ไม่กี่ปีมานี้ เห็นชัดว่าเกษตรกรภาคใต้หลายจังหวัดหันมาเลี้ยงผึ้งและชันโรงเป็นอาชีพเสริมกันมากขึ้น เพราะนอกจากไม่ต้องลงทุนเรื่องอาหารการกินแล้ว ยังไม่ต้องใช้เวลาไปดูแลอะไรมาก แค่ทำกล่องหรือรังให้อยู่เท่านั้นพอ ที่สำคัญมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ ถ้าเลี้ยงจำนวนมากรังก็จะได้เงินมากตามไปด้วย รวมถึงยังสามารถนำส่วนต่างๆ ในรังไปแปรรูปได้อีกด้วย

วันก่อนสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ชวนไปดูความสำเร็จโครงการวิจัย “การพัฒนาชุมชนเพาะเลี้ยงชันโรงสู่การเป็นชุมชนนวัตกรรมอย่างยั่งยืน จ.สงขลา” เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งชันโรง การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ การตลาด ตลอดจนผลักดันจาก อาชีพเสริมสู่อาชีพหลัก สร้างรายได้มั่นคง ที่วิสาหกิจชุมชนหลายแห่งใน อ.รัตภูมิ และ อ.บางกล่ำ จ.สงขลา โดยมีผศ.ดร.ปกรณ์ ลิ้มโยธิน คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เป็นผู้อำนวยการแผนโครงการ ส่วนผศ.ดร.นุกูล ชิ้นฟัก ผู้ช่วยคณบดีคณะรัฐศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการย่อย นำทีมคอยให้ข้อมูล

จุดหนึ่งที่ไปคือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพาะเลี้ยงชันโรงบ้านคลองต่อ ต.กำแพงเพชร อ.รัตภูมิ ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ เป็นศูนย์การเรียนรู้การส่งเสริมการเลี้ยงชันโรง มีคณะต่างๆ เข้ามาศึกษาดูงานจำนวนมากทั้งในส่วนของคนไทย และชาวต่างชาติหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นประเทศในยุโรป เอเชีย และอเมริกา

ผศ.ดร.นุกูลเล่าว่า กลุ่มนี้เริ่มเลี้ยงผึ้งชันโรง โดยเชื่อมโยงการเกษตรอินทรีย์อย่างสมบูรณ์ ปัจจุบันมีการเลี้ยงชันโรงหลายพันรัง ใน 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ขนเงิน ทูราซิก้า และอีตาม่า โดยขับเคลื่อนร่วมกับเครือข่ายรายย่อยในพื้นที่ พร้อมส่งเสริมให้โรงเรียนและชุมชน มาเรียนรู้การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น ยาหม่องขี้ผึ้งชันโรง พิมเสน และสบู่

สำหรับผึ้งชันโรงพิเศษกว่าผึ้งชนิดอื่นๆ ตรงที่นำยางจากต้นไม้ชนิดต่างๆ มาต่อเติมสร้างรัง ทำให้น้ำผึ้งมีสรรพคุณทางยาที่ดี และยังเป็นเครื่องบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้และการทำเกษตรกรรมว่าเป็นเกษตรอินทรีย์เกือบทั้งหมด ช่วยส่งเสริมให้พืชพรรณ โดยเฉพาะผลไม้ติดผลมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งน้ำผึ้งชันโรงมีสารต้าน อนุมูลอิสระ ในส่วนรสชาติยังให้ความแตกต่างจากน้ำผึ้งอื่นๆ เพราะมีรสเปรี้ยวอมหวาน ราคาซื้อขายปัจจุบันอยู่ที่ 2 บาทต่อ 1 มิลลิลิตร ผึ้ง 2-3 รัง ให้ผลผลิตน้ำผึ้งประมาณ 1 ก.ก. สร้างรายได้หลักแสนถึงหลักล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้ม จะสูงขึ้นได้อีก

นายวิสุทธิ์ สุวรรณ หรือบังอิ๊ วัย 44 ปี ประธานวิสาหกิจชุมชนเพาะเลี้ยงชันโรง บ้านคลองต่อ และเจ้าของนาดาฟาร์ม เล่าว่า กลุ่มก่อตั้งเมื่อปี 2550 แต่ความจริงเลี้ยงอุง (ภาษาใต้) หรือชันโรงมาหลายปีแล้ว มีสมาชิก 24 คน รวมทั้งอาจารย์และนักเรียนด้วย เพราะนอกจากจะส่งเสริมเกษตรกรแล้ว ยังส่งเสริมเด็กนักเรียนด้วย ทั้งในเรื่องการเลี้ยง การเก็บน้ำหวาน และการแปรรูป เป้าหมายคือต้องการปลูกฝังตั้งแต่เด็ก เนื่องจาก มีต้นทุนในหมู่บ้านเป็นแมลงเศรษฐกิจที่มีคุณค่า จึงสอนให้เด็กๆ รู้จักคุณค่าของแมลง เผื่อวันข้างหน้าคนพวกนี้กลับมาอยู่บ้านกับพ่อแม่ จะได้มีงานรองรับ เป็นรายได้ที่เยอะเหมือนกัน

บังอิ๊ย้อนอดีตให้ฟังว่า เดิมนั้นชันโรงมีในหมู่บ้านอยู่แล้ว แต่คนส่วนใหญ่ไม่เห็นคุณค่า บางบ้านฉีดยาให้ตาย ความจริงมีประโยชน์เยอะเพราะผสมเกสรเก่ง เลยชวนเพื่อนบ้านลองเลี้ยงดู ปีแรกมี 10-20 รัง รังกว้าง 6 นิ้ว สูง 5 นิ้ว ทำจากไม้กระท้อนและไม้กระถิน มอดไม่กิน เก็บน้ำหวานได้ 15 ก.ก. เพื่อนบ้านตกใจว่าชันโรงตัวเล็กขนาดนี้ แต่ทำไมน้ำหวานได้เยอะ ปัจจุบันสมาชิกแต่ละคนเลี้ยงคนละ 100 กว่ารัง ส่วนตัวมี 200 รัง จากเดิมที่เลี้ยงตอนแรกแค่ 10 กว่ารัง รวมกันทั้งกลุ่มมี 3,000 กว่ารัง โดยในโรงเรียนบ้านคลองต่อก็เลี้ยงประมาณ 100 รัง เพื่อให้เด็กได้ศึกษาเรียนรู้
ทั้งนี้ มีพื้นที่ 2 ไร่ในการวางรังชันโรง และมีสวนยางพารา 10 ไร่ อาชีพหลัก มีทั้งปลูกยางพารา เลี้ยงวัว และเลี้ยงแพะ แต่ละปีมีรายได้จากการขายน้ำผึ้งชันโรงหลายแสนบาท รวมทั้งทำรังขายด้วย

“เราไม่ต้องไปทำอะไรเลย ลงทุนครั้งเดียว ถ้าซื้อรังที่มีสายพันธุ์หรือมีนางพญาไปขาย รังละ 1,200 บาท ไม่ต้องบวกค่าอาหารเพิ่มแล้ว มันออกหากินเอง มีข้อดีตรงนี้ สามารถเก็บน้ำหวาน และขยายรังเป็น 1 2 3 4 ได้ ซึ่งชันโรงตัวเล็กอย่างขนเงินที่กลุ่มส่งเสริมเลี้ยงอยู่ได้ทุกพื้นที่ ในเมืองก็เลี้ยงได้ ในพื้นที่ที่ มีดอกไม้ มะพร้าว ปาล์ม หรือพืชผักสวนครัว แต่สวนที่มีพันธุ์ไม้หลากหลายจะดีที่สุด สิ่งที่ควรระวังคือพวกมด จิ้งจก ต้องคอยดูให้ดี”

สำหรับบ้านคลองต่อได้เปรียบ ตรงที่มี ภูเขา มีน้ำตก มีลำคลองขนาดใหญ่หลังหมู่บ้าน ส่วนใหญ่ปลูกยางพารา ขณะที่สองข้างคลองปลูกผลไม้ เงาะ ทุเรียน มังคุด และลองกอง ช่วงฤดูกาลของน้ำหวานในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. ตอนนั้นยางพาราเปลี่ยนใบ จะได้น้ำหวาน จากยางพารา และยังมีพวกเงาะ ทุเรียน ลองกองก็ออกดอกช่วงนั้น ซึ่งผลวิจัยพบว่า ในยางมังคุดมีสารสร้างอนุมูลอิสระ ในหมู่บ้านปลูกมังคุดเยอะ ชันโรงเก็บยางไม้มาสร้างถ้วยน้ำหวานหรือขี้ชันโรง สามารถขายได้ก.ก.ละ 1,000 บาท และนำมาแปรรูปเป็นยาหม่อง แต่การทำยาหม่องจะใช้ขี้ผึ้ง ใช้ขี้ชันโรง ที่ต้องมาสกัดด้วยน้ำมันมะพร้าว จะได้เป็นขี้ชันเหลืองๆ แล้วค่อยมาแปรรูปอีกที

ส่วนช่วงฤดูฝน ชันโรงออกหากินลำบาก จะไม่เก็บ น้ำหวาน ปีหนึ่งเก็บได้ 1-2 ครั้ง ส่วนจะได้ น้ำหวานมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับว่าชันโรงขยันหรือไม่ แต่ถ้าอยู่ในพื้นที่อุดมสมบูรณ์จะได้น้ำหวานเยอะไปด้วย
“ที่ผ่านมาการทำอาชีพเชิงเดี่ยวเริ่มลำบาก ยางพาราบางช่วงถูกมาก แต่คนที่ทำแบบผสมผสานอยู่ในสวน ทำให้มีรายได้ดีมากขึ้น อย่างเมื่อก่อนยางพาราก.ก.ละ 30-40 บาท พอมาเปรียบเทียบกับเกษตรกรที่ทำชันโรง กลับมีรายได้ที่สามารถช่วยเหลือครอบครัวได้เยอะ”

บังอิ๊พูดถึงแผนในอนาคตของกลุ่มว่า จะมุ่งพัฒนาเรื่องของมาตรฐานต่างๆ ทั้งเรื่องของน้ำผึ้งและการทำฟาร์มเลี้ยงเพื่อให้ส่งออกได้
สนใจอยากเลี้ยงชันโรง หรือซื้อผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเข้าไปดูได้ที่เพจ ชันโรง นาดาฟาร์ม โทร.08-2266-4985

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน