341,079 คน ในจํานวน ดังกล่าวเป็นการอนุมัติแบบอัตโนมัติ 173,319 คน (สถานะ วันที่ 8 ธ.ค. 2564)

แนวโน้มผู้ได้รับอนุมัติจะมีจํานวนเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากมีระบบอนุมัติอัตโนมัติที่สามารถแบ่งเบาการตรวจเอกสารใบรับรองวัคซีนแบบใช้มือทำได้ แม้ที่ผ่านมาระบบมีปัญหาแต่ได้รับทราบถึงปัญหาของผู้ลงทะเบียนในระบบ อาทิ การไม่สามารถบันทึกเอกสารในรูปแบบ PDF

วิกฤตเมียนมา-ใช้การทูตเงียบ

ไทยในฐานะเพื่อนบ้านใกล้ชิดที่มีพรมแดนติดต่อกัน 2,401 กิโลเมตร จนนำ ไปสู่การยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์โดยธรรมชาติเมื่อปี 2562 ต้องร่วมเผชิญสถานการณ์ในเมียนมายังมีความรุนแรง มีความท้าทายสูง

การดำเนินความสัมพันธ์จึงใช้ “การทูตเงียบ” คือการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ในประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนสูงมาก การเจรจาที่ไม่เปิดเผยทำให้ยอมลดราวาศอก กันได้ ป้องกันความเข้าใจผิด และขอเวลาที่เหมาะสมที่จะบอกต่อสาธารณชน

ส่วนที่เปิดเผยมาแล้ว ได้แก่ การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างต่อเนื่องผ่านทางการดำเนินความสัมพันธ์ทวิภาคี รวมถึงการคุยกันโดยตรง กรอบอาเซียน และสภากาชาดเมียนมา ทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี เป็นเงินกว่า 25 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมอบความช่วยเหลือผ่านกลไกของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) อาทิ มอบอุปกรณ์การแพทย์ที่จําเป็นเร่งด่วนแก่โรงพยาบาลในนครย่างกุ้งและ ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา มูลค่ากว่า 24 ล้านบาท และยังได้จัดส่งความช่วยเหลือให้ เมียนมาผ่านกลไกเดลซา เริ่มต้นตั้งแต่เดือนกันยายน 2564

นอกจากนี้ ไทยยังมีบทบาทเป็นตัวกลางในการรวบรวมและส่งต่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่างๆ จากทั้งมิตรประเทศ ไปจนถึงภาคเอกชนของไทยที่มีความห่วงใยในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งได้มอบเงินและสิ่งของผ่านช่องทางของกระทรวงมาอย่างต่อเนื่อง

“ไทยต้องการเห็นสันติภาพ ความสงบสุข และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนใน เมียนมา การไม่มีปัญหาข้ามแดนต่างๆ รวมถึงการค้ามนุษย์ ยาเสพติด ทำให้ไทยในฐานะเพื่อนบ้านได้ผลประโยชน์ด้วย สถานการณ์ในเมียนมามีความซับซ้อน ไทยต้องคํานึงถึง ผลที่จะตามมาในทุกด้านเพื่อให้สื่อสารได้อย่างตรงไปตรงมาให้มีการยุติความรุนแรง ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัว และให้ฝ่ายต่างๆ ในเมียนมาพูดคุยกัน” นายธานีกล่าว

แนวทางที่ไทยเสนอ ได้แก่ การดําเนินการ D4D บนเวทีอาเซียน ประกอบด้วย การยุติความรุนแรง การจัดส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง และการหารือเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนใน เมียนมาที่นําไปสู่ฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน

ส่วนการเยือนเมียนมาของ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.การต่างประเทศ เมื่อเดือนต.ค. 2564 นอกจากมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมน้ำหนักรวม 17 ตัน ยังหารือกับ พลเอกอาวุโสมิน อ่องไหล่ เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาภายในเมียนมา ซึ่งต้องคุยกันต่อเนื่องเพราะเป็น เพื่อนบ้านเรา

สำหรับสถานการณ์ตึงเครียดที่เกิดขึ้นกับประชาชนทั้งสองฝั่ง ไทยให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาที่ข้ามมาฝั่งไทยชั่วคราวในช่วงที่ผ่านมาโดยตลอด เช่นเดียวกับภารกิจดูแลคนไทยและผลประโยชน์ของไทยในเมียนมา

กระทรวงจัดทําแผนเตรียมความพร้อมช่วยเหลือและอพยพคนไทยหากเกิดสถานการณ์ จําเป็น และมีการประเมินสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่อง พร้อมซักซ้อมแผนการอพยพคนไทย ซึ่งจากฐานข้อมูลปัจจุบันมีคนไทยในย่างกุ้ง 383 คน และต่างจังหวัดหรือรัฐ 399 คน รวมมีคนไทยในเมียนมาทั้งสิ้น 782 คน ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจที่เฝ้าจับตาธุรกิจ

นอกจากนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เดือนมีนาคม 2563 กระทรวงบัวแก้วช่วยอำนวยความสะดวกให้คนไทยในเมียนมาเดินทางกลับประเทศแล้ว 3,349 คน

ปรับ‘เอเปก’ไปสู่การฟื้นฟู

การเป็นเจ้าภาพเอเปกของไทยเกิดขึ้นช่วงเดียวกับการเปิดประเทศของไทย จะเป็น โอกาสสําคัญอย่างยิ่งที่ไทยจะเปิดตัวและ ขับเคลื่อนการฟื้นประเทศจากโควิดไปสู่อนาคต เป็นโอกาสที่ไทยจะแสดงความพร้อมในการจัดการประชุมแบบเดินทางมาเจอหน้ากันที่ประเทศไทย

จากการที่โควิด-19 ได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและของโลกอย่างรุนแรง และสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไร้สมดุลของการดําเนินชีวิต ไทยซึ่งได้รับรองแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือบีซีจี (Bio-Circular- Green Economy: BCG Economy) ซึ่งมีหัวใจคือความสมดุลของทุกสิ่ง เป็นวาระแห่งชาติและเป็นแนวทางในการฟื้นฟูจากโควิด-19

หัวข้อหลักในการเป็นเจ้าภาพเอเปกของไทยคือ การ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์เชื่อมโยงกันสู่สมดุล” เพื่อปรับเอเปกไปสู่การฟื้นฟูและโลกยุคหลังโควิด-19 ที่ยั่งยืนและสมดุล และมีประเด็นสําคัญที่ไทยผลักดันและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมของไทย 3 ด้าน

1) การริเริ่มการพูดคุยเรื่องการจัดทําเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) รูปแบบใหม่ในบริบทของการเจริญเติบโตในยุคหลังโควิด-19 ที่ยั่งยืนและสมดุลกับสิ่งแวดล้อม มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และครอบคลุมประเด็นทางการค้าใหม่ๆ

2) การฟื้นฟูความเชื่อมโยงในเอเปก โดยเฉพาะการเดินทางและการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย โดยการต่อยอดบัตรเดินทางสําหรับนักธุรกิจเอเปกที่เดิมออกให้เฉพาะนักธุรกิจ ซีอีโอ แต่จะผลักดันให้แก่นักท่องเที่ยวด้วย เพื่อขยายการอํานวยความสะดวกการเดินทางให้ครอบคลุมกลุ่มบุคลากรที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น

3) การจัดทําเอกสารเพื่อประกาศเจตนารมณ์ของผู้นําเขตเศรษฐกิจเอเปกใน การสร้างการเจริญเติบโตช่วงหลังโควิด-19 ที่เข้มแข็ง ยืดหยุ่น ยั่งยืน และสมดุลกับ สิ่งแวดล้อม โดยที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและได้รับผลประโยชน์อย่างครอบคลุมและ เท่าเทียม โดยเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับแนวคิดเศรษฐกิจบีซีจี

ความท้าทายของเอเปกได้แก่ ระยะทาง ภูมิศาสตร์ระยะไกล ที่ผู้นำชาติต่างๆ จะมาร่วมประชุมช่วงราว 1-3 พ.ย. 2565 ไทย ในฐานะเจ้าภาพเอเปกหารือกับกัมพูชาในฐานะเจ้าภาพอาเซียน และอินโดนีเซียจะเป็น เจ้าภาพการประชุมจี 20 ในปี 2565 ว่า บริหารอย่างไรให้ผู้นำจาก 21 เขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกร่วมประชุมดังกล่าว ในระยะเวลาใกล้เคียงกันให้ได้

รวมถึงระดับการพัฒนาที่ต่างกันของแต่ละเขตเศรษฐกิจ ตั้งแต่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา แคนาดา ไปจนถึงประเทศกำลังพัฒนา อาทิ ปาปัวนิวกินี

เจ้าภาพเอเปกโชว์หุ่นยนต์’ไข่ต้ม’ กับ ‘ดินสอ’

ชาวเมียนมาหนีการสู้รบมายังจังหวัดตาก

ไทยรับมอบวัคซีนแอสตร้าฯ จากสหราชอาณาจักร

การสู้รบฝั่งพม่ามองเห็นจากฝั่งไทย

นายธานี แสงรัตน์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน