กระแสความกังวลของประชาคมโลกหลังเกิดสงครามในยูเครน ว่าอาจนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์ หรือวันโลกาวินาศ ถูกตอกย้ำด้วยการที่รัสเซียออกมาเปิดเผยคลิปปล่อยขีปนาวุธรุ่นใหม่ที่สามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ได้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

เว็บไซต์รัสเซียบียอนด์ ระบุถึงขีปนาวุธรุ่นดังกล่าวว่าเป็นจรวดเหนือเสียง (Hypersonic Missile) รุ่นแรกของโลกที่ยังไม่มีระบบป้องกันภัยทางอากาศใดสามารถสกัดกั้นได้
ขีปนาวุธรุ่นนี้ชื่อว่า เซอร์ค่อน (3M22 Tsirkon) เพิ่งเข้าประจำการในกองทัพรัสเซียปีนี้
ไฮเปอร์โซนิก เซอร์ค่อน ได้รับการพัฒนาภายใต้โปรเจ็กต์ 22350 ของกองทัพรัสเซีย ติดตั้งบนเรือรบฟริเกต แอดมิรัล กอร์ชคอฟ และกระทรวงกลาโหมรัสเซียลงนามซื้อขีปนาวุธมาใช้ประจำการแล้ว

เครื่องบินรบรุ่นมิก-31 พร้อมขีปนาวุธเหนือเสียง (forbes)

การทดสอบเมื่อธ.ค.2564 จรวดทำความเร็วได้เกือบ 10,000 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วเหนือเสียง 9 เท่า (9 มัก) และใช้เพียงเครื่องยนต์ไอพ่น ไม่ได้ใช้แรงโน้มถ่วงโลกเข้าช่วยเหมือนขีปนาวุธข้ามทวีป (Intercontinental Ballistic Missile – ICBM)

การทดสอบข้างต้น ยิงทำลายเป้าหมายที่ไกลออกไปถึง 450 กิโลเมตรได้สำเร็จ แต่พิสัยการยิงยังไม่ได้รับการเปิดเผย ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เคยอ้างว่าจรวดรุ่นนี้ทำลายเป้าหมายได้ไกลกว่า 1,000 กิโลเมตร (คาดว่าสูงสุดราว 1,500 ก.ม.)

อย่างไรก็ตามข้อมูลแน่ชัดมีเพียงว่า จรวดเซอร์ค่อนไม่สามารถถูกติดตามด้วยเรดาร์ หรือถูกยิงสกัดด้วยระบบต่อต้านขีปนาวุธใดๆ ที่มีในปัจจุบัน

ที่น่ากังวลอีกประการ มาจากระบบปล่อยขีปนาวุธที่จรวดรุ่นดังกล่าวใช้เป็นท่อปล่อยแนวตั้งแบบ 3C-14 ที่ใช้ในเรือรบทั่วไปของรัสเซีย ใช้ปล่อยจรวดอีกหลายรุ่น เช่น ขีปนาวุธพิสัยไกล คาลิบร์ และขีปนาวุธทำลายเรือ โอนิกส์

นั่นหมายความว่า ขีปนาวุธเซอร์ค่อนสามารถนำเข้าประจำการได้แทบจะทันทีในเรือรบรัสเซีย และหากติดหัวรบนิวเคลียร์จะจัดเป็นอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี (Tactical Nuclear Weapon – TNW)

ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกของชาติอื่นๆ

แม้อานุภาพไม่รุนแรงเท่าหัวรบใหญ่ๆ อย่างขีปนาวุธข้ามทวีปที่จัดเป็นอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Nuclear Weapon – SNW) แต่ก็รุนแรงพอจะเป็นหมัดเด็ดพลิกเกมในสมรภูมิดุเดือด แต่แน่นอนว่าสร้างผลกระทบใหญ่หลวงเรื่องฝุ่นกัมมันตรังสีเช่นเดียวกับหัวรบ SNW

อย่างไรก็ดี การใช้อาวุธนิวเคลียร์ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ อาจสร้างผลพวงจนกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ ซึ่งจะไม่มีชาติใดบนโลกรอดพ้นจากผลกระทบที่ตามมา

กองทัพเรือรัสเซีย (บีบีซี)

โดยการประเมินของผู้เชี่ยวชาญจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) สหประชาชาติ (UN) และสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐ (CIA) พบว่า อาจมีผู้เสียชีวิตถึง 550 ล้านคนในช่วง 10 เดือนแรกของสงคราม

นายอเล็กซี คริโวรุชโก รัฐมนตรีช่วยว่าการกลาโหมรัสเซีย กล่าวว่า จรวดเซอร์ค่อนจะได้รับการติดตั้งให้กับเรือพิฆาต (คลาส มาร์แชล ชาโปชิคอฟ) เรือประจัญบาน หรือแบทเทิล ครุยเซอร์ (คลาส แอดมิรัล นาคิมอฟ) รวมถึงเรือรบทั่วไป

ตลอดจนเรือดำน้ำ เค-560 (คลาส เซเวรอดวิสก์) ซึ่งเป็น กองเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ติดตั้งขีปนาวุธร่อน หรือจรวดครุยส์ (Cruise Missile)

แบบจำลองจรวดเซอร์ค่อนตั้งแต่ปี 2559 (AINONLINE)

เทคโนโลยีขีปนาวุธไฮเปอร์ โซนิก ไม่ใช่เรื่องใหม่ อดีตสหภาพโซเวียตเคยนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ตั้งแต่ช่วงปีพ.ศ.2503 ใช้เป็นระบบส่งหัวรบนิวเคลียร์ของขีปนาวุธข้ามทวีป ซึ่งถูกปล่อยขึ้นสู่วงโคจรแล้วพุ่งลงมาใส่เป้าหมายด้วยแรงโน้มถ่วงของโลก

ด้วยความเร็วที่คาดว่าเร็วถึง 6-10 กิโลเมตร/วินาที ยกตัวอย่าง ขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่น บุราน ของอดีตสหภาพโซเวียต พุ่งกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศด้วยความเร็วเหนือเสียงถึง 25 เท่า (25 มัก) เช่นเดียวกับ คินซัล ขีปนาวุธข้ามทวีปแบบปล่อยจากเครื่องบินรบความเร็วเหนือเสียงอย่าง มิก-31

แต่ความพิเศษของขีปนาวุธเซอร์ค่อนอยู่ที่การทำความเร็วเหนือเสียงได้ถึง 9 เท่า โดยไม่ต้องใช้แรงโน้มถ่วงโลกเข้าช่วย

ระบบท่อปล่อยจรวดแนวตั้งแบบ 3C-14 บนเรือรบรัสเซีย (thedrive)

รายละเอียดด้านวิศวกรรมของจรวดเซอร์ค่อน ยังเป็นปริศนา สร้างความตื่นตะลึงให้ผู้เชี่ยวชาญว่าใช้หลักการออกแบบอย่างไร หนึ่งในข้อสันนิษฐานระบุอาจมาจากวัสดุแบบใหม่ คาร์บอนไฟเบอร์หุ้มโลหะผสม (carbon fiber-reinforced composite material) ซึ่งได้รับการโฆษณาอย่างมากโดยบริษัท แท็กทิคัล มิสเซิล คอร์ป รัฐวิสาหกิจผู้พัฒนาเทคโนโลยีขีปนาวุธของรัสเซีย

เหตุผลที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นวัสดุชนิดนี้ เนื่องจากมีคุณสมบัติทนความร้อนถึง 2,500 องศาเซลเซียส น้ำหนักเบา ทนทานแข็งแรง

อันเป็นคุณสมบัติที่โครงสร้างของจรวดเซอร์ค่อนจำเป็นต้องมีหากจะเคลื่อนที่ได้ระยะทาง 1,000 กิโลเมตรใน 5 นาที ถือเป็นเทคโนโลยีเหนือชั้นกว่ายุคสงครามเย็นมาก

เว็บไซต์มิลิทารี่ระบุ ขีปนาวุธเซอร์ค่อน เป็นที่น่ากังวลจากมุมมองของทางการสหรัฐอเมริกา เนื่องจากอาจหลบเลี่ยงการถูกตรวจพบโดยระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่มีใช้ในปัจจุบันของสหรัฐ

เรือฟรีเกต แอดมิรัล กอชคอฟ (naval-technology)

สาเหตุเนื่องจากจรวดเซอร์ค่อนมีความเร็วสูงมาก และเพดานบินต่ำ ทำให้มีวิถีการเคลื่อนที่สามารถเจาะทะลุระบบต่อต้านขีปนาวุธทั่วไปได้

ขีปนาวุธชนิดนี้ยังใช้เชื้อเพลิงพิเศษที่มีความก้าวหน้าสูง ทำให้มีรัศมีโจมตีไกลถึง 1,500 ก.ม. โดยความเร็วที่สูงอย่างมากทำให้อากาศด้านหน้าของขีปนาวุธเปลี่ยนสถานะเป็นพลาสมา มีคุณสมบัติดูดซับคลื่นวิทยุ ทำให้เรดาร์มองไม่เห็น

ระบบต่อต้านขีปนาวุธ อีจิส (AEGIS) ของสหรัฐ ปัจจุบันต้องใช้เวลาตอบสนอง 8-10 วินาที เพื่อยิงสกัด แต่ภายในเวลา ดังกล่าว จรวดเซอร์ค่อนสามารถบินไปไกลถึง 20 ก.ม.แล้ว ต่อให้ระบบอีจิสปล่อยจรวดออกมาสำเร็จก็ตามจรวดเซอร์ค่อนไม่ทัน

เรือดำน้ำ เค-560 คลาส เซเวรอดวิสก์ (Wikipedia)

ด้านการประเมินจากเว็บไซต์พอพูลาร์เมคานิกส์พบว่า หากเรือรบสหรัฐตรวจพบจรวดเซอร์ค่อน ที่ระยะห่างจากเรือ 160 ก.ม. จะมีเวลาเพียง 60 วินาทีในการตอบสนอง ทางเดียวที่จะสกัดจรวดนี้ได้ ต้องยิงทำลายในช่วงที่จรวดเพิ่งถูกปล่อยออกมา หรือนำสิ่งกีดขวางไปขวางเส้นทางบินเท่านั้น

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า การหันไปพัฒนาแสนยานุภาพอาวุธเหนือเสียงของรัสเซีย น่าจะเพื่อรับมือกับขนาดและเทคโนโลยีที่เหนือกว่าของกองทัพสหรัฐ และชาติพันธมิตร รวมถึงจำนวนเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐ ที่มีถึง 12 ลำ

ขณะที่รัสเซียมีเรือบรรทุกเครื่องบินเพียงลำเดียว และต้องใช้เรือลากจูงออกเดินทางไปด้วยกรณีเครื่องยนต์ดีเซลเสียกลางทาง การหันไปใช้ขีปนาวุธเหนือเสียงในเรือรบขนาดเล็ก จึงเป็นการรักษาความได้เปรียบเชิงยุทธวิธีของรัสเซีย

การประเมินเบื้องต้นพบว่า เรือคอร์เวต หรือเรือสลุป (เรือรบขนาดเล็กความเร็วสูง) ของรัสเซีย ที่มีอยู่ 15 ลำ แต่ละลำติดตั้งจรวดรุ่นนี้ได้ 25 ลูก

เรือรบรัสเซียทดสอบยิงจรวดเซอร์ค่อนในทะเลขาว (lansinginstitute)

หากเป็นหัวรบระเบิดทั่วไปต้องใช้มากกว่า 15 ลูก จึงสามารถจมเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐได้ 1 ลำ แต่หากเป็นหัวรบนิวเคลียร์ เกมพลิกทันที

การพัฒนาจรวดเซอร์ค่อนของรัสเซีย ส่งผลให้เกิดกระแสเรียกร้องในกองทัพสหรัฐให้หันไปเน้นการพัฒนาแสนยานุภาพแบบใหม่ในด้านอื่นแทนที่เรือบรรทุกเครื่องบิน หรือพลิกโฉมคอนเซ็ปต์ของเรือบรรทุกเครื่องบินใหม่ เพื่อใช้รับมือภัยคุกคามในอนาคต

ทดสอบยิงจากภาคพื้นดิน (nextbigfuture)

แสนยานุภาพกองทัพรัสเซียที่น่ากังวลยังรวมถึงระบบอาวุธ สตาร์ วอร์ริเออร์ ขีปนาวุธที่สามารถยิงทำลายดาวเทียมในวงโคจรได้ สามารถติดหัวรบกระแทก หรือนิวเคลียร์ รวมถึงระบบอาวุธเลเซอร์ที่เป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศแบบใหม่ของรัสเซียด้วย ไว้โอกาสหน้าจะมานำมาให้อ่านกัน

จันท์เกษม รุณภัย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน