เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและครอบครัวที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ก่อสร้าง มูลนิธิบ้านเด็กเครือข่ายพัฒนาบ้านเด็ก และยูนิเซฟ โดยการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป ร่วมเปิดตัวกรอบปฏิบัติการเชียงใหม่ ประกอบไปด้วยชุดเครื่องมือที่ให้คำแนะนำแก่บริษัทก่อสร้างและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แบบสำรวจคุณภาพชีวิต และขั้นตอนการปฏิบัติงาน

ชุดเครื่องมือดังกล่าวได้รับการพัฒนา ทดลองใช้ และได้รับการ ปรึกษาจากผู้นำในธุรกิจก่อสร้าง แรงงานก่อสร้าง ครอบครัว และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ของเด็กและครอบครัวในแคมป์คนงานก่อสร้างซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ เน้นการเข้าถึงบริการทางสุขภาพและศึกษา ง่ายต่อการใช้งาน และจะช่วยให้ผู้จัดการแคมป์ระบุถึงความต้องการของผู้พักอาศัย ตลอดจนวางแผนการดำเนินการ และติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับความเป็นอยู่ในแคมป์คนงานก่อสร้าง

นายนิโคลา ครอสตา ผู้ก่อตั้งมูลนิธิบ้านเด็กฯ กล่าวว่า “การนำกรอบปฏิบัติการเชียงใหม่ไปใช้ในการจัดการดูแลแคมป์สามารถสร้างผลลัพธ์ที่สำคัญต่อคนงานก่อสร้างและครอบครัว ชุดเครื่องมือนี้จะมีตัวชี้วัดและคำแนะนำด้านต่างๆ ในการจัดการแคมป์คนงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ในด้านระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน สวัสดิการและบริการ สุขภาพ และการศึกษา ทุกหนึ่งบาทที่ลงทุนกับเด็กและครอบครัวที่อาศัยอยู่ในแคมป์ก่อสร้างจะเกิดผลตอบแทนตามมูลค่าทางสังคมสูงถึง 7 บาท ประโยชน์ที่ได้เป็นผลมาจากการที่เด็กๆ อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยมากขึ้น เข้าถึงบริการด้านการศึกษาและสุขภาพที่มากขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล (ESG) ของบริษัทก่อสร้างและ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย”

นางคยองซัน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า “การใช้คู่มือนี้นอกจากจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและครอบครัว ปรับปรุงความปลอดภัยและการส่งเสริมความเป็นอยู่ในแคมป์คนงานก่อสร้างแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานกับบริษัท ลดความเสี่ยงในการดำเนินงาน สร้างชื่อเสียงให้บริษัท ช่วยยกระดับความยั่งยืนของบริษัท ทั้งหมดนี้เป็นโอกาสให้บริษัทก่อสร้าง สร้างผลลัพธ์ทางสังคม สอดคล้องกับความต้องการทั่วโลกในการให้ภาคธุรกิจเป็นผู้นำในการปกป้องสิทธิมนุษยชน”
สนใจดูรายละเอียดได้ที่ www.building socialimpact.org

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน