“ปรารถนาให้ทุกชีวิตมีความสุขกายสุขใจ อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน จงมีสุขรักษาตนให้พ้นภัยทั้งปวงเถิด นี่คือหลักที่จะเอาดีกับพระพุทธเจ้า… ให้มีศีล 5” สารธรรมมงคล พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

“หลวงปู่รอด พรหมสาโร” หรือ “หลวงพ่อพรหมสร” วัดบ้านไพ อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา เป็นพระเกจิชื่อดัง วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยม คือ “เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่รอดรุ่นแรก” ที่คหบดีชาวลพบุรี สร้างถวายในราวปี พ.ศ.2492 จำนวนไม่เกิน 1,000 เหรียญ

ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ หูเชื่อม พิมพ์ด้านหน้ายกขอบโดยรอบ 2 เส้น ตรงกลางมีรูปเหมือนหลวงปู่รอดหน้าตรง ครึ่งองค์ ด้านล่างจารึกชื่อ “หลวงพ่อพรหมสร (รอด)” ด้านหลังเหรียญ เรียบ ตรงกลางมียันต์นะทรหด แต่ไม่ระบุปี พ.ศ.ที่สร้างในเหรียญเหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อพรหมสร (รอด) รุ่นแรก นับเป็น เหรียญที่ได้รับความนิยมอีกเหรียญ

หลวงปู่กินรี จันทิโย วัดกัณตะศิลาวาส ต.ฝั่งแดง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม พระวิปัสสนาจารย์ชื่อดัง ในปี พ.ศ.2521 คณะศิษย์ นำโดย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ผบ.สส.สมัยนั้น จัดสร้างเพื่อนำไปแจกทหารในสังกัด และส่วนหนึ่งนำรายได้มอบให้วัด เป็นเหรียญรูปทรงคล้ายดอกจิก มีหูห่วง จัดสร้างเป็นเนื้อทองแดง แต่ไม่ทราบจำนวนจัดสร้างอย่างแน่ชัด

ด้านหน้ามีเส้นสันขอบนูน ใกล้ขอบ เหรียญจากซ้ายไปขวา เขียนคำว่า “วัดกัณตะศิลาวาส อ.ธาตุพนม จ.นครพนม” กลางเหรียญมีรูปเหมือนหน้าตรง หลวงปู่ครึ่งองค์ลอยนูนเด่น ตรงจีวร ตอกโค้ดสัญลักษณ์คล้ายดอกบัว ด้านล่างสลัก “หลวงปู่กินรี จนฺทิโย” ด้านหลัง มีเส้นสันขอบนูน ขอบเหรียญจากซ้ายมียันต์อักขระนับได้ 12 ตัว ด้านขวา 10 ตัว ตรงกลางเหรียญมีตราสัญลักษณ์กองบัญชาการทหารสูงสุด ถัดลงมาสลักคำว่า “ที่ระลึกจาก” ระบุยศ “พล.อ.” พร้อมลายเซ็น “เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์” “ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ๒๑พ.ค.๒๑” ทุกวันนี้เป็นเหรียญหายากไปแล้ว

“เหรียญหลวงพ่อวัดไร่ขิง ปี 2467” จ.นครปฐม เป็นเหรียญรูปเหมือนที่สร้างขึ้นเป็นครั้งแรก ในสมัยหลวงพ่อใช้ ปติฏโฐ เป็นเจ้าอาวาส เพื่อหาปัจจัยสมทบทุนก่อสร้างเสนาสนะ เมื่อปี พ.ศ.2467 ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงเสมา หูในตัว ด้านหน้าเหรียญ ตรงกลางเป็นรูปจำลองหลวงพ่อวัดไร่ขิง ประทับนั่งเหนืออาสนะ ฐานแบบผ้าทิพย์ ขอบเหรียญแกะลวดลายกระหนกอย่างสวยงาม ด้านข้างตรงพระชานุ (เข่า) ทั้ง 2 ข้างมีอักษรไทยว่า “ที่ร” และ “ฤก” อันหมายถึง ที่รฤก ใต้อาสนะจารึกอักษรไทยว่า “หลวงพ่อวัดไร่ขิง” ด้านหลังเหรียญ เป็นยันต์อักขระขอม 25 ช่อง ภายในบรรจุอักขระขอม ด้านล่างสุดระบุปีที่สร้าง “พ.ศ.2467” นับเป็นเหรียญที่มีพุทธลักษณะงดงามและมากด้วยพุทธคุณ

อริยะ เผดียงธรรม
[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน