ในทริปล่องใต้ไปสงขลาที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ชวนไปดูความสำเร็จโครงการวิจัย “การพัฒนาชุมชนเพาะเลี้ยงชันโรงสู่การเป็นชุมชนนวัตกรรมอย่างยั่งยืนจ.สงขลา” เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งชันโรง การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ การตลาด ตลอดจนผลักดันจากอาชีพเสริมสู่อาชีพหลัก สร้างรายได้มั่นคง ที่วิสาหกิจชุมชนหลายแห่งในอ.รัตภูมิ และอ.บางกล่ำ

ผศ.ดร.ปกรณ์ ลิ้มโยธิน คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ผู้อำนวยการแผนโครงการ และผศ.ดร.นุกูล ชิ้นฟัก ผู้ช่วยคณบดีคณะรัฐศาสตร์ หัวหน้าโครงการย่อย นำทีมสื่อมวลชนจากส่วนกลางไปรับประทานอาหารกลางวันกันที่‘สวนเทพหยา’ ต.ป่าขาด อ.สิงหนคร ทำเอาหลายคนต่างติดอกติดใจบรรยากาศอันเขียวขจี มีต้นตาลสูงใหญ่กว่าร้อยต้นยืนเด่นเป็นสง่า เป็นฉากถ่ายรูปที่งดงามมาก แถมยังได้กินซูชิข้าวยำอร่อยสุดๆ ฝีมือคุณน้อง-ณภัส รัตนชาติ ภรรยาของ ‘คุณชาญวิทย์ รัตนชาติ’ เจ้าของสวน ผู้เป็นลูกบุญธรรมของ ‘พล.อเปรม ติณสูลานนท์’ อดีตประธานองคมนตรี ที่ส่งเสียให้เรียนจนจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้

เสียดายวันที่ไปไม่ตรงกับวันที่ตลาดเทพหยาเปิด ซึ่งเปิดทุกวันอาทิตย์ เลยอดช็อปปิ้งผลผลิตทางการเกษตรของชุมชน และอดชิมอาหารหลากหลายจาก ‘วิถีโหนด นา เล’ ตั้งใจว่าคราวหน้าต้องหาโอกาสไปให้ได้

คุณณภัสเล่าความเป็นมาของสวนนี้ว่า ซื้อที่ดินจำนวน 15 ไร่มา เมื่อ 5 ปีก่อน ชื่อ ‘เทพหยา’ เป็นชื่อของหมู่บ้าน จึงใช้ชื่อนี้ตั้งเป็นชื่อสวนและตลาด เพื่อให้เกียรติกับหมู่บ้าน เริ่มเปิดสวนให้ผู้คนเข้ามาเยี่ยมชมประมาณ 3 ปีแล้ว จุดเด่นของที่นี่ คือเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเต็มรูปแบบ ศูนย์เรียนรู้เกษตรตามศาสตร์พระราชา ด้านหลังเป็นโคก หนอง นา ตั้งใจอยากให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาศึกษางานการเกษตรในรูปแบบโคก หนอง นา โมเดล ได้ทุกวัน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

สาเหตุที่ทำสวนแห่งนี้เป็นศูนย์การเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 นั้น เป็นดำริของพล.อ.เปรมที่ท่านสอนว่า เกิดมาต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน ท่านเองเป็นห่วงเป็นใยชาวบ้านมาก มักจะสอบถามเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านตลอด

หลายจุดในสวนได้นำคำสอนของพล.อ. เปรมมาเผยแพร่ ทำเป็นป้ายใหญ่ๆ เพื่อให้ผู้คนได้ระลึกถึงคุณงามความดีของท่าน

สำหรับผู้คนที่มาเยี่ยมเยือนสวนแห่งนี้ นอกจากจะได้เรียนรู้วิถีของชุมชน ซึ่งทำน้ำตาลโตนดมาหลายชั่วคนแล้ว ยังมีฐานการเรียนรู้ต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงปลา การปลูกข้าว การปลูกพืชสมุนไพร การทำน้ำหมัก รวมถึงการออมเงินด้วย ซึ่งที่นี่ทำ เรื่องงการออมเงิน ในรูปแบบสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ตอนนี้มีสมาชิก 300 กว่าคน ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่แถวๆ นี้

อย่างที่เกริ่นไปแล้วว่า ข้าวยำของสวน เทพหยาอร่อยมาก โดยทำในรูปแบบซูชิ จึงเป็นที่ถูกปากของเหล่าเด็กๆ รวมทั้งคนทุกเพศทุกวัยด้วย

คุณณภัสขยายความให้ฟังว่า ได้รวมตัวกัน 13 คน จัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านสวนเทพหยา เพื่อทำซูชิข้าวยำขาย โดยในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะเน้นขายออนไลน์ พร้อมส่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังรับสั่งทำเป็นของขวัญของฝาก ของที่ระลึกด้วย หรือหน่วยงานไหนสั่งไปเลี้ยงรับรองก็ได้ ชุดหนึ่ง 50 บาท มี 20 ชิ้น ที่ผ่านมาถือว่าขายดีเพราะเวลามีงานเจ้าภาพจะสั่งมาเรื่อยๆ

“สาเหตุที่ทำซูชิข้าวยำเพราะอยากให้เด็กๆได้ทานผักด้วย เนื่องจากเด็กๆ มักไม่ชอบทานผัก พอมาทำเป็นซูชิก็แอบใส่ผักไป เขาจะเคี้ยวโดยที่ไม่รู้ว่าข้างในมีผัก ซูชิข้าวยำของกลุ่มมีรสชาติกลมกล่อม สะดวกในการทานไม่ต้องไปหาผัก ไม่ต้องไปคลุก ไม่ต้องเสียเวลาไปทำ โน่นนี่นั่น ชุดที่ขายทางออนไลน์ ประกอบด้วยน้ำบูดู มะพร้าวคั่ว ข้าวพองคั่วกรอบ ปลาคั่ว และพริกป่น ทานได้ 10 จาน น้ำที่คลุกก็พอดี ไม่เค็ม ไม่หวานเกินไป”

ด้วยความที่วัตถุดิบมีอยู่ในท้องถิ่น เลยทำให้ขายในราคาไม่แพง ส่วนใหญ่คนไปเที่ยวที่สวนจะซื้อกลับไปฝากญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง พร้อมกันนี้กลุ่มยังเปิดรับตัวแทนจำหน่ายที่จะไปทำตลาดในจังหวัดต่างๆ ตอนนี้มีเกือบ 50 ราย โดยจะเปิดรับตัวแทนจำหน่ายจังหวัดละคน เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน

แม้สวนเทพหยาจะเปิดได้ไม่นาน แต่มีรางวัลการันตีมากมายทั้งในระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศ อาทิ รางวัลเกษตรกรดีเด่นจ.สงขลา ด้านเกษตรผสมผสาน ปี 2564 ของสำนักงานเกษตรจ.สงขลา และรางวัลโครงการชีววิถี เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน อันดับ 2 ของประเทศ ปี 2564 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ

ใครไปใครมาที่จ.สงขลามักไปเยี่ยมเยียนสวนนี้ ครูบาอาจารย์ใน จ.สงขลาและพื้นที่ใกล้เคียงก็จะพานักเรียนไปทัศนศึกษานอกพื้นที่ ซึ่งเด็กๆล้วนสนุกสนานเพราะมีหลายกิจกรรมให้ทำหลากหลาย ถือเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่น่าจดจำ รวมทั้งยังเป็นสถานที่จัดประชุมสัมมนาด้วยในบรรยากาศร่มไม้เขียวชอุ่ม

วันหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ สนใจไปเยี่ยมชมสวนเทพหยา ติดต่อสอบถามคุณณภัสได้ที่ 08-9466-5183

ส่วนผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายรูป ขอบอกต้องเผื่อเวลาไปเยอะหน่อยเพราะมีหลายจุดให้ถ่าย โดยเฉพาะมุมนาข้าวที่มีฉากหลังเป็นต้นตาล เรียกว่าเป็นไฮไลต์ของสวนเลยทีเดียว

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน