‘จุฬาฯ-ทช.-โอเชียนคลีนอัพ’ – จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) และดิ โอเชียน คลีนอัพ (The Ocean Cleanup) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ร่วมมือกันดำเนิน โครงการกำจัดขยะพลาสติกจากแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพฯ พร้อมทั้งศึกษากลไกพฤติกรรมเชิงลึกของขยะพลาสติกในทุกช่วงเวลา เพื่อลดปัญหา สิ่งแวดล้อม ในระยะยาว มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2564-2567)

จากความต้องการใช้พลาสติกสังเคราะห์จากปิโตรเลียมเพิ่ม สูงขึ้นเรื่อยๆ มากถึง 400 ล้านตัน ต่อปีในปัจจุบัน หลากหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่ด้านบรรจุภัณฑ์ปลอดเชื้ออาหารและยาไปจนถึงชิ้นส่วนน้ำหนักเบาของยานยนต์และเครื่องบินและอื่นๆ อีกมากมาย เมื่อสิ้นอายุการใช้งานพลาสติกเหล่านี้กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม

ศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ รองผอ.สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ และรองกรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ จุฬาฯ กล่าวว่า จากจำนวนพลาสติกที่ถูกผลิตมากกว่าแปดล้านตันทั่วโลก ร้อยละ 80 ของพลาสติกเหล่านั้นกลายเป็นขยะในหลุมฝังกลบหรือปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม

ศาสตราจารย์ดร.สุชนาได้นำทีมนักวิชาการอาวุโสจาก ทช. และหน่วยงานต่างๆ ในจุฬาฯ ได้แก่คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ และสถาบันวิจัยสังคม ร่วมมือกันทำงาน

“จากการที่ขยะพลาสติกไหลลงสู่มหาสมุทรผ่านแม่น้ำเป็นเส้นทางหลัก ปัจจุบัน มีการคาดการณ์ว่า มีขยะพลาสติกจากทั่วโลกไหลลงสู่แม่น้ำเป็นจำนวน 0.8-2.7 ล้านตันในแต่ละปี” ดร.โทมัส มานี หัวหน้านักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมด้านแม่น้ำแห่ง ดิ โอเชียน คลีนอัพ กล่าว

ขณะเดียวกัน ดิ โอเชียน คลีนอัพ ทช. และบริษัทในเครือของ Asimar Ecomarine ได้มีการติดตั้งเรือดักขยะแม่น้ำพลังแสงอาทิตย์ Interceptor ในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญก้าวหนึ่งในภารกิจกำจัดขยะพลาสติกในมหาสมุทรและในแม่น้ำ ที่มีมลพิษมากที่สุด โดยคาดว่าจะสกัดขยะพลาสติกได้ประมาณ 80-300 ตันต่อปี และช่วยเสริมสร้างความตระหนักรู้ในปัญหาขยะพลาสติกในมหาสมุทร และสำรวจความเป็นไปได้อื่นๆ เพื่อสกัดกั้นขยะพลาสติกในแม่น้ำสาขาของแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ดร.โทมัส ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยได้แนะนำผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษพลาสติกจากดิ โอเชียน คลีนอัพ ให้ทำงานร่วมกับโครงการนี้ โดยมีความเชื่อว่า “หากเราวัดผลไม่ได้ เราก็จะจัดการไม่ได้”

ดังนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงและความร่วมมือเพื่อผลักดันการวิจัยเชิงลึกในการพัฒนาความเข้าใจของประชาชน รัฐบาล และนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อมนี้

ปิดท้ายที่ ดร.สุมนา ขจรวัฒนากุล ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทช. กล่าวว่า “ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ได้จากโครงการนี้ ไม่เพียงแต่จะทำให้เข้าใจและสามารถแก้ไขปัญหามลพิษในแม่น้ำเจ้าพระยาเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ต่อแหล่งน้ำอื่นๆ อีกด้วย”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน