‘พิพัฒน์’ ขึ้นรูปเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจ่อหารือสาธารณสุข-ร้านนวดแห่จดทะเบียน2,000แห่ง – ‘พิพัฒน์’เตรียมนัดถกสธ. เพิ่มพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หวังดันทุกภาคต้องมีแหล่งท่องเที่ยวแบบนี้อยู่เป็นแลนด์มาร์กประจำภาค ดึงนักท่องเที่ยวรักสุขภาพกระจายรายได้ลงไปท้องถิ่น

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า กระทรวงจะนัดหารือกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในภาคการท่องเที่ยว เพื่อพิจารณาแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือไทยแลนด์ เวลเนส แซนด์บ็อกซ์ หลังจากเรื่องนี้ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) เรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นจะขยายพื้นที่ในการจัดส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างน้อยภูมิภาค ละแห่ง เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้น

“โมเดลการจัดทำเมืองส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เดิมกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ตั้งเป้าหมายว่าอยากจะขยายไปทุกภูมิภาค นั่นคือหนึ่งภาคหนึ่งโมเดล แต่ถ้าจังหวัดไหนมีความพร้อม อยากจะทำจังหวัดตัวเองเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ มีศูนย์ต่างๆ รองรับ ก็เสนอเข้ามาให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ และกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันพิจารณาผลักดันขึ้นมาได้เพื่อให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้เร็ว เพราะประเทศไทยมีจุดแข็งเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่ได้รับการยอมรับจากหลายประเทศ ดังนั้นในแนวทางการส่งเสริมจึงต้องไปดูว่า สถานที่ไหนสามารถผลักดันได้ก็ต้องเร่งทำ”

สำหรับการผลักดันการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่ผ่านมา ศบศ.ได้เห็นชอบในหลักการของแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทาง การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแห่งใหม่ โดยการปรับภาพลักษณ์หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแห่งใหม่ของประเทศไทย พร้อมทั้งสร้างตราสินค้าแหล่งท่องเที่ยว โดยประชาสัมพันธ์หัวหินและชะอำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกควบคู่กับพัฒนาการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกภายใต้โครงการไทยแลนด์ริเวียร่า ผ่านการนำเสนอสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

นายอภิชัย เจียรอดิศักดิ์ ที่ปรึกษาสมาพันธ์สปาไทย กล่าวว่า ปี 2565 อุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพจะกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง เพราะธุรกิจเพื่อสุขภาพจะมีการให้บริการที่หลากหลาย โดยปี 2564 หลังจากอุตสาหกรรมสปาไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของ โควิด-19 ยาวนานกว่า 2 ปี เหลือประกอบกิจการเพียง 50% จำนวนบุคลากรที่ให้บริการ อาทิ หมอนวด เป็นต้น ทั้งระบบมีจำนวน 1.8 แสนคน หากรวมที่อยู่นอกระบบไม่ขึ้นทะเบียนหรือขออนุญาตทั้งจากทั้งกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทั่วประเทศ น่าจะมีประมาณ 4-5 แสนคน แต่ในปี 2564 ธุรกิจเพื่อสุขภาพกลับมีการจดทะเบียนใหม่ของธุรกิจเพื่อสุขภาพ นวด สปา เพิ่มขึ้นเกือบ 2 พันแห่งทั่วประเทศ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน