แม้เคยไปศรีสะเกษหลายครั้ง แต่ไม่รู้มาก่อนว่าเมืองดอกลำดวนปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสต้ามาหลายปีแล้ว เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็คงไม่รู้เหมือนกัน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะยังไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง แตกต่างจากทุเรียนภูเขาไฟของที่นี่ซึ่งมีชื่อเสียงและขายได้ราคาดีทีเดียว แพงกว่าทุเรียนของภาคตะวันออกเสียอีก

วันก่อนมีโอกาสไปร่วมงานที่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และคณะ พร้อมด้วย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ลงพื้นที่จ.ศรีสะเกษ ภายใต้กิจกรรม สวทช. เสริมแกร่งภูมิภาค ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG “ขับเคลื่อนโปรแกรมการยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยวิทยา ศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้” ซึ่งในวันเปิดงานที่มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ หน่วยงานต่างๆ นำผลงานวิจัยมานำเสนอ รวมทั้งบรรดาวิสาหกิจชุมชนก็ได้นำผลิตภัณฑ์มาโชว์
หนึ่งในนั้นคือบูธของศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษที่นำกาแฟมาให้ชิมกัน แถมมีให้ซื้อติดไม้ติดมือกลับไปด้วย

คุณธวัชชัย นิ่มจิรัตน์ อดีตผอ.ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษบอกว่า ศูนย์ส่งเสริมให้เกษตรกรในจ.ศรีสะเกษปลูกกาแฟโรบัสต้ามาเป็นปีที่ 10 แล้ว เพื่อให้เปลี่ยนจากผืนนาในที่ดอนมาปลูกกาแฟ ซึ่งสามารถปลูกได้ในทุกอำเภอของจ.ศรีสะเกษ แต่ขอให้มีน้ำเท่านั้น พร้อมขอขึ้นทะเบียนจดเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) คาดว่าน่าจะจด GI ได้ในปีนี้ เพราะกาแฟศรีสะเกษมีอัตลักษณ์เฉพาะคือ เป็นกาแฟที่มีรสชาติหอมหวาน มีความนุ่ม และออกกลิ่นผลไม้ มีรสขมน้อย บอดี้ (body) กำลังดี มีความแตกต่างจากโรบัสต้าที่อื่น

ทีนี้มาฟังเสียงเกษตรกรกันบ้าง ‘คุณฉัตรชัย ไชยโยธา’ หนุ่มใหญ่วัย 54 ปี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชัยพัฒนาศรีสะเกษ ต.กำแพง อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ เล่าว่า กลุ่มมีสมาชิก 100 กว่าคน มีพื้นที่ปลูกกาแฟรวมกัน 100 กว่าไร่ ส่วนตัวมีพื้นที่ทำโครงการโคกหนองนา 7 ไร่ ปลูกพืชไม้ยืนต้น ผสมกับการทำนา โดยปลูกไม้ผลและปลูกกาแฟประมาณ 3 ไร่ ซึ่งจะปลูกกาแฟเป็นโซนๆ เพราะเป็นพืชที่ชอบอยู่ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่

ขณะที่กลุ่มเครือข่ายปลูกกาแฟใน อ.อุทุมพรพิสัย มีประมาณ 40 ไร่ ส่วนทั่วทั้งจังหวัดมีประมาณ 600 กว่าไร่ ตนเองปลูกกาแฟเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เริ่มต้นจากการที่ผู้ว่าฯ ศรีสะเกษ ‘วัฒนา พุฒิชาติ’ มีแนวคิดที่จะปลูกพืชเพื่อเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกร เพราะการทำนาแต่ละปีได้ผลผลิตค่อนข้างต่ำ จึงคัดเลือกพืชที่สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกร โดยทดลองนำพันธุ์กาแฟโรบัสต้ามาจาก จ.ชุมพรมาให้ศูนย์วิจัยพืชสวนมาทดลองปลูก ปลูกได้ผลแล้ว ต่อมาแจกจ่ายต้นพันธุ์ให้เกษตรกรจำนวน 3 หมื่นต้น โดยแจกให้ 180 ต้นต่อ 1 ไร่ หลังจากปลูก 2 ปีก็ได้ผล ผู้ว่าฯ วัฒนาจึงได้ให้งบประมาณมาจัดซื้อเครื่องคั่ว เครื่องสี และอุปกรณ์บรรจุหีบห่อ

คุณฉัตรชัยเล่าถึงวิธีการปลูกกาแฟและการบำรุงดูแลว่า เริ่มจากการเพาะเมล็ดในถุง ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน พอจะเริ่มปลูกจะมีการเตรียมหลุมประมาณ 50×50 เมตร โดยบำรุงดินด้วยปุ๋ยขี้วัวขี้ควายผสมกับแกลบ ทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน หลังจากนั้นเริ่มปลูก ควรจะปลูกหน้าฝนช่วงต้นเดือนพ.ค. เพราะพืชจะสามารถเดินรากได้เลย ระยะการปลูก 3×3 เมตร การบำรุงดูแลใส่ปุ๋ย 3 ครั้งต่อปี ช่วงปลายปี กลางปี และช่วงก่อนหน้าฝนอีกครั้ง สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือเรื่องของวัชพืชที่จะมารบกวนและแมลง

ปัญหาที่เจอคือ พอกาแฟออกลูกมีความหวานนกจะชอบมากิน อีกอย่างระยะแรกควรป้องกันโรครากเน่า โรครา และน้ำค้าง วิธีป้องกันใช้น้ำควันไม้ฉีดเพื่อบำรุงต้นและใบ หลังจาก 2 ปีไปแล้วจะเริ่มออกดอกออกผล ระยะการให้น้ำช่วงนี้ต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอจนติดลูกติดดอกเสร็จแล้วก็ควรบำรุงต้น บำรุงใบ

เกษตรกรรายนี้ระบุว่า แม้ปลูกแค่ 2 ปีก็ออกลูกแล้ว แต่ระยะแรกอาจไม่ได้ผลเต็มร้อย ประมาณ 4 ปี ถึงจะได้ผลเต็มร้อย หมายถึงลูกจะดกงามและสวย ช่วง 4 ปีผลผลิตต่อไร่จะได้เงินประมาณ 20,000 บาท

ในการเก็บเมล็ดเชอร์รี่ควรเก็บเฉพาะลูกสุกๆ ออกสีชมพู หลังจากได้ลูกมาแล้วจะนำมาบ่มเวลา 3 เดือน นำมาสีกะเทาะเปลือกแล้วนำมาคั่ว มาบด ทั้งหมดคือกรรมวิธีในการผลิต

สำหรับกาแฟที่นี่ใช้ชื่อแบรนด์ ‘กาแฟ โรบัสต้าศรีสะเกษ’ ขายเป็นกาแฟดริป กล่องหนึ่ง 5 ซอง น้ำหนัก 250 กรัม ราคา 139 บาท

กับคำถามที่ว่า ราคาขายเป็นอย่างไรถ้าเทียบกับกาแฟโรบัสต้าของที่อื่น คุณฉัตรชัยอธิบายว่า เป็นราคากลางๆ ไม่ถูกหรือแพงจนเกินไป ที่สำคัญเป็นกาแฟโซนภูเขาไฟ กลิ่นรสชาติจะแน่น มีความหอมของกาแฟ รสชาติจะเข้มข้นมาก แตกต่างจากที่อื่น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของอุณหภูมิและสภาพดิน ซึ่งศรีสะเกษเป็นดินแดง ดินแล้งเป็นดินภูเขาไฟ ลักษณะของธาตุดินจะบำรุงพันธุ์ให้ออกมาโดดเด่นต่างจากพืชที่ปลูกในพื้นที่อื่นๆ เช่น ถ้าปลูกหอมจะเป็นหอมหัวไม่ใหญ่ แต่มีกลิ่นฉุนเก็บได้นาน เช่นเดียวกับกระเทียมก็จะมีกลิ่นฉุน หัวไม่โต

ในเรื่องการลงทุนนั้น คุณฉัตรชัยเล่าว่า เฉพาะต้นกาแฟต้นทุนไม่มีเพราะทางจังหวัดสนับสนุนต้นกล้าฟรี แต่จะมีในส่วนของการผลิต การแปรรูป และการบรรจุหีบห่อ ซึ่งการปลูกกาแฟสามารถคืนทุนและทำกำไรได้ดีกว่าปลูกข้าว เพราะทำนาปีหนึ่งได้แค่ 5,000 บาทต่อไร่ ถ้าปลูกกาแฟได้ถึง 20,000 บาท เป็นผลตอบแทนที่น่าพอใจ ทั้งนี้ ทางกลุ่มวางแผนขยายจำนวนสมาชิกและพื้นที่ปลูก เนื่องจากมีความต้องการกาแฟมาก ในส่วนช่องทางการตลาดมีขายในร้านค้าออนไลน์อย่างลาซาด้าและช้อปปี้ รวมทั้งบริษัทไปรษณีย์ไทยก็รับไปขายด้วย

สนใจกาแฟโรบัสต้าศรีสะเกษ ติดต่อได้ที่ 09-9473-3447 หรือ 09-5862-3947
ใครไปศรีสะเกษ อย่าพลาดที่จะชิมกาแฟเมืองนี้ เพื่อพิสูจน์ว่า ‘กลิ่นรส’ สุดยอด อย่างที่บรรยายสรรพคุณไว้หรือไม่

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน