สงขลา – ผศ.ดร.นุกูล ชิ้นฟัก ผู้ช่วยคณบดี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย “การจัดการความรู้ข้อเสนอเชิงนโยบาย สู่การปฏิบัติในการฟื้นฟูการปลูกป่าชายเลนในบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาแบบประชารัฐ” เผยว่า ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช พื้นที่ 8,729 ตร.ก.ม.

ถือเป็นแหล่งต้นน้ำของลุ่มน้ำแห่งเดียวของประเทศไทย ที่มีระบบนิเวศ 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม แต่ที่ผ่านมาถูกคุกคาม จึงได้นำนโยบายและยุทธศาสตร์การอนุรักษ์ฟื้นฟูการปลูกป่าชายเลนในบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาแบบประชารัฐ มาต่อยอดปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมในพื้นที่หมู่ 4 ต.ชะแล้ อ.สิงหนคร โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มีการลงพื้นที่ทำข้อตกลง MOU ระหว่างเทศบาล ต.ชะแล้ และมหาวิทยาลัยหาดใหญ่

พร้อมทั้งเชื่อมโยงกลุ่มเครือข่าย เช่น กลุ่มชุมชนรักษ์ชะแล้ สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 (เกาะยอ) ร.ร.วัดชะแล้ กลุ่มประมงพื้นบ้าน บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารฯ โดยใช้แนวคิด “บางเหรียงโมเดล” คือปลูกป่าชายเลนแบบผสมผสาน

พร้อมบูรณาการแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้าน เช่น การทำไม้ไผ่กันลม การรณรงค์ร่วมกันเก็บเศษขยะ ทิ้งออกจากพื้นเป็นระยะๆ อนาคตยังมองแนวทางที่จะพัฒนา ให้ป่าชายเลนริมทะเลสาบสงขลาแห่งนี้ เป็นสถานที่ ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นแหล่งเพาะลูกกุ้งลูกปลา

ส่วนพันธุ์กล้าไม้ที่ทีมวิจัยและชุมชนร่วมกันปลูก ได้แก่ ต้นจิก ตีนเป็ดทะเล จาก หยีน้ำ สารภีทะเล เสม็ดขาว และโกงกางใบเล็ก จำนวน 3,650 ต้น ขณะนี้เริ่มเห็นผลแล้ว อาทิ ชาวประมงจับปลาได้มากกว่าแต่ก่อน ต้นเสม็ดออกดอกให้เกสรเป็นอาหารชั้นดีแก่ผึ้งชันโรง ซึ่งชาวบ้านเลี้ยงไว้เป็นอาชีพเสริมกันมากขึ้น เกิดการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพิ่มขึ้น 3 กลุ่ม การจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนวัยใส ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ยังจัดตั้งศูนย์วิจัยชุมชนชะแล้ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน ผู้สนใจ และสามารถส่งต่อเป็นโครงการ ให้แผนพัฒนาตำบลต่อไปได้ โดยกลุ่มคนในท้องถิ่น และทีมวิจัยยังคงร่วมกันปลูกป่าชายเลนอย่างต่อเนื่อง จนเกิดภาคีชุมชนที่เข้มแข็งขึ้น ดำเนินวิถีชีวิตด้วยความหวงแหนและพึ่งพิงธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน